วันที่ 22 มีนาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงถึงการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน ที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักดีถึงความลำบากของประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย และผู้ใช้แรงงาน
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย อาจจะไม่จบลงโดยเร็ว นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างน้อย 10 มาตรการ ดังต่อไปนี้
- การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน
- ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน
- ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
- คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
- ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
- ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่าเอฟทีลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
- ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
- กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้ม ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
- ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่าย และผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
- ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเข้าประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งดำเนินการออกมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งนี้ ต้องให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและอนุมัติเป็นการเร่งด่วน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า รัฐบาล ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงาน กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อวางแผนช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้ได้มากที่สุดเพื่อให้พ้นวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งเรื่องโอกาสการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ การเปิดประเทศและการท่องเที่ยวในระยะต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ รวมไปถึงการช่วยลดภาระ แบ่งเบาค่าครองชีพด้วยมาตรการต่าง ๆ และแก้ปัญหาหนี้สินให้พี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี