สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (WIS) ของอิสราเอล เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (22 มี.ค.) ว่าคณะนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องแรกของประเทศ
หน่วยของคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีชื่อว่า ควอนตัมบิต (Quantum Bits) หรือคิวบิต (Qubits) แตกต่างจากหน่วยคอมพิวเตอร์ดั้งเดิม คือสามารถแสดงค่าได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่งหรือสถานะในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถคำนวณหลายรายการพร้อม ๆ กันได้ และนำไปสู่พลังการประมวลผลที่มหาศาล
ทั้งนี้ คอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า การดักจับไอออน (Ion Traps) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาด 5 คิวบิต
ทีมนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลจัดการความท้าทายของคอมพิวเตอร์ที่มีความไวต่อสัญญาณรบกวนจากสิ่งแวดล้อมสูง โดยใช้นวัตกรรม 2 ชนิด ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จในการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ควอนตัมข้างต้น
สถาบันฯ คาดว่าคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่กว่า ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างในห้องปฏิบัติการจะมีขนาด 64 คิวบิต และแสดงจุดเด่นของควอนตัม โดยปัจจุบันมีเพียงมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) และกูเกิล (Google) ของสหรัฐฯ เท่านั้น ที่สร้างคอมพิวเตอร์รุ่นนี้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 องค์การนวัตกรรมอิสราเอล (IIA) ประกาศโครงการคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ
ทั้งนี้ การก่อสร้างคอมพิวเตอร์ระดับชาติ มูลค่า 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,100 ล้านบาท) ได้รับทุนจากองค์การฯ และกรมการวิจัยและพัฒนาการป้องกันประเทศ (MAFAT) สังกัดกระทรวงกลาโหมอิสราเอล
ที่มา : ซินหัว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส