วันนี้ (28 มี.ค. 65) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้งภาครัฐและซีพีเอฟ ร่วมปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ปฐมฤกษ์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ออกจากโรงงานแปรรูปไก่เนื้อ มีนบุรี 2 ไปยังซาอุดีอาระเบีย นับเป็นไก่ล็อตแรกของไทยในรอบ 18 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ตามมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อไก่ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์ไก่จากประเทศไทย

ล่าสุด รัฐบาลซาอุฯ ได้ประกาศรับรองอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยจากโรงงาน 11 แห่ง ในจำนวนนี้ มีโรงงานของซีพีเอฟ 5 แห่ง สามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน ประกอบด้วย โรงงานชำแหละไก่มีนบุรี โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 1 โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 2 โรงงานชำแหละไก่สระบุรี และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการส่งออกไก่ไทยไปซาอุฯ เป็นผลสำเร็จที่สำคัญจากการเยือนซาอุฯ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการผนึกพลังของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศในการฟื้นความสัมพันธ์การค้าของสองประเทศ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวขอบคุณคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการประสานงานในด้านมาตรฐานการผลิตไก่ไทยเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล และขอแสดงความยินดีกับ ซีพีเอฟ ที่เป็นบริษัทแรกที่ได้ส่งออกสินค้าไก่ตู้ปฐมฤกษ์
ปี 2565 นี้ ไทยตั้งเป้าส่งออกไก่ไปซาอุฯ 10,000 ตัน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าและตัวเลขการส่งออกไก่เนื้อของไทยไปต่างประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าส่งออกไก่เนื้อไปทั่วโลกรวม 980,000 แสนตัน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน ซึ่งซาอุฯ เป็นตลาดที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การปล่อยขบวนตู้คอนเทนเนอร์เนื้อไก่ในวันนี้ จำนวน 5 ตู้ ปริมาณ 100 ตัน เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ล็อตแรกจาก 5 โรงงานของบริษัทฯ และภายในเดือนมีนาคมนี้ บริษัทฯ จะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ของซาอุฯ ปริมาณรวม 600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47 ล้านบาท
ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ยังกล่าวขอบคุณรัฐบาลและทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความร่วมมือและช่วยกันประสานงาน จนสามารถฟื้นการส่งออกไก่ไทยไปยังตลาดซาอุฯ ได้สำเร็จ นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกไก่ของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
“บริษัทฯ คาดว่าในปีนี้ ซีพีเอฟจะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ได้ 300 ตู้ ปริมาณรวม 6,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าจากการส่งออกรวม 473 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายการส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปไปซาอุฯ ได้ 3,000 ตู้ ปริมาณรวม 60,000 ตัน ช่วยทำรายได้เข้าประเทศ 4,200 ล้านบาท” นายประสิทธิ์ กล่าว

ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปของซีพีเอฟ ผ่านกระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด อาทิ GMP, HACCP, ISO 9001, IFS (International Food Standard), BRC (British Retail Consortium, ISO 14001 (Environment Management System) รวมถึง Thai Labor Standard TLS 8001 (มาตรฐานแรงงานไทย-มรท. 8001), ISO 45001 (Occupational Health and Safety Management Systems)

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม หรือ Halal และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตั้งแต่การเชือดไก่ โดยพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือการแปรรูปเนื้อไก่โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูงมาก ทั้งมาตรฐานฟาร์มและการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์
ทั้งนี้ ซาอุฯ เป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) และจะเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง การกลับเข้าสู่ตลาดซาอุฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่ไปยังซาอุฯ ได้ประมาณ 10-15% ของตลาดรวมเนื้อไก่