นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 มีนาคม 2565 ว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน กรอบวงเงินเบื้องต้น 45,102.65 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าครองชีพใก้แก่ประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย
1. ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาทต่อถัง เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2565 คือ 333 บาท, 348 บาท และ 363 บาท ตามลำดับ กรอบวงเงินเบื้องต้น 6,380 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้บริการจัดการ
2. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1,590 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
3. ลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงสิงหาคม 2565 ให้แก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน กรอบวงเงินเบื้องต้น 2,000-3,500 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
4. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง ตั้งแต่พฤษภาคมถึงมิถุนายน 2565 โดยอัตราชดเชยประมาณ 8 บาทต่อลิตร กรอบวงเงินเบื้องต้น 33,140 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกรมสรรพสามิตเป็นผู้บริหารจัดการ
5. ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน จะได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน (5 บาทต่อลิตร รวม 50 ลิตร) เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 120 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
6. แท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” จำนวน 17,460 คน สามารถซื้อก๊าซ NGV ได้ในราคาพิเศษ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 171 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
7. เพิ่มส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเดิม 45 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 200 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
8. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.65 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้าง จำนวน 490,000 แสนราย และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จาก 5% เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565
10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จาก 9% เหลือ 1.9% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565 และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน จาก 70-300 บาท ลดลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ อาทิ
1. การดูแลกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการจัดทำแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร โดยการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงและปุ๋ยขาดตลาด รวมถึงปัญหาอาหารสัตว์
2. ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพรีเมียม ตั้งแต่เมษายน 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถยนต์ของผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดภาระการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันฯ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันฯ
4. การดูแลกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาลดอัตราหรืองดจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการต่ออายุทะเบียนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในปี 2565
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไป ที่ประชุมครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณา ติดตาม และปรับปรุงมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เหมาะสม ตามสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อม และความสามารถทางการเงินของภาครัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี