สำนักข่าว Nikkei รายงานถึงราคากล้องดิจิทัลที่ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 2 เท่า ในรอบ 3 ปี จากการมาของเทคโนโลยี AI และฟีเจอร์เฉพาะทางอื่น ๆ ทำให้ดึงดูดนักถ่ายหน้าใหม่ที่ต้องการคุณภาพมากกว่าที่สมาร์ตโฟนให้ได้
จากข้อมูลของ Camera and Imaging Products Association (CIPA) เผยราคากล้องดิจิทัลทั่วโลกในปี 2022 เฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 เยน (21,000 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากเมื่อ 3 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าสมาร์ตโฟนมีจุดเด่นเรื่องความง่ายในการใช้งานเพียงแตะจอก็ถ่ายได้ และจุดนี้เองที่ทำให้กล้องระดับล่าง ๆ ไม่อาจสู้ได้
แต่ 2 ปีที่ผ่านมาตลาดกล้องดิจิทัลกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง สร้างกระแสให้เหล่าแบรนด์กล้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Canon, Nikon, Sony และแบรนด์อื่น ๆ ต่างผลักดันเน้นกล้องรุ่น high-end กันมากขึ้น
ในงาน CP+ Camera & Photo Imaging Show 2023 โยโกฮามาประเทศญี่ปุ่นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี แต่ละแบรนด์ก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถมาลองกับเทคโนโลยีล่าสุดกันได้อย่างเต็มที่ครับ
1 ในไฮไลต์ของบูธ Canon คือเจ้ากล้อง EOS R8 ฟูลเฟรมมิเรอร์เลสรุ่นใหม่ล่าสุดที่มาในน้ำหนักเบาพร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีออโตโฟกัสพลัง AI ที่สามารถ tracking โฟกัสได้ตั้งแต่คน สัตว์ ไปจนถึงพาหนะ และยังสามารถยิงรัวถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 40fps ซึ่งอยู่ในระดับเร็วที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Canon ตอนนี้แล้ว
แต่ราคารุ่นนี้ก็ไม่ถือว่าถูกนะครับ โดยมีราคาเฉพาะบอดีอยู่ที่ 1,499 เหรียญ (53,000 บาท) ถึงแบบนั้นก็ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ไว้
โก โทคุระ (Go Tokura) รองหัวหน้าแผนก Canon Imaging Group กล่าวว่า “มีความต้องการกล้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่สำหรับงานเฉพาะทางเท่านั้น แต่ยังสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการใช้บันทึกชีวิตประจำวันด้วย”
Sony อีก 1 แบรนด์คู่แข่งได้เปิด Creators’ Cloud ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บ, แบ่งปันภาพถ่าย และวิดีโอสำหรับผู้ใช้ โดยจะเปิดตัวฟังก์ชันใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถแชร์ผลงาน และเชื่อมต่อถึงกันได้
ด้าน FUJIFILM กำลังมุ่งเน้นไปที่ด้านวิดีโอมากขึ้น บูธที่งาน CP+ มีกล้องมิเรอร์เลส X-H2S ที่หลังจากได้รับอัปเดตเฟิร์มแวร์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว ทำให้เจ้ากล้องรุ่นนี้สามารถตรวจจับโฟกัสได้แม้กระทั่งแมลง และโดรน ด้วยเทคโนโลยีโฟกัสอัตโนมัติแบบ AI Deep Learning โดยปรับปรุงให้สามารถ Tracking โฟกัสวัตถุที่มีความเร็วสูงได้ดีมากยิ่งขึ้น
กล้องรุ่นใหม่เหล่านี้เปิดตัวในขณะที่ตลาดกล้องดิจิทัลกำลังฟื้นตัว ตามข้อมูลของ CIPA มูลค่าการขนส่งกล้องดิจิทัลทั่วโลกในปี 2008 มีมูลค่ารวมกันถึงประมาณ 2.16 ล้านล้านเยน (557,000 ล้านบาท) และเป็นจำนวนถึง 120 ล้านหน่วย แต่ในปี 2020 ตัวเลขกลับลดลงถึง 93% และ 81% ตามลำดับ
แต่พอมาในปี 2022 ตัวเลขมูลค่าการขนส่งกลับดีดขึ้นถึง 40% ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ของการเติบโตครั้งใหญ่ในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ราคาเฉลี่ยของกล้องดิจิทัลพุ่งสูงขึ้นถึง 6 เท่า ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมุ่นเน้นไปที่รุ่นระดับ high-end กันมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นประโยชน์สำหรับแบรนด์กล้อง เพราะเมื่อดูถึงกำไรจากการดำเนินงานโดนรวมในกลุ่มผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพของ Canon, Nikon และ FUJIFILM กลับสูงที่สุดในรอบ 7 ปี ที่ประมาณ 220,000 ล้านเยน (56,700 ล้านบาท ) ในเดือนเมษายน – ธันวามคมปีที่ผ่านมา
ฮิโรยูกิ อิเคกามิ (Hiroyuki Ikegami) ผู้จัดการทั่วไปของ Nikon Imaging Business Unit กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่เริ่มสนใจการถ่ายภาพมากขึ้นจากได้เห็นรูปภาพจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่แฟนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับกล้อง SLR ก็มีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อยู่ในกล้องมิเรอร์เลสยุคปัจจุบัน”
“กล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น” ชิเงกิ อิชิซุกะ (Shigeki Ishizuka) ประธาน CIPA และรองประธานกลุ่ม Sony กล่าว “การมาของของสมาร์ตโฟนทำให้การถ่ายภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้มีผู้ที่สนใจกล้องดิจิทัลเปลี่ยนเลนส์ได้เพิ่มมากขึ้น”
แบรนด์กล้องญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ในส่วนแบ่งกล้องดิจิทัล แต่ถึงแม้จะมีการฟื้นตัวเร็ว ๆ นี้ แต่มูลค่าการจัดส่งทั่วโลกในปีที่แล้วก็ยังนับเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของปีที่ทำได้สูงสุดเท่านั้นครับ ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่ฝั่งสมาร์ตโฟนเองก็กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การต่อสู้กับสินค้าในกลุ่มนี้ก็ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับแบรนด์ผู้ผลิตกล้องต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส