บนอวกาศนอกจากอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องถูกปรับแต่งพิเศษเพื่อนำไปใช้งานบนนั้นแล้ว กล้องถ่ายภาพเองก็เช่นกันครับ โดยทาง Nikon เองได้ปรับแต่งกล้องไปถึงระดับเฟิร์มแวร์เลย
จากการสัมภาษณ์ระหว่าง PetaPixel และนักบินอวกาศ ดอน เพตติต (Don Pettit) เผยว่า Nikon เอง ได้ทำเฟิร์มแวร์พิเศษให้แก่ NASA เพื่อแก้ปัญหาจาก ‘รังสีคอสมิกที่มาจากนอกระบบสุริยะ‘ (Galactic cosmic rays) โดยเฉพาะ
ซึ่งเจ้ารังสีคอสมิกที่มาจากนอกระบบสุริยะก็ตามชื่อเลยครับ เป็นอนุภาคพลังงานสูงที่ก่อเกิดจากนอกระบบสุริยะที่อาจมาจากเหตุการณ์ระเบิดอย่างซูเปอร์โนวา และก็เป็นรังสีตัวนี้เองทำให้เซนเซอร์รับภาพและภาพที่ถ่ายด้วยกล้องที่ใช้บนอวกาศได้รับความเสียหายได้
เพตติตกล่าวว่า ทาง Nikon ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานของ ‘Noise Reduction’ ในกล้องเสียใหม่ผ่านการปรับแต่งเฟิร์มแวร์ครับ สัญญาณรบกวนจากรังสีคอสมิกเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ Texture ของภาพเสียหาย และทำให้ภาพเบลอได้ด้วย
ตามปกติแล้วกล้องทั่ว ๆ ไปจะใช้ฟังก์ชัน Noise Reduction ก็ต่อเมื่อถ่ายที่สปีดชัตเตอร์ต่ำ ๆ เช่นหลักวินาทีขึ้นไป อย่างการถ่าย Long exposure ครับ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทางผู้ผลิตกล้องเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลด Noise หรือสัญญาณรบกวนในชัตเตอร์สปีดสูงกว่านี้ เพราะมันไม่มีสัญญาณรบกวนให้ลดนั้นเอง อย่างน้อยก็บนโลก แต่การถ่ายภาพบนอวกาศนั้นต่างออกไป…
“รังสีคอสมิกจากนอกระบบสุริยะทำให้พวกเราต้องเปลี่ยนกล้องใหม่ยกชุดทุก ๆ 6 เดือน จากการที่เซนเซอร์เสียหาย” เพตติตกล่าวเสริม
สัญญาณรบกวนจากรังสีคอสมิกมันไม่เพียงแค่เกิดขึ้นเมื่อใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ ๆ เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในสปีดสูง สิ่งที่ Nikon ทำ คือปรับอัลกอริทึมให้ Noise Reduction ทำงานแม้ในสปีด 1/500 วินาที ความน่ามหัศจรรย์คือมันสามารถขจัดปัญหาจากรังสีคอสมิกเหล่านี้ไปได้ครับ!
ไม่เพียงแค่เฟิร์มแวร์พิเศษที่ Nikon ทำให้ NASA ตัวนี้เพียงเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีอย่างอื่นอีก ถ้าใครจับกล้องตลอดก็จะเข้าใจดีว่าการรัน ‘File Naming System’ หรือการรันลำดับเลขไฟล์มันจะไปตันที่ 9999 แล้วตัดขึ้น 0001 ใหม่ เสมอ
แต่การถ่ายภาพในอวกาศเราอาจจะต้องถ่ายภาพเป็นล้าน ๆ ใบ เลยก็ได้ ดังนั้น Nikon จึงเปลี่ยนลำดับชื่อไฟล์ RAW ให้ไม่สามารถรันเลขไฟล์ซ้ำกันได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงาน และหาชื่อไฟล์นั้นเอง
บนอวกาศกำลังจะเปลี่ยนกล้องเข้าสู่ยุคมิเรอร์เลส!
อย่างที่รู้กันกล้อง Nikon ถูกไว้วางใจให้ขึ้นไปทำงานบนอวกาศมานานแล้วครับ อย่างในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ก็มีกล้อง ‘Nikon D5s’ อยู่อย่างน้อย 12 – 15 ตัวเลยทีเดียว พร้อมเลนส์ FX ไม่ว่าจะเป็น 8mm Fisheye, 14mm ไปจนถึง 1,200mm
และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนมาใช้กล้องมิเรอร์เลสแทนกันแล้ว กับ ‘Nikon Z9‘ เรือธงตัวใหม่ของตระกูล Z พร้อมเลนส์ Z ชุดใหม่ด้วยเช่นกันครับ
สำหรับเพตติต เป็นนักบินอวกาศวัย 68 ปี ที่ผ่านการขึ้นอวกาศมาแล้วถึง 3 ครั้ง และในปัจจุบันยังเป็นนักถ่ายภาพดาราศาสตร์และเป็นที่รู้จักจากภาพสุดโด่งดังขณะอยู่บน ISS อีกด้วย
ที่มา – PetaPixel
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส