เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางทีมงาน BT beartai เราได้มีโอกาสรับเชิญไปร่วมทดลองกล้อง ‘Canon EOS R1’ ที่เรียกว่าเป็นกล้องฟูลเฟรมมิเรอร์เลสรุ่นเรือธงตัวท็อปสุดของค่ายแคนนอน แต่ที่พิเศษมาก ๆ คือยังได้ทดสอบใช้งานจริงถึงข้างสนามฟุตบอล ในแมตช์ระหว่าง นครปฐม ยูไนเต็ด พบ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ณ สนามโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม เรียกว่าได้รับประสบการณ์ใช้งานจริงมาแบบเต็ม ๆ เลยทีเดียว !

เกริ่นสั้น ๆ สำหรับ EOS R1 เป็นเรือธงที่แท้ทรูของกล้องมิเรอร์เลส EOS R System ในบอดี้บึกบึนมี vertical grip built-in มาให้เสร็จสรรพ รองรับงานระดับมืออาชีพด้วยเซนเซอร์และชิปประมวลผลใหม่ที่เร็วแรงกว่าเดิม อัปเกรดระบบโฟกัสไปอีกขั้น มีทั้งกันสั่น 5 แกน 8.5 สต็อป ระบบ Eye Control AF เลื่อนจุดโฟกัสด้วยตา และความสามารถถ่ายรัวระดับ 40fps ทำให้ไม่พลาดทุกการเคลื่อนไหว เหมาะอย่างยิ่งกับในงานระดับมืออาชีพ

Canon

สเปกพื้นฐานของ Canon EOS R1

  • เซนเซอร์ Full frame BSI Stacked CMOS 24.2 ล้านพิกเซล
  • ส่งข้อมูลไวกว่า EOS R3 ถึง 40%
  • กันสั่น 5 แกน สูงสุด 8.5 สต็อป
  • จุดโฟกัสครอบคลุม 100% พร้อมพิกเซลแบบ Cross-Type
  • ถ่ายรัวสูงสุด 40fps แบบ Blackout-free พร้อม AF/AE (RAW+JPEG)
  • Pre-capture ก่อนครึ่งวินาทีสำหรับภาพนิ่ง และ 3-5 วินาที สำหรับวิดีโอ
  • Eye Control AF ตีบวกการตรวจจับดวงตา
  • ระบบโฟกัส Ai ที่รองรับกีฬาหลากหลายประเภท Basketball, Soccer และ Volleyball
  • มีระบบประมวลผล neural network noise reduction ในตัวกล้อง ISO สูงสุด 102,400
  • ฟีเจอร์ AI Upscaling 96 ล้านพิกเซล
  • ฟีเจอร์จดจำหน้าสูงสุด 10 คน
  • 6K/60p RAW internal
  • DCI 4K 120p
  • C-Log 2
  • OLED EVF 9.44 ล้านจุด 0.9x
  • LCD ระบบสัมผัสพับได้รอบทิศ 2.1 ล้านจุด
  • Wi-Fi 6 GHz, Full size HDMI, ไมค์, หูฟัง, Sync Flash, Ethernet
  • บอดี้ Magnesium Alloy แข็งแรงทนทาน
  • ซีลกันละอองน้ำ ละอองฝุ่น
  • น้ำหนักรวมแบตฯ, เมมโมรี 1,115 กรัม

ในการใช้งานลงสนามจริงครั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าทางทีมงานเราไม่เคยถ่ายฟุตบอลจริงจังมาก่อนครับ ซึ่งเหล่าวิทยากรก็ได้มาช่วยไกด์ทั้งการตั้งค่ากล้องต่าง ๆ รวมไปถึงกฎในการถ่ายภาพข้างสนาม ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังละเอียด ๆ กันเริ่มจากการตั้งค่ากล้องกันก่อนเผื่อใครอยากได้แนวทางในการถ่ายกีฬาประเภทนี้

การตั้งค่ากล้องก่อนลงสนาม

สำหรับ EOS R1 จะมีระบบ ‘Action Priority’ ที่ตัวกล้องสามารถวิเคราะห์ และโฟกัสวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ เช่นในงานกีฬา สมมติว่ามีนักเตะ 2 คนในเฟรม นักเตะ A กำลังหยุดนิ่ง กับนักเตะ B กำลังออกท่าทางเคลื่อนไหว ตัวกล้องก็จะเน้นความสำคัญโฟกัสไปที่นักเตะ B ก่อนเสมอ ซึ่งถ้ามีลูกบอลเข้าเฟรมมา แล้วนักเตะ A ได้ไป ตัวกล้องเองก็จะให้ความสำคัญกับ subject ที่กำลังเลี้ยงลูกเป็นหลักนั้นเอง ทำให้การโฟกัสติดตามวัตถุระหว่างเกมทำให้ง่ายมากยิ่งขึ้นกว่ากล้องในยุคก่อนหลายขุมเลยทีเดียว

Canon

การที่โฟกัสฉลาดขนาดนี้เรื่องการถ่ายรัวก็ไม่ธรรมดาเช่นกันครับ โดยทางวิทยากรแนะนำว่าในโหมดปกติจะถ่ายรัวพื้นฐานไว้แค่ 5fps แต่เมื่อไรที่ต้องการความเร็วสูงการกดย้ำปุ่ม AF-ON ลงไปก็จะได้สลับมาเป็นบูสต์โหมดที่ 30fps กันเลย ผนวกกับฟีเจอร์ pre-capture ที่ช่วยบันทึกภาพให้ล่วงหน้าครึ่งวินาทีที่ลั่นชัตเตอร์ ก็จะยิ่งทำให้เราไม่พลาดช็อตสำคัญ ๆ แน่นอน

Canon

แต่ในบ้างครั้งที่เราอยากเปลี่ยนจุดโฟกัสด้วยตัวเอง การเลื่อนจุดก็ไม่อาจสู้การใช้ Eye Control เลื่อนจุดโฟกัสด้วยตา ในช่องมองของ EOS R1 ได้ครับ แต่กว่าจะใช้จนชำนาญอันนี้ก็ต้องฝึกอยู่เหมือนกัน

Canon
ช่องเสียบการ์ด CFexpress type B แบบคู่ เพื่อความเร็วแบบไม่มีสะดุด

ส่วนเลนส์ที่ได้มาจะเป็น RF 100-300mm F2.8L IS USM ตั้งค่ากล้อง 1/1250s F2.8 ISO 6400 เป็น JPEG ล้วน (งานแบบนี้เน้นส่งงานไวเป็นหลัก ไม่เน้นแต่งภาพ) ซึ่งการถ่ายภาพกีฬาจะต้องใช้สปีดพอสมควรครับ 1/1250s จึงเป็นค่าที่พื้นฐาน ส่วนใครอยากลองถ่ายฟุตบอลบ้างแล้วรูรับแสงแคบกว่านี้ก็สามารถดัน ISO ขึ้นได้อีกตามสภาพแสงหน้างาน

Canon

กฎการถ่ายรูปข้างสนาม

ส่วนกฎในการถ่ายภาพฟุตบอลข้างสนามจะมีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ 4 ข้อ ได้แก่

  • งดใช้แฟลชขณะทำการแข่งขัน
  • หลีกเลี่ยงการเดินไปมาขณะแข่งขัน
  • หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับนักกีฬาขณะแข่งขันหรืออบอุ่นร่างกาย
  • ไม่อนุญาตให้นำขวดน้ำเข้าไปในสนามแข่งขัน

ประสบการณ์ที่ได้จากการลงสนามด้วย Canon EOS R1

การหยิบเจ้า EOS R1 ลงไปถ่ายกีฬาจริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ว้าวพอสมควรครับ เพราะจากเดิมที่ผ่านมือมาตั้งแต่ EOS R6/R5 มาเป็น EOS R6 Mark II ก็ว่าโฟกัสเทพอยู่แล้ว แต่สำหรับ EOS R1 ก็ยังทำให้ทึ่งได้อยู่ดี ด้วยระบบโฟกัส Action Priority ที่เหมือนมีผู้ช่วยคอยคิดเรื่องการโฟกัสให้ เราอยากโฟกัสไปที่จุดไหนระบบก็ตอบสนองความคิดเราได้ทันทีทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องสั่งมันด้วยซ้ำ เพียงแค่กดชัตเตอร์ลงครึ่งเดียวเท่านั้น (เสริมว่าเจ้านี่ยังเป็นระบบโฟกัสแบบ Cross-type ด้วยน้า ไม่ฉลาดอย่างเดียวแต่คือโคตรแม่น)

Canon

อย่างจังหวะขณะมีการแย่งบอล เมื่อมีผู้เล่นแย่งบอลได้ไประบบโฟกัสก็สลับคนมาให้ทันทีเป็นอะไรที่สะดวกสุด ๆ เราเหมือนมีหน้าที่เลี้ยงเฟรมไปเรื่อย ๆ ที่เหลือให้กล้องจัดการให้ก็พอ

Canon

ซึ่งการที่กล้องมันรัวได้เร็วมาก ๆ จังหวะที่อยากได้ 30fps ก็เพียงแค่กดปุ่ม AF-ON ลงไปเท่านั้น ก็จะได้ภาพต่อเนื่องมาเป็นชุด แถมบัฟเฟอร์ก็ใหญ่มหาศาล กดรัวได้เป็นหลัก 10 วินาที แค่นี้ยังไม่พอแม้จะลองกดจนเต็มแล้ว แต่ buffer ก็สามารถเคลียร์ได้เร็วมาก สมแล้วที่ใช้เป็นการ์ด CFexpress Type B แบบคู่ ที่มีความเร็วสูงกว่า SD Card แบบคนละโลก ทำให้การใช้งานไม่มีติดขัดใด ๆ เลยครับ ลื่นไหลยันจบเกม (ทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมไม่ใช้ SD Card แบบปกติในตัวนี้แล้ว) แถมช่องมองภาพก็ใหญ่โตสว่าง สบายตา ใส่แว่นก็ใช้งานได้แบบไม่มีติดขัดอะไร

Canon
Canon

หรือจังหวะไหนที่ยังไม่ลั่นชัตเตอร์แค่รอจังหวะ การกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัสเลี้ยงไว้ ยังเป็นการเปิดฟีเจอร์ Pre-Capture ให้ด้วย ทำให้แม้เรากดชัตเตอร์พลาดไปเสี้ยววิ แต่ตัวกล้องก็มีการบันทึกภาพให้ก่อนล่วงหน้าแล้วเป็นเวลาครึ่งวินาที

Canon
ถ่ายจบแมตช์แบตฯ ลดไปขีดเดียว…

สิริรวมถ่ายฟุตบอล 1 แมตช์ กดไป 11,000 กว่ารูป แบตฯ เพิ่งจะลดไปเพียงขีดเดียวเท่านั้น เรียกว่าอึดแบบสุด ๆ ใช้ทำงานกันได้แบบยาว ๆ ไม่ต้องกลัวแบตฯ หมดกันเลยครับ ด้วยความที่บอดี้เป็นแบบ built-in vertical grip นอกจากจะจับถนัดมือ รองรับเลนส์ใหญ่ ๆ ได้แล้ว แบตฯ ยังก้อนใหญ่ไซซ์เดียวกันตั้งแต่ยุค 1DX Mark II และ EOS R3 แต่พิเศษคือรองรับแบตฯ รุ่นใหม่ LP-E4N ที่เคลมว่าถ่ายได้มากขึ้นจาก R3 ถึง 60%

ฟีเจอร์อัปสเกล 96 ล้านพิกเซล ด้วย AI

ในช็อตที่นักเตะอยู่หน้าประตูอีกฝั่ง เลนส์ช่วง 300mm บางทีก็รู้สึกจะไกลไม่พอ ฟีเจอร์อัปสเกลจะมีประโยนช์ตรงนี้นี่ล่ะครับ กดจากในตัวกล้องได้เลยจากหน้า playback จะครอป หมุนภาพ อะไรก็ได้หมด แถมความละเอียดแบบอัปสเกลสูงสุดยังได้ถึง 96 ล้านพิกเซล เลยทีเดียว

อย่างภาพนี้ ครอปเหลือเฟรมนิดเดียวแล้วใช้ AI อัปสเกล ก็ยังได้ความละเอียดเกือบเต็ม 24 ล้านพิกเซลกันเลยนะ แถมภาพที่ได้ก็ใช้งานได้สบาย ๆ เลย มีประโยชน์​สุด ๆ

Canon

ฟีเจอร์คัดภาพเบลอ ถ่ายมาเยอะ ๆ คัดเองคงลำบาก EOS R1 ช่วยได้ !

อันนี้น่าจะเป็น Pain point ของสายถ่ายรัว บางทีถ่ายมาเยอะจะคัดว่าภาพไหนชัดไม่ชัดก็คงยาก ยิ่งการรัวระดับ 30fps ด้วยแล้ว แต่ EOS R1 เขามีฟีเจอร์ ‘Blue/Out-of-focus detection’ ที่ภาพไหนเบลอขณะกดดู playback ก็จะมีสัญลักษณ์แจ้งเตือนทันทีบนจอ

ถ้าภาพชัดจะมีลูกศรขึ้นมุมซ้ายแบบนี้

Canon

อันนี้เบลอก็แจ้งเตือนเครื่องหมายตกใจให้เห็น

Canon

พอเราคัดง่าย ๆ แบบนี้แล้วเราก็สามารถกด Rate ติดดาวหลังกล้องรูปที่เราเลือกส่งต่องานได้ทันทีเลยครับ ไม่ต้องไปนั่งเพ่งกันต่อในคอมฯ ว่าชัดไม่ชัด ซึ่งตัวฟีเจอร์นี้ยังสามารถตั้งได้อีกว่าให้ sensitive ระดับไหน เผื่องานไหนซีเรียสมาก ๆ เบลอนิดหนึ่งก็ไม่ได้

สรุป

Canon EOS R1 เรียกว่าเป็นการมาของกล้องเรือธงที่สมการรอคอยของแฟน ๆ ค่ายหนอนทีเดียวครับ นอกจากความไวระดับปิศาจแล้ว ระบบการทำงานร่วมถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ ยังตอบโจทย์การใช้งานระดับมืออาชีพสุด ๆ ทั้ง Action Priority, อัปสเกล AI, Pre-Capture, ระบบโฟกัสก็ถูกพัฒนามาไกลมาก ทำให้ work-flow ทำงานง่ายขึ้นอีกเป็นกอง จนคิดไม่ออกเลยว่าถ้า EOS R1 Mark II ออกมาจะดีได้มากกว่านี้ยังไง สมกับราคาค่าตัวเฉพาะบอดี้ 235,900 บาท 

สุดท้ายต้องขอบคุณทาง Canon Thailand ที่เชิญไปร่วมทดสอบกล้องในครั้งนี้ด้วยครับ 🙏