‘การวัดแสง’ นั้นเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในการถ่ายภาพ และยังเป็นตัวที่จะบอกว่าภาพของเราจะมืดหรือสว่างมากน้อยแค่ไหนก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพอีกด้วย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกล้อง Mirrorless ออกมาทำให้เราสามารถเห็นภาพก่อนถ่ายได้เลยว่าภาพของเราจะออกมาเป็นแบบใด แต่สำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นถ่ายภาพการศึกษาเรื่องการวัดแสงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ครับ
การวัดแสงคืออะไร?
ในการถ่ายภาพเราจะต้องรู้ว่าแสงที่เข้าไปยังกล้องของเรามีมากน้อยแค่ไหนถึงสามารถปรับค่าต่าง ๆ อย่าง ชัตเตอร์สปีด , ค่ารูรับแสง หรือ iso ได้ครับ ดังนั้นจึงมีระบบวัดแสงขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายภาพนั้นเอง โดยตัวระบบวัดแสงจะเป็นตัวบอกว่าแสงของภาพเราสว่างหรือมืดเพียงใด

ระบบวัดแสงใช้งานอย่างไร?

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยใช้กล้องคงจะเคยเห็นแบบที่วงไว้ในรูปด้านบนกันมาก่อนแล้วใช่ไหมครับ ใช่ครับมันก็คือตัวระบบวัดแสงนั้นเอง ซึ่งถ้าอยู่ที่เลข 0 ก็คือความสว่างพอดี ถ้ามืดไปเลขจะไปทางลบหรือถ้าสว่างไปเลขก็ขึ้นไปทางบวกแบบในภาพ

โหมดวัดแสงมีตั้งหลายแบบ แล้วแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
โหมดวัดแสงที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันจะมีด้วยกันหลัก ๆ 3 แบบคือ
1. วัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ (Matrix Metering หรือ Multi Metering)
โหมดพื้นฐานที่กล้องจะตั้งค่าโหมดวัดแสงแบบนี้มาให้เราตั้งแต่แรกเนื่องจากง่ายต่อการใช้งาน และไม่มีความซับซ้อน โดยหลักการทำงานก็ตามชื่อเลยครับคือกล้องจะคำนวนปริมาณแสงทั้งหมดในภาพ ซึ่งก็เป็นโหมดที่กล้องจะคำนวณแสงซับซ้อนที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้คิดน้อยที่สุด เหมาะสำหรับมือใหม่หรือสภาวะที่แสงค่อนข้างจะเสมอกันทั้งภาพนั้นเอง

2. วัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-Weight Metering)
การทำงานนั้นจะคล้ายกับแบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพแต่ในโหมดนี้ระบบวัดแสงจะเน้นการทำงานแค่ในโซนกลางภาพเท่านั้น เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคล ที่จุดเด่นมักอยู่กลางๆ ภาพ

3. วัดแสงแบบเฉพาะจุด (Spot Metering)
ตัวระบบวัดแสงในโหมดนี้จะวัดแสงเฉพาะจุด จุดเดียวในภาพ เหมาะสำหรับสภาวะแสงที่มีความซับซ้อนอย่างเช่นถ่ายย้อนแสงแล้วหน้าคนมืด การใช้วัดแสงเฉพาะจุดส่องไปที่หน้าของแบบจะช่วยให้สามารถวัดแสงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นโหมดที่ช่างภาพที่เชี่ยวชาญนิยมใช้ (โดยเฉพาะในยุคฟิล์ม) เพราะสามารถคุมแสงของภาพได้อย่างใจ

แล้วจะวัดแสงอย่างไรให้ภาพออกมาสวยดีล่ะ?
จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับเราครับว่าอยากได้ภาพที่มีความสว่างประมาณไหน เรื่องนี้ไม่มีผิดไม่มีถูกขึ้นอยู่กับความต้องการของเรา บางภาพสว่างหน่อยอาจจะสวยกว่าหรือบางภาพมืดหน่อยก็อาจจะดูดีกว่าเช่นกันตามแต่ละ Concept ของงานนั้น ๆ

ยกตัวอย่างด้วยภาพนี้ Concept คือชุดแต่งงานผู้เขียนถ่ายมาโดยวัดแสงให้มีความสว่างอยู่ที่ +0.3 ถึง +0.7 EV เพื่อให้ภาพดูมีความบริสุทธิ์สะอาดตาแถมการถ่ายให้ติด Over หรือติดสว่างยังทำให้ผิวคนดูสวยขึ้นอีกด้วยนะ!
Tips : ในการถ่ายภาพบุคคลถ้าอยากให้ผิวคนดูสวยงามสดชื่นมีชีวิตชีวาลองถ่ายที่ประมาณ +0.3 EV ถึง +0.7 EV จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าถ่ายมาพอดีครับ

ส่วนภาพนี้ผู้เขียนอยากได้ภาพอารมณ์ Dark หน่อยเลยถ่ายมาให้ติด Under หรือติดมืดไปสัก -1 EV เพื่อที่จะได้ดึงถึงอารมณ์ความน่ากลัวของโครงกระดูกในภาพได้มากขึ้นนั้นเอง
แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่ด้วยเช่นกันนะครับ ในการถ่ายภาพที่มีความสว่างหรือมืดมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียรายละเอียดในจุด ๆ นั้นได้ ถ้าเป็นในส่วนสว่างเราจะเรียกว่าหลุดไฮไลต์หรือในส่วนมืดถ้าถ่ายมามืดมาก ๆ เวลาเรานำไฟล์ไปดึงรายละเอียดในส่วนเงามืด จะเกิด Noise ขึ้นได้นั้นเอง
สรุป
อย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นของบทความ กล้อง Mirrorless ในปัจจุบันสามารถเห็นภาพจริงตามที่เราตั้งค่ากล้องได้ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ ทำให้แทบจะไม่ต้องดูวัดแสงแล้วเพราะจอ LCD และช่องมองภาพแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าภาพจะมืดหรือสว่างเพียงใด (แต่ดูตัววัดแสงไว้สักหน่อยก็ดีนะครับบางทีแสงมันหลอกตา)
แต่สำหรับคนที่ถ่าย landscape อาจจะจริงจังเรื่องการวัดแสงมากกว่าการถ่ายแนวอื่นสักหน่อย เพราะจะมีการคำนวนในเรื่องความต่างแสงที่ละเอียดมากขึ้นสำหรับสายนี้ ซึ่งถ้ามีโอกาสผู้เขียนจะมาแนะนำเรื่องนี้ในบทความต่อ ๆ ไปครับ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ ?
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส