เคยไหมครับบางครั้งที่เราถ่ายภาพมาแล้วรู้สึกว่าภาพสว่างหรือมืดไปบ้าง ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่าวัดแสงมาพอดีแล้ว อาจจะเพราะมองจอ LCD ขณะถ่ายแล้วโดนแสงรอบตัวหลอกตา หรือเพราะปัจจัยอื่น ๆ พอจะเอาภาพไปทำต่อในโปรแกรมก็กลายเป็นว่าส่วนที่สว่างเกินไปนั้นพอลดความสว่างลงแล้ว รายละเอียดข้อมูลในส่วนนั้นกลับหายไปอีก วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการดู Histogram ขณะถ่ายภาพ เพื่อให้ไฟล์ภาพของเราเก็บข้อมูลมาแบบครบ ๆ ทำต่อง่ายที่สุดครับ
Histogram คืออะไร?
Histogram ก็คือกราฟแบบหนึ่งที่แสดงข้อมูลของภาพเราตั้งแต่ในส่วนมืดสุดจนถึงส่วนสว่างสุด ไล่จากซ้ายไปขวาก็จะเริ่มด้วย Black, Shadow, Midtone, Highlights แล้วก็ White เวลาเราใช้โปรแกรมอย่าง Adobe Lightroom ลองจิ้มดูที่ตัว Histogram ดูก็จะดูได้ครับว่าส่วนไหนคืออะไร โดยในตัวกล้องก็มี Histogram ให้เราได้เปิดใช้เช่นกัน
แล้วทำไม Histogram ถึงสำคัญในการถ่ายภาพ?
บางครั้งเวลาที่เราใช้กล้องดิจิทัลถ่ายอะไรมาสว่างเกินไป จนไม่สามารถเก็บข้อมูลในส่วนนั้นได้ เราจะเรียกกันว่า “หลุด Highlight” ทำให้ข้อมูลในส่วนนั้นจะค่อนข้างดึงรายละเอียดกลับมาได้ยาก โดยเราจะสังเกตได้ง่าย ๆ เลยว่าตัวกราฟจะเทไปทางขวาล้นออกไปตามรูปด้านล่างนี้ แบบนี้เวลานำรูปภาพไปทำต่อส่วนที่หลุด Highlights ออกไปก็จะไม่สามารถถึงข้อมูลกลับมาได้หรือทำได้ยากกว่านั้นเอง
ในทางกลับกัน Histogram ล้นไปทางซ้ายก็หมายความว่าภาพของเรามีส่วนมืดเยอะนั้นเอง สำหรับกล้องดิจิทัลแล้วการดึงส่วนมืดกลับมานั้นจะทำได้ง่ายกว่าส่วน Highlight ที่สำคัญอย่าลืมถ่ายเป็นไฟล์ RAW มาด้วยนะครับ! ถึงแม้จะดึงข้อมูลกลับมาได้ง่ายกว่าแต่ถ่ายมามืดเกินไปตอนดึง Noise หรือสัญญานรบกวนก็อาจจะขึ้นได้เหมือนกัน ทางที่ดีพยายามดู Histogram ไม่ให้ล้นไปทางซ้ายมากจนเกินไปจะดีกว่าครับ
Tips: ในกล้องดิจิทัลนั้นจะสามารถดึงไฟล์จากส่วนมืดได้ดีกว่าส่วนสว่าง แต่ถ้าเป็นกล้องฟิล์มจะสลับกัน ตัวฟิล์มจะเก็บส่วนสว่างมาได้ดีกว่าส่วนมืด สำหรับคนที่ใช้กล้องฟิล์มการถ่ายภาพมาสว่างจะค่อนข้างปลอดภับกว่าถ่ายมาติดมืดครับ
แต่! Histogram นั้นเอาไว้เป็นตัวช่วยอ้างอิง ไม่ควรยึดติดกับมันเกินไป
อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพมาแล้ว Histogram หนักซ้ายเกินไปหรือขวาเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องผิด ขึ้นอยู่กับ Concept ของเราว่าอยากได้ภาพแบบไหนด้วยนะครับ โดยวิธีการดูที่ผมแนะนำไปนั้นจะเอาไว้ใช้สำหรับท่านที่ต้องการนำรูปไปทำต่อ การคุม Histogram ไม่ให้ล้นไปออกไปจะช่วยให้เราสามารถทำภาพได้ง่ายกว่านั้นเอง
ยกตัวอย่างคนที่ชื่นชอบการ landscape ก็จะให้ความสำคัญกับ Histogram มากเป็นพิเศษ เพื่อที่ว่าเวลาถ่ายภาพมาตัวไฟล์ภาพจะได้มีข้อมูลครบ ๆ มาทำต่อได้ง่าย ไฟล์ไม่ช้ำ นั้นเอง
Tips: กล้องแต่ละรุ่นจะมีความสามารถในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ส่วนมืดสุดไปจนถึงส่วนสว่างสุดหรือ Dynamic Range ได้ไม่เท่ากัน ถ้าเรารู้ขีดจำกัดของกล้องตัวเองก็จะช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพออกไปทำไฟล์ต่อได้ดีมากขึ้นครับ
จะถ่ายมา Histogram เทมาทางขวาเยอะแบบรูปด้านบนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระวังเรื่องหลุด Highlights กันนิดนึง~
หรือจะถ่ายมา Histogram เทมาทางซ้ายเยอะก็ได้ ขึ้นอยู่กับ Concept ซึ่งรูปนี้ผู้เขียนอย่างให้ได้อารมณ์ Dark หน่อยก็เลยจะติดมืดนั้นเอง
สรุป
ก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับบทความพื้นฐานการดู Histogram เครื่องมือตัวนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการถ่ายรูปเพื่อเช็กดูว่าจะไม่มีส่วนไหนมืดหรือสว่างเกินไปเพื่อให้ได้ง่ายต่อการนำไฟล์ RAW มาทำต่อ แต่สุดท้ายแล้วการถ่ายภาพก็ไม่มีถูกไม่มีผิด จะถ่ายมาให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนล่ะครับ
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ ?
รวมบทความถ่ายภาพที่น่าสนใจ
- “ขนาดของเซนเซอร์” มีความสำคัญอย่างไรกับการเลือกซื้อกล้องดิจิทัลในยุคปัจจุบัน
- 5 สิ่งควรรู้สำหรับมือใหม่หัดถ่าย Portrait
- พื้นฐานการถ่ายภาพ 101 ปูพื้นฐานให้แน่นสำหรับมือใหม่!
- เจาะลึกโหมดถ่ายภาพ! ไขคำตอบโหมดอะไรควรใช้ตอนไหน
- รู้ลึกเรื่องฟิลเตอร์ แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
- เรียนรู้โหมดวัดแสงในกล้องถ่ายภาพ วัดแสงอย่างไรให้ภาพออกมาเป๊ะดั่งใจ
- 6 เลนส์แนะนำสำหรับมือใหม่ที่คิดจะเล่นกล้องอย่างจริงจัง!
- รวม 6 สิ่งที่ทำให้กล้องของคุณพังโดยที่ไม่รู้ตัว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส