ย้อนกลับไปช่วงปี 2005 ที่ BlackBerry ยังครองตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก ยังจำกันได้ใช่ไหมครับ ไม่ถึงสองทศวรรษก่อนที่เราถือ BlackBerry สมาร์ตโฟนที่ดูล้ำยุค รับส่งอีเมลและข้อความหากันได้เหมือนมีเวทมนตร์ (ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้สึกว่ามันเจ๋งมากแล้ว) แต่ทันทีที่ Apple เปิดตัว iPhone ในปี 2007 ทุกอย่างก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ทันที มันเป็นความก้าวกระโดดของสมาร์ตโฟนที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงอายุของเราเลยก็ว่าได้
อันที่จริงแล้วก่อนที่ไอโฟนจะออกสู่ตลาด มีเรื่องราวเบื้องหลังซ่อนอยู่มากมายที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ในหนังสือ ‘The One Device: The Secret History of the iPhone’ ที่เขียนโดย ไบรอัน เมอร์ชานต์ (Brian Merchant) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการตั้งแต่ต้นว่ากว่าจะมาเป็นไอโฟนอย่างที่เราถือกันในมือทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าที่จริงแล้ว สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ผู้ที่เราเชิดชูว่าเป็นคนท่ีนำไอโฟนออกมาสู่โลกนั้น แท้จริงแล้วเกือบจะเป็นคนที่ทำให้มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แถมยังไม่พอต้นแบบของไอโฟนยังเป็นโปรเจกต์ที่ทำขึ้นมาโดยที่เขาไม่รู้เรื่องเลย
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2000’s ต้องบอกว่าตลาดสมาร์ตโฟนไม่ได้เป็นสิ่งที่จอบส์เองสนใจสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะความสำเร็จของ iPod ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเครื่องเล่น MP3 ยังคงเป็นอนาคตของบริษัทอยู่ และการเติบโตของ BlackBerrry ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาให้ความสำคัญสักเท่าไหร่เพราะมันไม่ได้มาแย่งตลาดของ Apple เลยในตอนนั้น แต่มีบริษัทหนึ่งที่จอบส์เริ่มกังวลนั่นก็คือ Nokia (ใครจะไปคิด) ซึ่งกำลังออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ Nokia 5310 ที่มีฟังก์ชันในการเล่นเพลง MP3 ได้ด้วย มีปุ่มกดเล่น หยุด ย้อนกลับและข้ามเพลงบนโทรศัพท์เลย Nokia กำลังพยายามเปลี่ยนโทรศัพท์ให้กลายเป็นเครื่องเล่นเพลงซึ่งเริ่มมากินส่วนแบ่งของตลาดเครื่องเล่น MP3 ของ iPod และจอบส์เองก็เริ่มเป็นกังวลกับเรื่องนี้ เพราะยอดขายของ Apple ในตอนนั้นมาจากการขาย iPod ไปมากกว่าครึ่งหนึ่งเลย มันเป็นสินค้าหลักของบริษัทที่ไม่สามารถจะยอมให้ใครมาแย่งตลาดเอาไปได้ง่าย ๆ
แต่ทุกคนก็เห็นแล้วว่า โทรศัพท์ + เครื่องเล่นเพลง MP3 มันดีกว่าแน่นอน
โทนี ฟาเดลล์ (Tony Fadell) หนึ่งในผู้ร่วมออกแบบ iPod และ iPhone เล่าถึงเหตุการณ์นั้นในหนังสือของเมอร์ชานต์ว่า “เรามีเครื่องเล่นเพลงที่สามารถดูวิดีโอ เสียง และรูปภาพได้ เรามี iTunes แล้วก็มีโทรศัพท์จากอนาคตเกิดขึ้นที่สามารถเล่นเพลง MP3 ได้ มันเป็นจังหวะที่ ‘อ้าวเฮ้ย’ เลยทีเดียว โทรศัพท์ที่สามารถขโมยทุกอย่างที่เราทำ แล้วเราจะตอบโต้ยังไงได้บ้างล่ะ?”
Apple ต้องสร้างโทรศัพท์แห่งอนาคตของตัวเองเพื่อจะแข่งขันนั่นเอง และถ้าเครื่องเล่นเพลง MP3 จะกลายเป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์แล้วล่ะก็ ชะตากรรมของ Apple ก็คงไม่ต่างกันถ้ายังปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไร
วิศวกรของ Apple เองพยายามที่จะผลักดันไอเดียนี้ตั้งแต่ช่วงต้นของปี 2000’s แต่ว่าจอบส์เองยืนกรานหนักแน่นว่าไม่เอา Apple จะไม่ผลิตโทรศัพท์อย่างแน่นอน ซึ่งเขาเองก็มีเหตุผลกับเรื่องนี้ก็คือว่าเขาเกลียดพวกองค์กรขนาดใหญ่ เพราะถ้าย้อนกลับไปในปี 1984 ที่เครื่อง Macintosh เปิดตัว มันถูกเปรียบเทียบว่าเป็น ‘Rebel Force’ หรือพลังของการต่อต้านที่มอบความหวังในการงัดข้อกับบริษัทใหญ่ผู้ชั่วร้าย (‘evil empire’) อย่าง IBM และถึงแม้ว่า Apple จะเติบโตมายิ่งใหญ่มากแค่ไหนต่อจากนั้น ในสายตาของเขาก็ยังคิดว่า Apple คือบริษัทสตาร์ตอัปขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น
การผลิตสมาร์ตโฟนหมายถึงว่า Apple จะต้องไปร่วมมือกับบริษัทใหญ่ที่ครองตลาดผู้ดูแลเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง Verizon หรือ AT&T ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานกับบริษัทพวกนี้ทำให้อำนาจการตัดสินใจหรือลงมือทำอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากไม่น้อย ซึ่งจอบส์เองที่เป็นคนละเอียด ต้องเป๊ะทุกอย่างในทุกขั้นตอนตามที่เขาต้องการไม่มีทางทำได้ และอีกอย่างหนึ่งคือสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ในตลาดตอนนั้นเขาก็รู้สึกว่ามันห่วยแตกทุกอันเลย
มันอาจจะจินตนาการยากนิดนึงในตอนนี้ เพราะถ้าเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูก็คงรู้สึกว่าสมาร์ตโฟนเป็นแบบนี้ก็ถูกแล้วนี่ มีหน้าจอแล้วก็เอานิ้วแตะใช้ทำงาน แต่ไม่ใช่ครับ ตอนนั้นไม่มีใครที่เห็นแบบนั้นเลย ไม่มีใครรู้หรอกว่าสมาร์ตโฟนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้แบบในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ BlackBerry ไม่ได้พยายามใส่ฟังก์ชันอะไรใหม่ ๆ เข้าไปในสมาร์ทโฟนของตัวเองเพราะรู้สึกว่ามันควรจะใช้เพื่อทำงาน โฟกัสแค่นั้น จอบส์ก็คิดเหมือนกันว่าสมาร์ตโฟนจะถูกใช้ในกลุ่มที่เฉพาะขนาดเล็ก เลยต่อต้านไอเดียของการผลิตโทรศัพท์ในตอนแรกอย่างหนักแน่นเลย
แต่ว่า…แรงกดดันจากโทรศัพท์ที่สามารถเล่น MP3 ได้และวิศวกรของบริษัทเองที่โน้มน้าวให้เขาต้องลองทำอะไรสักอย่างเพื่อจะยังสามารถแข่งกับคู่แข่งได้ จอบส์เกิดไอเดีย ‘บางอย่าง’ ขึ้นมา โดยการไปพาร์ตเนอร์กับ Motorola ให้ผลิตโทรศัพท์รุ่น Motorola ROKR E1 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ iTunes ได้ แต่หน้าตาของมันก็ยังเป็นโทรศัพท์ปกติทั่วไปในยุคนั้นที่เป็นปุ่มกดทั่วไป มันล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยทีเดียว
รีวิวบอกว่ามัน ‘ออกแบบได้แย่มาก’ และเป็น ‘หายนะอันยิ่งใหญ่’
จอบส์เองก็คิดเช่นเดียวกัน และการเห็นเจ้า ROKR E1 นี้เองที่ทำให้เขารู้สึกว่า Apple ต้องสร้างโทรศัพท์ของตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพาคนอื่น ฟาเดลล์เล่าว่า ‘สุดท้ายมันก็กลายเป็นว่า ‘ช่างแม่งละ เราจะทำโทรศัพท์ของเราเอง’” แบบนั้นเลย
แต่ว่าไอเดียของโทรศัพท์เครื่องแรกของ Apple ก็ถือว่าไม่น่าจะไปรอดเช่นเดียวกัน จอบส์เอาสิ่งที่ขายได้ดีอยู่แล้วในเวลานั้นมาดัดแปลง นั่นก็คือ iPod ที่มี Click Wheel มาใส่ฟังก์ชั่นโทรศัพท์เข้าไปข้างใน โดยเวลาเราจะกดปุ่มเลขโทรออกก็ต้องหมุน Click Wheel ไปเหมือนโทรศัพท์หมุนเลขเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ฟาเดลล์เล่าถึงความทรงจำช่วงนั้นว่า “สตีฟจะพูดว่า ‘พยายามอีก!’ ซึ่งเราก็พยายามทุกอย่างแล้ว ทำมา 7-8 เดือนแล้วเพื่อจะให้มันทำงานได้ แต่มันไม่ได้ เราเอาปุ่มเพิ่มเข้าไป ยิ่งทำให้เละเข้าไปอีก”
โชคดีที่พนักงานของ Apple นั้นไม่ได้ยึดติดกับแนวคิดนี้และคุ้นชินดีกับการต้องทิ้งตัวต้นแบบที่ไม่สามารถทำงานได้จริงไปอยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องเห็นภาพของคนพยายามกดโทรศัพท์ด้วย Click Wheel อยู่ในตอนนี้
ดูเหมือนว่าอนาคตของสมาร์ตโฟนเครื่องแรกของ Apple นั้นดูไม่ค่อยสู้ดีนัก จอบส์เองก็ยังห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ได้ฟันธงว่าจะลงทุ่มสุดตัวกับเรื่องนี้ ตัวทดสอบเองที่ออกมาก็ไม่ได้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่คนที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปคือพนักงานคนหนึ่งของ Microsoft ที่เป็นสามีของเพื่อนของภรรยาของเขา ทุกครั้งที่จอบส์เจอชายคนนี้ก็จะคุยโวโอ้อวดถึงแท็บเล็ตและปากกาสไตลัสของ Microsoft ที่จะเป็นอนาคตของโลกเทคโนโลยี ฟีเดลล์เล่าถึงตอนหนึ่งที่จอบส์เพิ่งกลับมาจากคุยกับผู้ชายคนนี้ว่า ‘สตีฟกลับมาครั้งหนึ่งแล้วเล่าว่าผู้ชายคนนั้นบอกเขาว่าไมโครซอฟท์สามารถแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปได้แล้วด้วยแท็บเล็ตด้วยปากกาสไตลัส เขาคุยต่อหน้าสตีฟว่าจะครองโลกด้วยแท็บเล็ตและปากกาใหม่ของพวกเขา สตีฟกลับเข้ามาทำงานวันจันทร์พร้อมคำสบถเป็นชุด แบบว่า ‘มาแสดงให้พวกเขาเห็นว่าของจริงมันต้องยังไงกันเถอะ’” มันเป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก ‘อยากเอาชนะ’ ในตัวจอบส์ขึ้นมาทันที
แน่นอนว่าหลังจากนั้นเขาก็เจอทางออกของปัญหา ทางเลือกที่ดีกว่าปากกาสไตลัสที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งถึงตอนนี้เราก็คงทราบดีอยู่แล้วว่ามันคือนิ้วมือของเรานั่นเอง จอบส์บอกว่า “อย่างแรกเลยพวกเขางี่เง่ามาก มันใช้สไตลัสไม่ได้สิ มันยุ่งยากมาก หยิบแล้วก็วางอยู่นั่นแหละ แต่เราเกิดมาพร้อมกับสไตลัสสิบอันเลย” ซึ่งตัวต้นแบบของ iPhone รุ่นต่อมามีขนาดเท่าใหญ่เท่ากับโต๊ะสนุ๊กเลย มันเป็นโปรเจ็กต์ที่พนักงานในบริษัทแผนก Mac ทดลองทำแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่และถูกปล่อยทิ้งร้างไป โดยตอนแรกจอบส์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ จนกระทั่งเขาพยายามจะหาวิธีใช้นิ้วของเราให้เกิดประโยชน์และไปเจอโปรเจกต์นี้เขาก็รู้ทันทีเลยว่า อนาคตไม่ใช่การสร้างสมาร์ตโฟน แต่เป็นการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือที่สามารถใช้เป็นโทรศัพท์ได้ แท็บเล็ตแบบใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอที่มีฟังก์ชันโทรศัพท์ในนั้นด้วย
นอกจากการผลิตโทรศัพท์ที่จอบส์ไม่เห็นด้วยในตอนแรกแล้ว ก็ยังมีอีกหลายไอเดียที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเวิร์กแต่คิดผิดอย่างมาก เช่นเรื่องของขนาด iPhone ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ช่วงที่ iPhone 4S ออกมาบอกว่า iPhone ที่ใหญ่กว่านี้จะไม่มีคนซื้อหรอก เพราะมือจับไม่ได้ (ดูรุ่น Pro Max ตอนนี้สิ) แถมยังไม่พอไอเดียของ Apps บน iPhone เขาก็ต่อต้านเหมือนกัน ทั้งที่ตอนนี้เราคิดไม่ออกเลยว่า iPhone โดยที่ไม่มี Apps ต่าง ๆ จะเป็นยังไง ตอนนั้นเขาอยากให้ iPhone แค่เข้าเว็บไซต์ได้และมี Apps ของตัวเองเท่านั้น
ดูจากรายได้รวมของ Apple จากการขาย Apps เพียงอย่างเดียวในปี 2021 ก็เท่ากับรายได้ทั้งบริษัทของ Facebook แล้ว นั่นแสดงให้เห็นเลยว่า Apps เป็นส่วนสำคัญมากขนาดไหน
ตอนนั้นเขาเชื่อว่ามันเสี่ยงเกินไปที่จะให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันข้างนอกบริษัทเอาซอฟต์แวร์มาใส่ในเครื่อง กังวลว่ามันจะไปกระทบกับการทำงานของ iPhone ต่าง ๆ นานา ทางเลือกเดียวที่มีตอนนั้นเขาให้สร้าง Web App และใช้งานผ่านทาง Safari ซึ่งมันทั้งหน่วง ไม่สะดวก และมีข้อจำกัดหลายอย่าง (มันไม่มี Notification ด้วย) แต่หลังจากที่ iPhone ออกสู่ตลาดแล้วมีกระแสของการ Jailbreak ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ข้างนอกสามารถขายแอปพลิเคชันของพวกเขาอย่างไม่ถูกฎหมายนักและ Apple ก็ทำอะไรไม่ได้เลย จอบส์เลยเปลี่ยนใจให้มีแอปพลิเคชันจากข้างนอกได้ในเวอร์ชัน 2 ของ iPhone ซึ่งฟาเดลล์ก็เชื่อว่านี่คือ iPhone ที่สร้างความแตกต่างและทำให้ Apple ประสบความสำเร็จจริง ๆ
จนถึงตอนนี้ iPhone ถูกขายไปแล้วกว่า 2,200 ล้านเครื่องนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จอบส์เองจะบอกว่าเป็นผู้คิดค้น iPhone มาตั้งแต่ต้นก็คงไม่ใช่ แต่จะบอกว่าไม่มีส่วนก็คงไม่ใช่เช่นเดียวกัน เพราะว่าทีมที่สร้างก็มาจากบริษัทของเขาที่มีแนวคิดในการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมที่พนักงานสามารถเสนอแนวคิดให้กับหัวหน้างานได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าเขาเกือบจะเป็นคนที่ทำให้ไม่มี iPhone ที่เรารักเหมือนอย่างทุกวันนี้ก็ตาม (ลองคิดดูว่าถ้าเขายึดติดกับไอเดียจาก ROKR E1 หรือ ใช้ iPod ที่มี Click Wheel เป็น iPhone ดูสิ)
เมอร์ชานต์สรุปไว้ในหนังสือของเขาว่า “จอบส์เป็นแหล่งของแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง เป็นผู้จัดการดูแลความคิดที่ดีและปฏิเสธความคิดที่ไม่ดี และเป็นนักเจรจาที่ชาญฉลาดและมีศักยภาพ แต่ iPhone เริ่มต้นจากโปรเจกต์ทดลองที่เกิดขึ้นโดยที่เขาไม่รู้ จนภายหลังกลายมาเป็นโปรเจกต์อย่างเป็นทางการและถูกทำให้เกิดขึ้นได้โดยทีมงานของโปรแกรมเมอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์ที่เก่งกาจและทำงานหนักอย่างมาก”
เขาอาจจะคาดการณ์ผิดหลายครั้งและดื้อหัวชนฝาจนนาทีสุดท้าย แต่พอโอกาสหรือจังหวะที่เขาต้องตัดสินใจมาถึง เขากลับพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดเมื่อมีสิ่งที่ดีกว่าโดยไม่ยึดติดกับความเชื่อเดิม ๆ และเชื่อในทีมของเขาจนทำออกมาได้สำเร็จและกลายเป็น iPhone ที่เราถืออยู่ในทุกวันนี้
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส