เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้น มักมีเพศชายเป็นผู้ขับเคลื่อน ชายหลายคนมีชื่อเสียงจากผลงานที่เขาได้สร้างเอาไว้ จารึกลงในประวัติศาสตร์ที่ผู้คนไม่มีวันลืมเลือน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหญิงอีกไม่น้อย ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่พวกเธอไม่ค่อยจะมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ วันนี้ เราเลยจะมาพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับหญิงคนหนึ่ง ที่มากพร้อมด้วยความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการเขียนโปรแกรม เธอคนนั้นก็คือ ‘ฌอง อี ซัมเมท (Jean E. Sammet)’
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักฌองกันก่อนคร่าว ๆ ดีกว่า
ฌอง อี ซัมเมท (Jean E. Sammet) เป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ที่ดำรงตำแหน่งประธานหญิงคนแรกของ ACM (Association for Computing Machinery) ซึ่งเป็นสมาคมคอมพิวเตอร์ทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นบุคคลแรก ๆ ที่มีส่วนในการบุกเบิกคอมพิวเตอร์ เธอเกิดที่นิวยอร์ก และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1948 สาขาคณิตศาสตร์จาก Mount Holyoke College และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก University of Illinois at Urbana-Champaign ในปี 1949
จนเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ฌองก็พบปัญหาบางอย่าง…เธอเล่าถึงการทำงานว่าด้วยความที่เธอเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น ทำให้ถูกเพิกเฉย ถูกเลือกปฏิบัติ โดนทำเหมือนเป็นคนอื่น เพียงเพราะเธอเป็น ‘ผู้หญิง’
เหตุการณ์ถูกเลือกปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไรบ้างนะ?
ฌองเล่าว่าตอนเรียกประชุมเจ้าหน้าทื่ทุกคนในที่ทำงาน เจ้านายของเธอเริ่มต้นด้วยการพูดว่า “สุภาพบุรุษ มาเริ่มกันเลย” แต่พอเห็นเธอ เขาก็ขมวดคิ้วแล้วพูดใหม่ว่า “ไม่สิ สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี มาเริ่มกันเลย” จากนั้นเขาก็พูดขึ้นต่อว่า “ฉันไม่ชอบแบบนั้นเลย ฌอง ต่อจากนี้ไปคุณเป็นผู้ชาย เอาล่ะ สุภาพบุรุษทุกท่าน มาเริ่มกันเลย”
ฌองมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก และไม่ได้เก็บมาใส่ใจมากนัก เพราะเธอตัดสินใจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วว่าเธอจะไม่ให้เรื่องเหล่านี้มารบกวนตัวเธอเอง
นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เธอรู้จักจัดการตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการทำงาน แต่ความจริงที่ว่าการถูกเลือกปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าก็ยังไม่ได้หายไปไหนอยู่ดี
เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ของฌองเริ่มขึ้นที่ตรงไหน?
การเป็นโปรแกรมเมอร์ของเธอ เริ่มต้นขึ้นจากการถูกหัวหน้าที่ Sperry Gyroscope ในปี 1955 มาพูดถึงการสร้างคอมพิวเตอร์ดิจิทัล ว่าตอนนี้มีวิศวกร 2 คนกำลังดำเนินการอยู่ เขาถามเธอขึ้นมาว่า เธอสนใจจะเป็นโปรแกรมเมอร์ของบริษัทไหม ซึ่งเธอตอบรับว่าสนใจ แม้จะยังไม่รู้จักมันดี แสดงให้เห็นว่า เธอให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในเมื่อบริษัทต้องการคน เธอก็พร้อมที่จะก้าวไปลองสิ่งเหล่านั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมดีใช่ไหมล่ะ?
เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ของฌองนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอพูดถึงการเขียนโปรแกรมว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ไม่มีหนังสือ ไม่มีคู่มือ เธอถึงกับต้องเขียนคู่มือขึ้นเองเลยด้วย แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้สองสามคนในขณะนั้น แต่ฌองไม่รู้จักใครเลย ไม่มีใครคุยด้วย สิ่งที่เธอทำได้จึงเป็นการสอนตัวเอง เธอยังทิ้งท้ายอีกว่า “ถึงแม้มันจะฟังดูแปลกแต่มันก็เป็นเรื่องจริง”
เหตุผลที่ฌองชอบเขียนโปรแกรม
ฌองเล่าว่าการเขียนโปรแกรมนั้นคล้าย ๆ กับการต่อจิ๊กซอว์ คำพูดของเธอทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการรวบรวมโค้ดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยต้องเตรียมทุกอย่างให้พอดี มันจะทำให้เกิดความพอใจขึ้นมาในจิตใจมากแค่ไหน เมื่อเห็นโปรแกรมเริ่มทำงาน ถึงแม้เธอจะบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะบอกออกมาว่าทำไมถึงสนุกในการทำสิ่งเหล่านี้ก็ตาม
การทำงานของฌองประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง?
เราขอกล่าวถึงการทำงานที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก่อนเลย คือผลงานในปี 1959 ที่เธอได้เป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม Conference on Data Systems Languages (CODASYL) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้คิดค้นภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในงานธุรกิจภาษาแรกของโลกอย่าง COBOL (Common Business Oriented Language) ขึ้นมา
ภาษา COBOL เป็นภาษาที่ยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้งานในคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เพื่อจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ เช่น ธุรกรรมการเงินในเครื่อง ATM, ระบบจองตั๋วเครื่องบิน, ระบบโทรศัพท์, ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกระทั่งระบบควบคุมไฟจราจร จะเห็นได้ชัดเลยว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ในปัจจุบันอยู่ จึงไม่แปลกที่ ภาษา COBOL ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ในปัจจุบัน
ในปี 1961 ฌองได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบริษัท IBM และได้พัฒนาภาษา FORMAC (Formula Manipulation Compiler) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นภาษาแรกในการจัดการนิพจน์พีชคณิตที่ไม่ใช่ตัวเลข ภาษานี้สามารถช่วยคำนวณ จัดการ และใช้งานฟังก์ชันของคณิตศาสตร์ขั้นสูงได้โดยตรง สร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์ไปอีกขั้น นอกจากนี้เธอยังเขียน “Programming Languages: History and Fundamentals” ในปี 1969 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหนังสือโปรแกรมมิงคลาสสิกของโลกอีกด้วย
บทบาทของเธอต่อวงการเทคโนโลยียังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เธอได้ขึ้นเป็นประธาน ACM (Association of Computing Machinery) ในเดือนมิถุนายน ปี 1974 จนถึง เดือนกรกฎาคม ปี 1976 ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีประธานเป็นผู้หญิงมาก่อนเลย เธอคือผู้หญิงคนแรก ที่ขึ้นเป็นประธานของ ACM! อย่างที่เราเคยบอกไว้ที่ต้นบทความนั่นเอง ซึ่งเธอนั้นเธอมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟู ACM ให้อยู่ในสถานะทางการเงินที่ดีด้วย
ในปี 1975 ฌองยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ Upsilon Pi Epsilon (UPE) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ‘เพื่อให้การยอมรับความเป็นเลิศทางวิชาการทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ’
อีกหนึ่งสิ่งที่เราจะไม่กล่าวถึงเลยก็คงไม่ได้ ก็คือ ในปี 2009 IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ก็ได้มอบรางวัล “Computer Pioneer Award” ให้กับเธอ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผลงานบุกเบิกและความสำเร็จตลอดชีวิตในฐานะหนึ่งในนักพัฒนาและนักวิจัยกลุ่มแรก ๆ ของภาษาโปรแกรมมิง
เห็นได้เลยว่าฌองประสบความสำเร็จมากจริง ๆ ในฐานะคนที่เริ่มจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองในการเขียนโปรแกรม แถมอันที่จริงยังมีผลงานของเธออีกมากมายเลยที่เราไม่ได้กล่าวถึง เพราะเธอเป็นคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่แอกทีฟมากจริง ๆ ตลอดช่วงชีวิตของเธอ เต็มไปด้วยการเขียนโปรแกรมที่เธอรัก
การย้อนมองไปยังชีวิตของฌอง ทำให้เราเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของในโลกเทคโนโลยีผ่านมุมมองของเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ้าง และชีวิตของเธอยังเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงหลายคนที่ต้องการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรืออันที่จริงควรเรียกว่า อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) มากกว่า แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เริ่มต้นเรียนรู้จาก 0 ด้วยตนเองได้อีกด้วย!
เราสามารถบอกได้เลยว่าความพยายามเรียนรู้ของฌองนั้นสุดยอดมาก เธอคือหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่า ความพยายามไม่เคยสูญเปล่า แม้บางคนจะพยายามแล้วยังไม่ได้ผลตอบรับอันน่าพอใจ แต่อย่างน้อย ๆ ระหว่างทางการพยายาม ก็จะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราได้รับมาด้วยอยู่ดีนั่นเอง…ใครจะไปรู้ บางทีสิ่งนั้นอาจจะกลายเป็นชิ้นส่วนความสำเร็จครั้งใหม่ให้เราก็ได้ จริงไหม?
อ้างอิง: Alumnae Association, cacm, IEEE, thaiall, thenewstack, tynker
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส