จะเป็นเช่นไร เมื่อนักลงทุนเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้ คือ ‘เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล’ ทำตลาด NASDAQ พุ่งทะยานไปสู่จุดสูงสุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในทางกลับกัน หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดนั้น กลับไม่ทำกำไรเลย แม้ราคาหุ้นจะพุ่งอย่างต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้นกันแน่ มาร่วมเจาะอดีต ไปกับ เหตุการณ์ ‘ฟองสบู่ ดอทคอม’ เหตุการณ์ที่ชาวอเมริกันจะไม่มีวันลืม
รู้จักบริษัท ดอทคอม
มารู้จักกับบริษัท ดอทคอม กันก่อนครับ คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยประเภทบริษัท ดอทคอม แบ่งเป็นสองประเภทตามจุดประสงค์การใช้งาน คือ บริษัทที่ใช้คอนเทนต์ดึงดูดผู้ใช้งานและสร้างรายได้จาการโฆษณาหรือการสมัครสมาชิก เช่น Twitter, Facebook, Google บริษัทที่ขายสินค้าและบริการ มีทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย อย่างเช่น Ebay, Amazon
ย้อนกลับไปในยุค 90s ในสหรัฐอเมริกา คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังเริ่มเป็นทิ่นิยมมากขึ้น มีราคาที่ถูกลง และใช้งานง่ายกว่าแต่ก่อน เนื่องจากธุรกิจฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพอิ่มตัว ไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์จะผลิตจากบริษัทใด ๆ สินค้าที่ออกมาจะเหมือน ๆ กัน ทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องแข่งกันที่ราคา
แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยม อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ การเข้ามาของ‘เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต’ ที่ใช้งานได้ง่ายกว่าเดิม สามารถอำนวยความความสะดวกต่าง ๆ และ ทำกำไรได้ดีกว่า ธุรกิจผลิตฮาร์ดแวร์
ผลสำรวจจาก ‘กระทรวงแรงงานสหรัฐ ปี ค.ศ.1999’ พบว่า จำนวนครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาที่เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35% เนื่องจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีความจำเป็นกว่าเมื่อก่อนที่มีไว้เพื่อความหรูหรา และการใช้งานเฉพาะกลุ่ม ซึ่งยุคนี้ก็มีการก่อตั้งบริษัทใหม่ ๆ ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จอย่าง Yahoo!, Amazon, Ebay, Facebook และ Google ขึ้น
ก้าวสู่จุดสนใจ
นักลงทุนเริ่มมองเห็นความสำเร็จของธุรกิจดอทคอมชั้นนำ จึงพร้อมลงทุนกับโครงการใหม่ ๆ ที่มีโอกาสดี เห็นได้จากมูลค่าของหุ้น NASDAQ ซึ่งรวมของหุ้นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เติบโตจาก 1,000 จุด ในปี 1995 ไปถึงระดับ 5,000 จุด ในเวลาเพียงห้าปี จนใคร ๆ ก็อยากจะกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหน้าใหม่ที่เข้าซื้อขายในวันแรก สามารถทำกำไรได้ถึง 89% หรือเกือบเท่าตัวภายในวันเดียว นักลงทุนที่แห่กันซื้อเพื่อเก็งกำไร จนค่า P/E หรือ ซื้อราคาในปัจจุบัน แล้วจะคืนทุนอีกกี่ปี ของตลาดสูงไปกว่า 100 เท่า ทุกบริษัทไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ ก็หันมาเปลี่ยนชื่อตามกระแส เช่นคำว่า Dot-com, Dot-net, Internet, Network
ขณะเดียวกันสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำ คือ ‘กัดฟันขาดทุนช่วงแรก’ เน้นทำการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วง เพื่อให้เกิด Network Effect หรือ มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน เหมือน ธุรกิจดอทคอมชั้นนำ อย่างเช่น Facebook สร้าง Network effect ได้สำเร็จ จากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ , Google สร้าง Network Effect ได้สำเร็จ จากผู้ใช้งานที่ช่วยกันสร้างข้อมูลในการค้นหา, Amazon สร้าง Network effect สำเร็จ จากผู้ซื้อ และ ผู้ขาย ออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นั่นเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่สร้าง Network Effects ได้สำเร็จ ทำให้นักลงทุนคิดว่าบริษัทอื่น ๆ ก็ทำได้เช่นกัน เกิด’เม่า’เอ้ย นักลงทุนหน้าใหม่ ที่พร้อมจะกระโดดใส่หุ้นเทคโนโลยี ทุกราคา จนละเลยพื้นฐานการลงทุน ไม่สนใจว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้เท่าไหร่ต่อปี เพราะ ราคาหุ้นนั้นขึ้นเอา ๆ “ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะตกรถ” แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ประสบความสำเร็จ
เมื่อความจริงปรากฎ
ความจริงเริ่มปรากฎขึ้น เมื่อบริษัท ดอทคอม ส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ แม้ยังคงรักษาสภาพคล่องทางการเงินและฐานลูกค้าไว้อยู่ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ใช้ไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุน เริ่มขาดความเชื่อมั่นและตระหนักถึงความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าจริง ๆ แล้ว “นี่มัน ฟองสบู่ชัด ๆ ”
“งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” นักลงทุนที่ตระหนักได้ทันจึงเริ่มเทขาย ทำกำไร กันอย่างต่อเนื่อง ตาม ๆ กัน จนราคาตกลงมาอย่างมาก ดัชนี NASDAQ ตกจาก 5,000 กว่าจุดไปเหลือ 1,000 กว่าจุด ในเวลาไม่กี่เดือน แม้กระทั่งบริษัทที่ทำ Network Effect สำเร็จ อย่าง อเมซอน ดอทคอม (amazon.com) ก็ไม่รอด โดนเทขายตามกันไป จากจุดสูงสุด 100 กว่าดอลลลาร์ เหลือไม่ถึง 10 ดอลลาร์
ฟองสบู่แตกได้เกิดขึ้น บริษัท ดอทคอม กว่า 90% จากเดิมที่ ‘กัดฟันขาดทุน’ อยู่แล้ว ไม่สามารถแบกรับหนี้สินและดอกเบี้ยธนาคาร ที่ 5-6% ต่อปี ได้ไหว จึงยอมแพ้และล้มละลาย ปิดกิจการ อย่างมากมาย สร้างบาดแผลใหญ่ให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
โดยสรุปแล้วเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ ‘ฟองสบู่ ดอทคอม’ จริง ๆ คือความความหวังของนักลงทุนที่มากเกินความจริง แน่นอนว่าปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต สามารถเปลี่ยนโลกได้จริงตามที่นักลงทุนยุคนั้นวาดฝันไว้ แต่ทุกอย่างมีราคาที่แท้จริงของมัน “จงใช้สติ และ มีเหตุผลทุกการกระทำที่เราทำลงไป” หลังจากนี้จะมีวิกฤติอะไรเกิดขึ้นอีก พวกเราคงต้องติดตามและเตรียมรับมือกันไว้ให้ดี
ที่มา: finnomena1 finnomena2 AHEAD ASIA MONEYBUFFALO AOMMONEY