เราอาจพูดได้เต็มปากว่าปี 2016 นี้ถือว่าเป็นปีแรกที่ VR ก้าวเข้าสู่ตลาดได้อย่างเต็มตัว หลังจากที่เราวาดฝันถึงโลกเสมือนกันผ่านภาพยนตร์ นิยายวิทยาศาสตร์กันมานานร่วมครึ่งศตวรรษ
อดีตของ VR
กว่าที่เราจะมีอุปกรณ์ VR ที่ดีพอในราคาที่สัมผัสได้นี้ เราผ่านประวัติศาสตร์การพัฒนาและความเฟลกันมามากมาย เรามาย้อนดูอดีตกัน
Sensorama เครื่องสุดเจ๋งข้ามยุคข้ามสมัย
เครื่องแรกที่พอจะเห็นเป็นตัวเป็นตนหน่อยคือ Sensorama เครื่องดูหนัง 4D เครื่องแรกๆ ของโลก ผลงานการพัฒนาของ Morton Heilig ในปี 1962 ที่แม้จะเป็นแค่เครื่องต้นแบบทำออกมาเพื่อทดสอบแนวคิด The Cinema of the Future ของเขา และไม่เคยได้เงินทุนสนับสนุนจนสร้างเป็นเครื่องเพื่อการค้าจริงๆ แต่ Sensorama ก็สามารถแสดงภาพยนตร์แบบ 3 มิติพร้อมเสียงสเตริโอ แถมยังมีระบบปล่อยลม ปล่อยกลิ่นตามที่ภาพยนตร์กำหนด และที่นั่งก็เคลื่อนที่ตามจังหวะภาพยนตร์ได้ ซึ่งน่าทึ่งมากสำหรับเครื่องกลไกในยุคนั้น
Sega VR ความพยายามที่ล้มเหลว
ต่อมาในช่วงยุค 90s เทคโนโลยี VR ก็เข้ามาใกล้ตัวผู้ใช้มากขึ้นเมื่อ Sega เปิดตัว Sega VR ในปี 1991 และขึ้นเวทีโชว์ในงาน CES เมื่อปี 1993 โดยเคลมว่ามีความสามารถในการในการตรวจจับศีรษะของผู้เล่น และแสดงภาพเกมแบบ 3 มิติ ซึ่งมีเกมที่กำลังพัฒนาอยู่ 4 เกม แต่จนแล้วจนรอด Saga VR ก็ไม่สามารถออกสู่ตลาดจริงได้ เพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในยุคนั้นที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีพอได้ การทดสอบภายในบริษัทระบุว่าผู้ใช้มีอาการปวดหัว เวียนหัวเนื่องจากการใช้ ซึ่งต่อมา Sega ก็ออกเครื่องอาร์เคด VR-1 ในปี 1994 สำหรับเล่นภายใน SegaWorld เท่านั้น ไม่มีเครื่องของ Sega สำหรับผู้ใช้ตามบ้านอย่างที่เคยวางแผนกันไว้
บันทึกการเปิดตัว Sega VR ในงาน CES 1993
Virtual Boy ก้าวที่ผิดพลาดของ Nintendo
เครื่อง VR ที่เข้ามาใกล้ผู้ใช้ตามบ้านมากที่สุดคือ Nintendo Virtual Boy ที่วางจำหน่ายในปี 1995 ด้วยรูปลักษณ์แปลกประหลาด เครื่องเกมมีลักษณะเป็นแว่นตั้งโต๊ะให้ผู้ใช้นั่งส่องเข้าไปในแว่นเพื่อเล่นเกมที่เห็นความลึกตื้นเหมือนมองด้วยสายตาจริง เพียงแต่ว่ามันไม่มีสี ภาพในเกมจะวาดด้วยเส้นสีแดงเท่านั้น ด้วยความไม่พร้อมของ Virtual Boy ทั้งการเล่นที่ลำบาก ใครเล่นเกมจบด้วยท่านั่งหมุดๆ ก้มมองแว่นได้นี่มีความพยายามเป็นเลิศ ภาพในเกมก็ไม่ดึงดูดผู้เล่น ทำให้จำหน่ายได้ราวๆ 770,000 เครื่อง (มองดูเหมือนเยอะ แต่เป็นเครื่องเกมที่ขายได้น้อยเป็นอันดับ 2 ของ Nintendo) และเลิกจำหน่ายอย่างรวดเร็วในเวลาราวๆ 6 เดือนเท่านั้น แถมยังโดน Palmer Luckey ผู้สร้าง Oculus Rift แว่น VR ยุคปัจจุบันด่าซ้ำว่าเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เทคโนโลยี VR ก้าวช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะเร่งวางตลาดจนเครื่องไม่สมบูรณ์ และทำให้ตลาดเข็ดกับเทคโนโลยีนี้จนทำให้เทคโนโลยีนิ่งอยู่เป็นสิบๆ ปี
แต่ Virtual Boy ก็ทำให้เรามีหนึ่งในเกม Wario ที่ดีที่สุดอย่าง Virtual Boy Wario Land เช่นกัน
VR ในปัจจุบัน
ยุคสมัยของ VR ที่กำลังบูมอยู่ตอนนี้เริ่มต้นขึ้นจากพ่อหนุ่ม Palmer Luckey แห่ง Oculus ที่ทำให้ผู้คนในวงการเกมกลับมาเชื่ออีกครั้งว่า Virtual Reality คือสิ่งที่เป็นไปได้แล้วในตอนนี้
Palmer Luckey หนุ่มมหัศจรรย์ผู้กอบกู้ความฝันของวงการไอที
Luckey เป็นเด็กหนุ่มในแคลิฟอร์เนีย (หนุ่มมากๆ เกิดปี 1992 เอง) ที่เรียนหนังสือเองที่บ้าน (home-school) เขาใช้เวลาว่างสนุกไปกับงานอิเล็กทรอนิกส์ ดัดแปลงเครื่องเกมคอนโซล ซ่อมไอโฟนหาเงินใช้ และนำเงินที่ได้มาซื้อของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เขาเริ่มสนใจเทคโนโลยีด้าน VR และไล่ซื้อแว่น VR ที่มีในท้องตลาดขณะนั้น รวมแล้วกว่า 50 รุ่น
แต่ Luckey กลับไม่พอใจในเทคโนโลยีแว่น VR ที่วางขาย โดยรู้สึกว่ามันยังไม่ “เสมือนจริง” มากพอ ทั้งในแง่คุณภาพของจอภาพที่มีความคอนทราสต์ต่ำ หรือระบบการดักจับการหมุนศีรษะมีความหน่วง (latency) แสดงภาพตามไม่ทัน รวมถึงมุมมองสายตา (field of vision) ค่อนข้างแคบไม่เหมือนภาพที่สายตามองเห็นจริง
Luckey จึงลองแก้ปัญหาข้างต้นด้วยตัวเอง จนสุดท้ายเขาสามารถสร้างแว่นที่มีมุมมองกว้าง 270 องศา และมีน้ำหนักเบาพอที่จะสวมหัวได้สำเร็จในปี 2012 จน John Carmack ผู้สร้างเกม Doom มาเห็นเข้าแล้วขอตัวแว่นมาทดสอบ ซึ่ง Carmack ประทับใจแว่นตัวนี้มาก จนนำไปอวดชาวโลกในงาน E3 2012 และ Luckey ก็ตั้งบริษัท แล้วเริ่มระดมทุนผ่าน Kickstarter ในปี 2013 โดย Oculus ตั้งเป้าการระดมทุนไว้ที่ 250,000 ดอลลาร์ เมื่อเปิดให้ระดมทุน ยอดเงินทะลุเป้าภายในไม่กี่ชั่วโมง และยอดเงินสุดท้ายจบลงที่ 2,437,429 ดอลลาร์ (มากกว่าเป้าเกือบ 10 เท่า) กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของ Kickstarter ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
หลังจาก Oculus ระดมทุนครั้งใหญ่ได้ราวครึ่งปี เราก็เห็นข่าวดังระดับโลกเมื่อ Facebook ประกาศซื้อกิจการ Oculus VR มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2014 โดย Mark Zuckerberg ใช้เวลาตัดสินใจเพียง 5 วันเท่านั้น หลังจากนั้น Oculus VR ที่ถือเป็นบริษัทลูกของ facebook ไปแล้วก็ออกแว่น Oculus Rift รุ่นต้นแบบมาอีกหลายรุ่น จนในที่สุดก็ออกรุ่นสำหรับวางขายจริงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะลงหน้าร้านจริงๆ เมื่อไม่นานนี้เอง
ชุดของ Oculus Rift ฉบับขายจริงนั้นประกอบด้วยตัวแว่นที่มีความละเอียด 2160 x 1200 พิกเซล เปลี่ยนภาพด้วยอัตรา 90 ภาพต่อวินาที และหูฟังที่ให้เสียง 3 มิติรอบทิศทางในตัวแว่น นอกจากนี้ยังมีตัว Constellation หรืออุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะ ทำให้ผู้เล่นสามารถขยับตัวไปมาในโลกเสมือนโดยที่ภาพก็จะเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนที่ของศีรษะด้วย และในส่วนของการควบคุมก็มีจอย XBOX One มาให้ แต่ถ้าต้องการสัมผัสประสบการณ์โลก VR จริงๆ คงต้องรอจนกว่าจอย Touch จะออก
Oculus Rift จึงเป็นเหมือนสะพานที่เปิดผู้คนทั่วโลกให้กลับมาสนใจเทคโนโลยี VR อีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี VR หลายอย่างที่กลับมาบูมในช่วงนี้
Google Cardboard, Gear VR
หลังจากที่ Oculus Rift ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน Kickstarter ในปี 2012 กระแสของ VR ก็เริ่มมีมากขึ้น Google จึงออก Cardboard แว่นตากระดาษที่ใส่สมาร์ทโฟนลงไปเป็นจอภาพและหน่วยประมวลผล ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน Google I/O 2014 ด้วยความที่มันเป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูก ตกอันละไม่กี่ร้อยบาท และเปิดแบบแพลตพร้อม API ให้นักพัฒนาภายนอกสามารถพัฒนาต่อได้ เมื่อต้นปี 2016 Google ได้ประกาศว่าส่งมอบ Cardboard ไปมากกว่า 5 ล้านชิ้นแล้ว และมีแอปที่รองรับทั้งบน iOS และ android มากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งถือว่า Cardboard ประสบความสำเร็จมากในการพาโลก VR ระดับเริ่มต้นไปสู่คนทั่วโลก
ในฝากฝั่งของ Samsung ก็ได้จับมือกับ Oculus เพื่อพัฒนา Gear VR แว่นตาที่ใช้มือถือ Samsung Galaxy แทนจอและหน่วยประมวลผล โดยออกรุ่นสำหรับนักพัฒนาในเดือนธันวาคม 2014 และออกรุ่นขายจริง ใช้งานกับ Galaxy ตระกูล S6 และ S7 เมื่อปลายปี 2015 ซึ่งโดยหลักการทำงานแล้วก็เหมือนกับ Google Cardboard แต่เพิ่มฮาร์ดแวร์พิเศษเข้าไปในแว่น ทำให้ตรวจสอบการหมุนของศีรษะได้ดีขึ้น และได้ซอฟต์แวร์จาก Oculus มาช่วยเสริม แต่อย่างไรก็ตามทั้ง Google Cardboard และ Samsung Gear VR ก็ยังไม่สามารถให้ประสบการณ์การอยู่ในโลกเสมือนได้เทียบเท่า Oculus Rift เพราะไม่สามารถปรับภาพตามตำแหน่งของศีรษะได้
HTC Vive คู่ปรับของ Oculus Rift
ในระหว่างที่ Oculus Rift กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก เหล่าเกมเมอร์ต่างเทใจหยอดกระปุกรอวันจำหน่ายของ Rift แต่แล้วโลกก็ส่งคู่แข่งฟ้าประทานของ Oculus ออกมา นั้นคือ HTC Vive จากอดีตค่ายมือถือชื่อดัง
โปรเจกของ Vive เริ่มต้นขึ้นจาก Valve ค่ายเกมที่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่อะไร แต่เป็นเจ้าของร้านเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Steam ได้เริ่มต้นพัฒนาแว่น VR ของตัวเองในปี 2014 (หลังจากที่ Oculus Rift บูมนั้นแหละ) แล้วอยู่ๆ ในปี 2015 โปรเจกแว่น VR ของ Valve ก็แปลงร่างเป็นโครงการร่วมกันกับ HTC และเปิดตัว Vive ในงาน Mobile World Congress 2015 ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่าว้าวอะไร จนเมื่อมันออกวางขายก่อน Oculus Rift แถมยังให้ประสบการณ์การเล่นที่ดีกว่า Rift อีก เรียกว่างานนี้ HTC และ Valve ทำการบ้านมาดีจริงๆ
ตัวแว่นของ Vive นั้นมีสเปกใกล้เคียงกับ Rift คือใช้จอความละเอียดเท่ากัน เคลื่อนไหว 90 Hz เหมือนกัน ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเล่นสเปกโหดเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างคือตัวแว่นของ Vive นั้นประกอบด้วยเซนเซอร์หลากหลายตัว แถมยังมีกล้องอยู่ด้านหน้าแว่นอีก ทำให้ระบบสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวภายนอก หรือส่งภาพมาให้คนเล่นชมระหว่างสวมแว่นก็ได้ นอกจาก HTC Vive ยังมาพร้อมเซนเซอร์ที่ชื่อว่า Lighthouse 2 ตัวในชุด ที่แม้จะติดตั้งยากหน่อย แทบจะต้องเจาะฝาบ้านเพื่อวางเซนเซอร์ในตำแหน่งสูง 2 เมตรทั้ง 2 ตัว แต่ก็ทำให้ HTC Vive ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่นในระดับห้อง ผู้เล่นสามารถเดินไปมาในพื้นที่ของเกมได้ ซึ่งกว้างกว่าพื้นที่ของ Oculus Rift
ทีเด็ดของ Vive คือจอยเกมแบบถือ 2 ชิ้นที่ทำหน้าที่แทนมือของเราในเกมเลย ทำให้โลก VR ของ Vive นั้นสมบูรณ์กว่า Oculus Rift ที่ต้องใช้จอย Xbox One ควบคุม หรือต้องซื้อชุดจอย Touch มาเสริมเมื่อมันวางจำหน่าย
ชั่วโมงนี้คงต้องบอกว่า ถ้ารักการเล่นเกม PC ฝั่ง HTC Vive ดูจะมีภาษีดีกว่า Oculus Rift เสียอีก
PlayStation VR ผลิตภัณฑ์เพื่อคอนซูเมอร์ของจริง
จุดอ่อนสำคัญของ Oculus Rift และ HTC Vive คือนอกจากตัวแว่นจะแพง 2-3 หมื่นบาทแล้ว ยังต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับเกมเมอร์เพื่อเล่นอีกด้วย (ราคามักไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท) ทำให้ผู้ที่จะเล่นได้ต้องมีเงินถุงเงินถังอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้เรามีทางออกที่ราคาประหยัดกว่า และยังได้คุณภาพที่ดีด้วย นั่นคือ PlayStation VR
ก่อนหน้าที่จะเป็น PlayStation VR โครงการนี้มีชื่อว่า Project Morpheus เปิดตัวครั้งแรกในงาน Game Developers Conference 2014 ซึ่งโซนี่บอกว่าพัฒนามานานกว่า 3 ปีแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น PlayStation VR ในปี 2015 และจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2016 นี้
PlayStation VR นั้นรวมส่วนประกอบหลายอย่างที่ Sony เคยออกให้เครื่อง PlayStation มาก่อน ทั้งการตรวจจับการเคลื่อนไหวก็ใช้ PlayStation Camera และจอยเกมก็ยังมี PlayStation Move ที่เคยออกมาตั้งแต่สมัย PlayStation 3 ทำให้ได้ระบบที่ราคาไม่สูงนัก ผู้เล่นที่มีเครื่อง PlayStation 4 หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็สามารถซื้อแค่ตัวแว่นราคา 17,490 บาท แทนที่จะต้องซื้อพร้อมชุดกล้องที่ราคา 18,990 บาทได้ ซึ่งเมื่อรวมกับราคาของ PlayStation 4 ราคาราว 14,000 บาทก็ยังถูกกว่าชุดคอมพิวเตอร์เยอะ
จุดเด่นอีกอย่างของ PlayStation VR คือมีเกมรองรับมากพอสมควร ด้วยชื่อชั้นค่ายเกมอย่าง Sony ทำให้มีเกมดังๆ อย่าง Resident Evil 7, Tomb Raider, Star Wars สนับสนุนอุปกรณ์นี้ด้วย
ตอนนี้คุณพร้อมลุยโลกเสมือนแล้วหรือยัง