หลังจากที่ AMD ได้มีการอัปเดตข้อมูลคร่าว ๆ ให้แฟน ๆ ตื่นเต้นกันเล่น ๆ กับ Ryzen 7000 Series รุ่นสำหรับ Desktop ที่มาพร้อมสถาปัตยกรรม ZEN 4 และ Socket ใหม่ AM5 (จากเดิมที่ใช้ AM4 มาอย่างเนิ่นนาน) ที่จะเผยข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้งในวันที่ 29 สิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่สำหรับบน ‘โน้ตบุ๊ก’ แน่นอนว่าเรายังคงจะได้เจอกับ 6000 Series ที่หลายคนน่าจะมีคำถามเกิดขึ้นในหัวว่าในเวลานี้ยังเวิร์กอยู่เหรอ? หรือแม้แต่จะสู้อีกเจ้าได้ไหม? เอาเป็นว่าผู้เขียนจะไม่ฟันธงว่าแพ้หรือชนะ แต่จะให้บทความนี้ที่เป็นการรวบรวมการทดสอบหลากหลายอย่าง มาแชร์เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจละกันนะครับ

โน้ตบุ๊กที่ผู้เขียนใช้ทดสอบคือ Lenovo Legion 5 ที่จะขอพูดถึงตัวแปรหลัก ๆ เพียงเดียวละกันนะครับ เริ่มจากซีพียูแน่นอนว่าต้องเป็น AMD โดยมาในรุ่น Ryzen 7 6800H (8 คอร์ 16 เทรด ความเร็ว 3.2GHz ดันได้สูงสุด 4.7GHz), ทางด้านการ์ดจอใช้เป็น Nvidia GeForce RTX3060, RAM 16GB DDR5, หน่วยความจำ SSD M.2 512GB และระบบปฎิบัติการ Windows 11 ซึ่งหากว่ากันตามตรง ด้านสเปกค่อนข้างเกื้อหนุนด้านความแรงมาก ๆ (และถ้าว่ากันตามตรงอีกต่อหนึ่ง Lenovo Legion 5 ก็เป็นรุ่นที่ใครหลายคนน่าจะถูกอกถูกใจ)
ทดสอบการเล่นเกม

เริ่มต้นกับการเทสต์ด้วย Horizon Zero Dawn Complete Edition อดีตเกมเอ็กซ์คลูซีฟบน PlayStation 4 ที่ในตอนนี้ตัวเกมมีการ Optimize ออกมาได้ดีต่างจากช่วงแรก แต่ด้วยความที่เกมแนว Open World สามารถใช้ในการทดสอบพลังของซีพียูได้ เพราะโมเดลจำนวนมากต้องถูกเรนเดอร์พร้อม ๆ กัน ซึ่งผู้เขียนก็ตั้งค่าอัตราส่วนภาพสูงสุดเท่าที่หน้าจอของ Lenovo Legion 5 รุ่นนี้จะทำได้คือ 2K (2560 x 1440) พร้อมเลือก Preset กราฟิกให้เป็น Ultra และเสียบอแดปเตอร์ชาร์จอยู่ ผลลัพธ์นั้นก็ไม่น่าจะเกิดความคาดหมาย ผ่านฉลุยแหละครับ เฟรมเรตนั้นจะวิ่งเกิน 60 FPS ในขณะที่ Thread ของแต่ละ Core ก็จะไม่เกิน 70% ซึ่งถือว่ามีการแบ่งหน้าที่ทำงานได้ดี





ถัดมากับ Resident Evil Village ที่เซ็ตอัปกราฟิกคล้าย ๆ เกมก่อนหน้านี้ครับ อัตราส่วนภาพ 2K และก็ตั้งค่ากราฟิกด้วย Preset ระดับ Ultra ที่ตัวเกมมีให้เลือก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกินหลอดการใช้งานแรมของการ์ดจอมาประมาณหนึ่ง

ผลลัพธ์นั้นก็ยังทำได้ดีอยู่ครับ ทำเฟรมเรตไปได้เกิน 60 FPS และมีการกระจายการทำงานของซีพียูแต่ละคอร์ที่ดีไม่มี Thread ไหนทำเปอร์เซ็นต์เกิน 70% แต่สำหรับเกมนี้ผู้เขียนคิดว่าฉากที่ใช้ในการทดสอบทั้งสองน่าจะไม่ได้เรนเดอร์อะไรมากมายเท่าไหร่ แถมอันหลังที่เป็นคัตซีนที่แม้จะเป็นภาพที่นำเสนอแบบเรียลไทม์แต่ก็แอบมีแวะไปพรีเรนเดอร์อยู่






ถัดมาเป็น Metro Exodus: Enhance Edition เกมที่พร้อมจะชาเลนจ์พีซีและโน้ตบุ๊กสเปกโหด ๆ เพราะในเวอร์ชันนี้เป็นการอัปเกรดตัวเกมให้ฟีเจอร์ด้านกราฟิกต่าง ๆ โดยหนึ่งในความเก๋าเลยคือฟีเจอร์ Ray-tracing ที่ตัวเกมไม่มีให้ปิดฟีเจอร์นี้ เช่นเดิม ผู้เขียนยังคงตั้งค่าอัตราส่วนเป็น 2K เลือก Preset กราฟิกของเกมเป็น Ultra โดยผลลัพธ์ที่ออกมาเฟรมเรตจะรันอยู่ที่ราว ๆ 30 – 35 FPS ในฉากคัตซีนที่รันแบบเรียลไทม์ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่ามีบาง Thread พุ่งไปถึง 90%

ส่วนเกมสุดท้ายที่เลือกมาเทสต์คือ Valorant ที่ผู้เขียนลองแกงตัวเครื่องดูด้วยการปิดการ์ดจอแยก (จะเห็นได้ว่า GPU2 ที่ไม่มีอุณหภูมิและไม่ได้กินกำลังไฟเลย) แล้วสลับไปใช้การ์ดจอออนบอร์ดของเครื่องแทน เหมือนเดิมครับ ปรับความละเอียดภาพไว้ที่ 2K ตั้งค่ากราฟิกทุกอย่างไว้ในระดับสูงสุด ซึ่งผลลัพธ์ถือว่าน่าประทับใจที่สุดในบรรดาทุกเกมที่เทสต์ เพราะทำเฟรมเรตได้เกิน 60 FPS กลายเป็นเสถียรที่ 100 FPS (มีขึ้น – ลงกว่านี้ก็จริง แต่จำนวนเฟรมเรตที่ทำได้มันเกิดนสายตาคนปกติจะสังเกตเห็นละ) แต่ทั้งนี้ผู้เขียนว่าส่วนหนึ่ง Valorant ไม่ได้เป็นเกมที่กินสเปกอะไรสักเท่าไหร่โดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ยังน่าชื่นชมอยู่ดีที่การ์ดจอออนบอร์ดสามารถรันเกมได้ลื่นไหล
ทดสอบผ่านโปรแกรม Benchmark ต่าง ๆ

Lenovo Legion 5 เป็นโน้ตบุ๊กที่ชูโรงด้านการเล่นเกมก็จริง แต่สำหรับการทดสอบ AMD Ryzen 6000 Series ไลน์อัปสำหรับโน้ตบุ๊กของทาง AMD นี้กลับยกจุดเด่นอีกเรื่องถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นเรามาลองดูผลการทดสอบผ่านโปรแกรม Benchmark ต่าง ๆ กันครับว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ โดยโปรแกรมแรกที่ผู้เขียนขอเลือกลอง ก็คือ Cinebench R23 ที่ไว้ใช้สำหรับเทสต์ซีพียูโดยเฉพาะ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา Multi Core นั้นทำได้ที่ 13,176 คะแนน ซึ่งหากดูจากที่ตัวโปรแกรมนำไปเปรียบเทียบกับซีพียูรุ่นอื่นก็จะเห็นได้ว่าอยู่ในอันดับ 2 เป็นรองของค่ายคู่กัดตลอดมา Intel Core i7 -1165G7 Clock Speed 2.81 Ghz ในรุ่นที่กินไฟ 28 วัตต์ และเฉือนชนะรุ่นเดียวกันนี้ในอันดับที่ 3 ที่เป็นรุ่นกินไฟ 15 วัตต์ และมี Clock Speed 1.69 Ghz

ต่อไปกับการรันบน PCMark10 ที่ก็ทำภาพรวมไปได้ที่ 6,507 คะแนน โดยหากแยกย่อยคะแนนที่น่าสนใจการทดสอบแต่ละหมวดหมู่ออกมาจะพบว่าความเร็วในการเปิดแอป (App Start-up Score) บรรดาแอปจำลองต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาในการเปิดอยู่ที่ราว ๆ 0.5 – 3 วินาที, ในหมวดหมู่ Digital Content Creation การจำลองเอกพอร์ตไฟล์ PNG ใช้เวลา 12.458 วินาที ในขณะที่ไฟล์เล็กลงมาอย่าง JPEG อยู่ที่ 1.160 วินาที ส่วนทางด้านการเรนเดอร์และการวิเคราะห์ภาพ (ทำนองโปรแกรมปั้นงาน 3 มิติ) อยู่ที่ 12,012 คะแนน และแยกย่อยมาอีกหน่อยคือการเรนเดอร์งานกราฟิกที่สามารถทำเฟรมเรตได้ที่ 215.77 FPS

ปิดท้ายกับ Pass Mark โดยหมวดหมู่ที่เราเทสต์ก็คือ CPU Mark ที่ทำภาพรวมอยู่ที่ 24861 คะแนน ซึ่งจัดอันดับจากทั่วโลกจะอยู่ที่ 88% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่เลวเลยละครับ
สรุป

ต้องยอมรับว่า Intel ในเจเนอเรชันที่ 12 แก้เกมได้ดีและเข็นโปรดักต์ที่ทรงพลังออกมา แต่ AMD Ryzen 6000 Series หรือเจาะจงเข้ามาหน่อยคือ Ryzen 7 6800H (High-performance Mobile) ยังถือว่าเป็นซีพียูที่อยู่ในลิสต์อันดับแรก ๆ ที่น่าไว้พิจารณาอยู่ครับ เพราะนอกจากที่จะเล่นเกมได้มีประสิทธิภาพ คะแนนของการทำงานแบบ Multi Core จากหลาย ๆ เกมหรือโปรแกรมที่ใช้เทสต์ในบทความนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีความสามารถในการนำไปใช้งานประเภทการเรนเดอร์หรือแสดงผล Object ในโปรแกรมต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ซึ่งการเลือกซื้อโน้ตบุ๊ก ณ ตอนนี้ซีพียูจากทาง AMD ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส