โลกของ AI นั้นหมุนเร็วกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มี AI ที่ชื่อ ChatGPT – AI ที่สามารถตอบคำถามเราได้หลายอย่างมาก ๆ ตั้งแต่ให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ, คิดเลข, ตอบคำถามต่อเนื่องจากคำถามก่อนหน้า ไปจนถึงให้ทำอะไรยาก ๆ ตั้งแต่ออกไอเดียเบื้องต้น, เขียนเนื้อหาให้, คิดโฆษณา, บทหนังสั้น ไปจนถึงการเขียนโค้ด แก้จุดที่ผิดพลาดในโค้ด และอื่น ๆ เท่าที่เราจะถามได้ พอมันทำได้หลายอย่างมากขนาดนี้ ยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ว่าตอนนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ AI กำลังจะมาแทนที่มนุษย์ ?
ChatGPT คืออะไร ?
ก่อนที่เราจะลงลึกเรื่องของ ChatGPT กับอนาคตของ AI เราไปทำความรู้จักกับ ChatGPT กันก่อน
“สวัสดี ! เราคือผู้ช่วย และเราคือโมเดลภาษา (Language Model – การใช้สถิติและความน่าจะเป็น เพื่อวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของคำที่จะใส่ต่อไปในประโยค โดยวิเคราะห์จากเนื้อความของบริบทเพื่อจะทำนายคำถัดไป) ขนาดใหญ่ ที่ถูกฝึกมาโดย OpenAI เราคือโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลและตอบคำถามในหัวข้อต่างๆ ที่หลากหลาย เราไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวหรืออารมณ์หรอก แต่เราสามารถใช้ความรู้และความเข้าใจด้านภาษาเพื่อสื่อสารกับผู้คน รวมถึงช่วยค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการได้ ดังนั้น ถ้าคุณมีคำถามใด ๆ ละก็ ถามมาได้เลย และเราจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วย !”
ย่อหน้าก่อนหน้านี้คือสิ่งที่ ChatGPT ตอบมา เมื่อเราได้ถาม ChatGPT ว่า “ช่วยแนะนำตัวเองอย่างง่าย ๆ และจบภายใน 1 ย่อหน้าได้ไหม?” โดยเราทำเพียงแค่แปลความหมายที่เขาต้องการจะสื่อเท่านั้น !
ตามที่ ChatGPT ว่าไว้เลย ว่าตัว ChatGPT นั้นถูกฝึกมาโดย OpenAI ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ได้ศึกษา และพัฒนา AI ที่เป็นมิตร (เน้นเป็น AI ที่เป็นประโยชน์ และไม่คุกคามมนุษย์แบบเรา ๆ) ก่อตั้งขึ้นมาจากเงินลงทุนของ Elon Musk, Sam Altman และผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผลงานที่ออกมา ได้เป็นสมบัติของมนุษย์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ (ตามนิยามคำว่า Open ของ OpenAI นั่นเอง)
ซึ่ง OpenAI ก็ได้ออก AI มาหลากหลายตัว และได้สร้างความฮือฮามาให้เรา ๆ ได้เจอกันมาเยอะแล้วด้วย อย่างเช่น DALL-E 2 – AI ที่สามารถสร้างภาพที่ดูสมจริง หรือออกภาพวาดตามประโยคที่เราใส่เข้าไป และภาพที่ออกมาก็จะออกมาเหมือนกับที่เราเขียนมาก ๆ อีกด้วย
อีกอย่างที่ OpenAI ได้ทำออกมาก็คือ OpenAI Gym ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนา AI ที่ใช้งานง่าย ที่ทำไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะนำ AI ไปใช้ในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต รวมไปถึง OpenAI Five บอทสำหรับเล่นเกม Dota 2 เกมแนว MOBA ที่ฝึกให้ AI เล่น Dota 2 เป็นล้าน ๆ แมตช์ เพื่อให้บอทสามารถแข่งกับมนุษย์ได้อย่างเก่งที่สุดด้วย
และ ChatGPT ก็คือผลงานชิ้นล่าสุดที่ Open AI ได้สร้างขึ้นมานั่นเอง
ChatGPT ทำอะไรได้บ้าง ?
แล้ว ChatGPT ทำอะไรได้บ้างล่ะ ? สิ่งที่ ChatGPT ทำได้นั้นจะอยู่ในรูปแบบของการถาม – ตอบ ที่ให้อารมณ์เหมือนการพูดคุย (แชต สมชื่อ ChatGPT นี่แหละ) และ ChatGPT ก็จะบอกคำตอบมาให้ในรูปแบบการแชตเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเราเริ่มเข้าไปใช้งานผ่านเว็บไซต์ของ OpenAI แล้ว ก็จะได้รับคำแนะนำมาดังนี้เลย
ข้อความนี้มีขึ้นเพื่อแนะนำคนที่มาครั้งแรก ว่าเราสามารถถามอะไรเจ้า ChatGPT นี้ได้บ้าง อย่างเช่นให้อธิบายควอนตัมฟิสิกส์แบบง่าย ๆ, แนะนำให้ออกไอเดียสำหรับการจัดงานวันเกิด, หรือขอให้สอนเขียนโค้ดเว็บไซต์ก็ทำได้ ! โดย AI นี้สามารถจดจำสิ่งที่คุยไว้ก่อนหน้า, ให้ผู้ใช้แก้ไขสิ่งที่ AI ตอบมาได้ และถูกฝึกให้ปฏิเสธคำขอที่ไม่เหมาะสมด้วย
แต่ในขณะเดียวกันก็บอกถึงข้อจำกัดของ AI เอาไว้ด้วย อย่างเช่น ข้อมูลที่ตอบมานี้อาจจะมีข้อผิดพลาดได้, อาจจะให้ข้อมูลที่เข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง หรืออาจจะให้ข้อมูลที่อันตรายได้ และข้อมูลที่แสดงออกมาได้นั้นจะไม่ใหม่กว่าข้อมูลในปี 2021 อีกด้วย
ทีนี้เราลองถามอะไร ChatGPT กันบ้างดีกว่า
เราได้ลองให้ ChatGPT เล่าให้ฟังว่า ‘คอมพิวเตอร์คืออะไร ขอแบบง่าย ๆ’ และขอให้ ChatGPT สรุปมาให้อ่านเหลือแค่ย่อหน้าเดียว ตัว ChatGPT ก็สรุปให้อ่านเลย แถมยังอธิบายหลักการทำงานให้แบบง่าย ๆ ได้อีกด้วย (ลองอ่านแบบเต็มในภาพข้างบนดูได้นะ)
นอกจากนั้นเรายังสามารถให้ ChatGPT ช่วยเขียนโค้ดให้เราได้จริง ๆ เช่นถ้าเราให้ ChatGPT เขียนโค้ดเว็บไซต์ที่มีดีไซน์ Responsive (เพิ่มลดขนาดหน้าเว็บตามขนาดหน้าจอ) ChatGPT ก็จะเขียนหน้าเว็บอย่างง่ายมาให้ได้ด้วยนะ !
สามารถดูตัวอย่างโค้ดที่ ChatGPT เขียนได้ที่นี่เลย
ChatGPT จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์แล้วหรอ ?
สิ่งที่ ChatGPT ทำได้นั้นต้องบอกว่าน่าทึ่งมากจริง ๆ โดยเฉพาะในมุมของคนทำงาน เพราะหลาย ๆ คนก็คงจะเริ่มตั้งคำถามว่า แล้ว AI ที่สามารถตอบคำถามได้เยอะขนาดนี้ คนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิด ไม่กลายเป็นว่าจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ไปจนหมดหรอ ?
ต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า แม้ AI จะสามารถตอบคำถามเราได้หลายอย่างมาก ๆ ไม่ว่าเราจะให้ทำอะไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ChatGPT นั้นจะวิเคราะห์ข้อมูลเก่าจากที่มนุษย์ได้ทำการคิด และลงมือทำไปแล้ว อย่างเช่นถ้าเราให้ ChatGPT เขียนโค้ดให้ ตัว AI ก็จะนำเอาข้อมูลที่คนเคยเขียนโค้ดมา หรืออาจจะเคยสอนให้เขียนโค้ดมาเพื่อลงไว้เป็นตัวอย่างให้เราได้นำไปศึกษาต่อ ซึ่งนั่นแปลว่า โค้ดที่ ChatGPT เขียนขึ้นมาให้ก็จะมาจากที่เราได้ทำเอาไว้ก่อนแล้วนั่นเอง
แต่ไหน ๆ พูดถึงการเขียนโค้ดแล้ว ที่ยังมีปัญหาคือสิ่งที่ ChatGPT เขียนเว็บขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าเกิดว่าโค้ดของเว็บไซต์ หรือโปรแกรมที่เราให้ตัว ChatGPT เขียน มันยาวกว่าปกติ ตัวโค้ดจะถูกตัดหายไปด้วย !
นอกจากนั้น ถ้าเราให้ ChatGPT ตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นถ้าเราถามว่า iOS หรือ Android ดีกว่ากัน ตัว ChatGPT จะให้คำตอบที่เป็นกลางกลับมาด้วยคำตอบที่ว่า “ตัดสินใจไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วนี่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล” ซึ่งคาดว่าจะมีผลมาจากการที่ ChatGPT ไม่อยากเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่งก็ได้
ดังนั้นแล้ว ในความเห็นของเราจึงมองว่า การที่มี ChatGPT ขึ้นมานั้น เราอยากให้มองตัว AI นี้เป็นเหมือนเครื่องมือในการทำงาน มากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่จะเข้ามาแทนมนุษย์ได้ เพราะอย่าลืมว่า สิ่งที่ ChatGPT เขียนขึ้นมานั้น เกิดจากการรวบรวมข้อมูลของมนุษย์ที่เคยสร้างขึ้นมาแล้ว และนำมาสรุป หรือวิเคราะห์ หรือนำมาเรียบเรียงใหม่เท่านั้น
อยากให้ลองดูตัวอย่างนี้ของเรา ที่ได้ถาม ChatGPT เรื่องการเขียนโค้ดโปรแกรม C++ โดยมีการโต้ตอบให้เพิ่มเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ โค้ดที่ได้ก็จะออกมาตรงความต้องการเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ด้วย ! แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิศวกรที่เขียนโค้ดจะตกงานเพราะ AI เขียนโค้ดให้แทนหมดนะ ! เพราะถ้าลองอ่านบทสนทนาดู จะเห็นว่าเราต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดในการสอบถามไปที่ ChatGPT ด้วย ไม่งั้นตัว ChatGPT ก็ไม่อาจจะให้ข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของเราทั้งหมดได้
อีกอย่างนึงที่ AI จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นได้ ก็คือการใช้ AI ในการเขียนตำรา อย่างที่หมอจิมมี่ (นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน) เกี่ยวกับการเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ WordPress ฉบับ ChatGPT เขียน หมอจิมมี่ เรียบเรียง ได้ลงเอาไว้ในโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา ที่แม้เขาจะมองว่า การเข้ามาของ ChatGPT อาจจะทำให้เราตกงานได้ แต่หมอเองก็เคยพูดถึงเรื่องการใช้ ChatGPT ไว้เหมือนกันว่า
“แน่นอนว่าบางอย่างมันก็ไม่รู้ บางอย่างมันก็ผิด บางอย่างมันก็มั่ว แต่มันก็เหมือนมีเพื่อน 57 คนที่รู้มากกว่าเราคอยตอบคำถามเราทุกเวลาที่เราต้องการ การทำงานลื่นไหลมาก”
หมอจิมมี่ – ภาณุทัต เตชะเสน (ผ่านโพสต์นี้)
ดังนั้น มุมมองของเราต่อ ChatGPT จึงเป็นเหมือนตัวช่วยในการทำงานมากกว่า ทำให้สิ่งที่ควรระวังมากกว่าการแทนที่ของ AI ในการทำงาน คือ เราควรกลัวคนที่นำ AI ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด มากกว่า เพราะงั้นใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว เราอยากแนะนำให้ทำความคุ้นเคยกับ AI ตัวนี้เอาไว้ และนำ AI นี้มาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นจะดีกว่านะ !
สุดท้ายนี้ ในบทความนี้ทั้งบทความ เรามีอีกจุดนึงที่ได้ใช้ AI ในการช่วยเขียนบทความนี้อยู่ แต่มันคืออะไรกันนะ ?
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส