ในช่วงที่ผ่านมา TikTok แพลตฟอร์มสัญชาติจีน เผชิญการปิดกั้นจากหลายประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ออกมาตรการห้ามใช้งาน TikTok บนอุปกรณ์ของรัฐ รวมถึงการห้ามไม่ให้มีบัญชีทางการของเจ้าหน้าที่รัฐบนแพลตฟอร์ม
การแบน TikTok ลามไปถึงประเทศอื่น ๆ อย่าง แคนาดาและไต้หวัน ที่ออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ที่ก็กำลังหารือแนวทางการแบน TikTok เช่นกัน ซึ่งกระแสต่อต้าน TikTok จากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศมีมากขึ้นทุกวัน
แต่ที่หนักหน่วงที่สุดเห็นทีจะเป็นอินเดียที่แบน TikTok ตั้งแต่ปี 2020 และเป็นการแบนชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน ควบคุมไปยังประชาชนด้วย ไม่เฉพาะแต่ในอุปกรณ์ของรัฐเท่านั้น
เพราะเหตุใดแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอย่างผู้คนกว่า 1,000 ล้านคนจากทั่วโลกถึงตกเป็นเป้าจากรัฐบาลทั่วโลก
ทำไมถึงแบน TikTok
ประเด็นหลักที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้เหตุผลในการแบน TikTok ก็คือข้อห่วงกังวลด้านความปลอดภัย สำคัญที่สุดคือความกลัวว่า TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของจีน จะส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนอาจสามารถเข้าถึงหลังบ้านของ TikTok เพื่อไปควบคุมอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มได้
อัลกอริทึมก็คือเครื่องมือในการคัดเลือกเนื้อหาให้ผู้ใช้งานรับชม โดยกรณีของ TikTok จะวิเคราะห์จากประเภทเนื้อหาที่ผู้ใช้ชื่นชอบ
คริสโทเฟอร์ เรย์ (Christopher Wray) ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (FBI) เคยถึงขั้นออกมาแสดงความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะใช้ข้อมูลที่ TikTok เก็บจากผู้ใช้งานไปเป็นอาวุธทางไซเบอร์เพื่อนำมาโจมตีรัฐบาลสหรัฐฯ เลยทีเดียว
สื่อฝั่งตะวันตกหลายสำนักก็เคยออกมารายงานว่าจีนใช้ TikTokในการสอดแนมชาวอเมริกัน โดยใช้ข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้ที่อยู่ในแอป
ข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ
บริษัทเทคโนโลยีจีนต้องส่งข้อมูลให้รัฐบาล
จีนมีมาตรการทางกฎหมายหลายอย่างที่ควบคุมการจัดการข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี โดยอ้างเหตุการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงของประชาชน
อย่างแรกคือกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (CSL) ที่ใช้บังคับในปี 2017 ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจีนสามารถเรียกข้อมูลจากบริษัทต่าง ๆ ได้ หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนิยามกว้างขวาง
ต่อมาคือมาตรการบังคับการส่งข้อมูลอัลกอริทึม ซึ่งเป็นเครื่องมือเลือกเนื้อหาให้ผู้ใช้รับชม และเป็นสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ มักจะเก็บเป็นความลับ ไปให้รัฐบาล
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สำนักงานไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) เคยออกมาตรการที่บังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องส่งรายละเอียดของอัลกอริทึมที่แต่ละบริษัทใช้กับลูกค้าให้รัฐบาล ซึ่ง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยอมส่งข้อมูลที่ว่านั้น
จีนยังมีมาตรการ ‘Golden Share’ ที่บังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องยอมให้รัฐบาลเข้าถือหุ้น โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่ง ByteDance เคยให้รัฐบาลเข้ามาถือหุ้นในบริษัทลูกของตัวเองที่อยู่ในจีนเมื่อปี 2019
พฤติกรรมน่าสงสัยของ TikTok
นอกจากเนื้อหาในกฎหมายแล้ว ทาง TikTok เองยังเคยออกมาเผยรายละเอียดการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายบนแพลตฟอร์มเอง
โดยออกมาระบุในเดือนตุลาคมว่าไม่มีการเก็บข้อมูลที่อยู่ GPS จากผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาเอาไว้ เป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ
แต่นโยบายความเป็นส่วนตัวของแพลตฟอร์ม ระบุว่า TikTok เก็บข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลที่มาจากซิมการ์ด ที่อยู่ IP และข้อมูลที่อยู่ GPS โดยอัตโนมัติ
ยิ่งกว่านั้น ByteDance ยังเคยออกมายอมรับว่า TikTok เคยสอดแนมความเคลื่อนไหวของนักข่าวในสหรัฐฯ เพื่อดูว่าพนักงานของตัวเองให้ข้อมูลภายในบริษัทกับนักข่าวเหล่านี้หรือไม่
แม้ต่อมาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกไล่ออก และบริษัทออกมาขอโทษแล้ว แต่ความเป็นจริงที่ว่าบริษัทเคยปล่อยให้มีการสอดแนมยังคงเป็นสิ่งที่ไปเสริมความหวาดระแวงของประเทศต่าง ๆ
ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับจีน
นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่ากระแสการแบน TikTok ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และโลกตะวันตก กับจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ความกังวลที่ว่าข้อมูลของประชาชนในประเทศจะตกไปอยู่ในมือของประเทศศัตรูย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้แน่นอน
ยิ่งในประเทศประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งที่เป็นกำหนดผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศด้วยแล้ว การเข้าควบคุมความคิดเห็นของประชาชนผ่านการใช้อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียคงเป็นฝันร้ายที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TikTok ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนมาโดยตลอด และย้ำว่าจะปฏิเสธคำขอเข้าถึงข้อมูลจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงยังไม่เคยมีหลักฐานว่า TikTok ส่งข้อมูลไปยังรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จของจีน และมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ควบคุมวงการเทคโนโลยี ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจนักว่าถึงเวลาจริง ๆ TikTok หรือ ByteDance จะสามารถปฏิเสธคำขอได้จริง
ประชาชนอาจถูกห้ามใช้ TikTok
แม้การแบน TikTok ในหลายประเทศยังจำกัดวงอยู่เฉพาะอุปกรณ์ในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรต่าง ๆ เท่านั้น แต่ก็ส่อแววขยายวงไปถึงการห้ามประชาชนทั่วไปใช้ TikTok ด้วย
บางประเทศ อย่างสหรัฐฯ และไอร์แลนด์ ก็เริ่มมีการหารือและผลักดันเกี่ยวกับการแบน TikTok เป็นการทั่วไปบ้างแล้ว ยังไม่นับรวมถึงอินเดียที่บุกเบิกการห้ามใช้ TikTok ทั่วประเทศไปก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ TikTok เป็นแอปที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและมีทีท่าว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้ว
ทำให้ประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องฟังเสียงประชาชนที่อาจออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายที่ปิดกั้นทางเสรีภาพในการเลือก แม้จะอ้างเรื่องความเสี่ยงในด้านความเป็นส่วนตัวก็ตาม
ที่มา BBC (1), BBC (2), Statista, Independent.ie, Metro News, CNN (1), CNN (2), CNN (3), TikTok, CyberScoop, Reuters, The Guardian, South China Morning Post, NL Times, CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส