คลิปความยาว 1 นาทีเศษที่ ทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณชาวติ๊กต็อกเกอร์ใน TikTok ก่อนวันเลือกตั้ง มีผู้ชมถึง 10 ล้านคน คลิปนี้อยู่ในบัญชีอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกล mfp.official ที่มีผู้ติดตาม 2.8 ล้านบน TikTok และมีคลิปที่มียอดวิวทะลุหลักล้านอีกมากมายนับไม่ถ้วน นั่นน่าจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้พรรค ‘ก้าวไกล’ ก้าวมาไกลได้ขนาดนี้ ขนาดคุณทิมยังให้สัมภาษณ์ว่าได้จำนวนที่นั่งเกินกว่าที่คาดหมายเสียอีก

ขอบคุณทุกคนจากใจครับ🍊🧡 #พรรคก้าวไกล #ก้าวไกล #กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม #คำตอบสุดท้ายก้าวไกลทั้งแผ่นดิน #เลือกตั้ง66 #พิธา #พิธาลิ้มเจริญรัตน์
ขอบคุณทุกคนจากใจครับ🍊🧡 #พรรคก้าวไกล #ก้าวไกล #กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม #คำตอบสุดท้ายก้าวไกลทั้งแผ่นดิน #เลือกตั้ง66 #พิธา #พิธาลิ้มเจริญรัตน์
@mfpthailand

ขอบคุณทุกคนจากใจครับ🍊🧡 #พรรคก้าวไกล #ก้าวไกล #กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม #คำตอบสุดท้ายก้าวไกลทั้งแผ่นดิน #เลือกตั้ง66 #พิธา #พิธาลิ้มเจริญรัตน์

โซเชียลมีเดียมีบทบาทสูงมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือผม (ในฐานะคนอายุ 45 ปี) น่าจะพูดได้ว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากที่สุดของการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรสำหรับพรรคการเมืองที่อ่านเกมนี้ออกอย่างพรรคก้าวไกล หากดูจากข้อมูลของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่มีจำนวน 52.24 ล้านคน แต่หากแบ่งออกเป็นช่วงวัย 5 เจนเนอเรชัน จะออกมาดังนี้

  • กลุ่มเจน Z (เกิดระหว่างพ.ศ. 2547-2548 หรือมีอายุ 18-19 ปี) มีจำนวน 1.09 ล้านคน
  • กลุ่มเจน Y (เกิดระหว่างพ.ศ. 2527-2546 หรือมีอายุ 20-39 ปี) มีจำนวน 17.98 ล้านคน
  • กลุ่มเจน X (เกิดระหว่างพ.ศ. 2506-2526 หรือมีอายุ 40-60 ปี) มีจำนวน 20.88 ล้านคน
  • กลุ่มเจน Baby Boomer (เกิดระหว่างพ.ศ. 2491-2505 มีอายุ 61-75 ปี) มีจำนวน 9.32 ล้านคน
  • กลุ่มเจนก่อน Baby Boomer (เกิดก่อนพ.ศ. 2491 มีอายุมากกว่า 75 ปี) มีจำนวน 2.95 ล้านคน

หากมองจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเจน Z และ Y รวมกันก็มีประมาณ 19 ล้านคนแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน หรือหากจะนับแค่กลุ่ม New Voter หรือกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก อายุ 18-22 ปี มีประมาณ 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.67% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากบวกกับตัวแปรสำคัญก็คือกลุ่มเจน X ที่มีฐานเสียงมากที่สุดคือ 20 ล้านคน และถือว่าเป็นกลุ่มกลางเก่า-กลางใหม่ที่เดาใจยากที่สุด บ้างก็กล้าเปิดรับแนวคิดแบบใหม่ บ้างก็ยังมีความอนุรักษ์นิยม 

กระนั้นก็ตามสองกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z และเจน Y ถือเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มเจน X ที่เป็นวัยกลางคน หากแคมเปญหาเสียงมุ่งเน้นไปบนออนไลน์และกระจายอยู่ในแพลตฟอร์มที่ตรงกลุ่ม ก็น่าจะได้ฐานเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว

พรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน (สมาชิกส่วนใหญ่ย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป) หรือพูดง่าย ๆ คือเกิดมาในยุคโซเชียลมีเดียและเติบโตไปพร้อมกับการสร้างพลังทางสังคมของคนเจน Z และเจน Y ฐานเสียงสำคัญอยู่กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเห็นได้ชัด กลยุทธ์ของพรรคก้าวไกลจึงให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มออนไลน์ค่อนข้างสูง หากใครสังเกตจะเห็นว่าป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกลบนท้องถนนน้อยกว่าพรรคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ทีมพีอาร์หรือผู้ดูแลแพลตฟอร์มต่างๆ ของพรรคก้าวไกลมีบทบาทมากในการสร้างคะแนนเสียง อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ก้าวไกลมีบัญชีอย่างเป็นทางการครบทุกแพลตฟอร์ม” ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ และที่สำคัญคือติ๊กต็อก บัญชีติ๊กตอกของก้าวไกลมีจำนวนผู้ติดตามมากถึง 2.8 ล้าน หากเทียบกับพรรคอื่นๆ ที่มีหลักหมื่นหรือหลักแสนและลงคลิปไม่บ่อยเท่าพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลรู้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่รวมตัวอยู่ในติ๊กต็อก พวกเขาตัดคลิปวิดีโอสั้น ๆ สรุปใจความสำคัญในการหาเสียง ดีเบต สร้างแคมเปญ แม้กระทั่ง “ไลฟ์การปราศรัยในติ๊กต็อก” ขณะที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย อย่างเฟซบุ๊กก็เน้นการให้ข่าวสารข้อมูล ลงภาพ ไลฟ์วิดีโอ ตัดคลิปสั้นจากการออกรายการต่าง ๆ ส่วนยูทูบก็ใช้ลงคลิปยาวและไลฟ์ (ที่น่าชื่นชมคือมีการใช้ภาษามือให้กับคนหูหนวกด้วย)

จากข้อมูลของไทยพีบีเอสที่รวบรวมพรรคการเมืองที่ “ยิงแอด” ในการหาเสียงบนเฟซบุ๊กมากที่สุด ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้งบเลยสักบาทเดียว

พรรคก้าวไกลยังใช้วิธีหาเสียงและเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกลุ่มหัวคะแนนธรรมชาติ ที่ตัดคลิปสั้นหรือทำแคมเปญต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียขึ้นมาเองด้วยใจ รวมไปถึงการใช้สีส้มเป็น CI (Corporate Identity) หรืออัตลักษณ์ขององค์กรจนกลายเป็นเครื่องหมายสำคัญของพรรค หากเทียบกับพรรคอื่นที่สีค่อนข้างซ้ำกัน

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเผยว่าการเลือกตั้งปีนี้ยังมีผู้ไปใช้สิทธิทั้งสิ้น 39.29 ล้านคน คิดเป็น 75.22% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนแรกน่าจะมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ อีกส่วนหนึ่งด้วยพลังของโซเชียลมีเดียที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปยังพี่น้องที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองหรือในถิ่นทุรกันดารได้ สามารถดูไลฟ์ปราศรัยหรือดีเบตได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในเมือง

การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่ย้อนไปในปี 2016 ดอนัล ทรัมป์ โหมกระหน่ำใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ในการหาเสียงจนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีมาแล้ว

อ้างอิง:
ไทยพีบีเอส
ไทยพีบีเอส

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส