พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยในเรื่องของวิทยาการอย่างจริงจังนะครับ ดังที่เราได้เห็นจากโครงการพัฒนาต่างๆ รวมถึง ส.ค.ส. พระราชทานที่ส่งความสุขถึงคนไทยมานานหลายสิบปี
คอมพิวเตอร์ของในหลวง
คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกที่ใช้คือ Macintosh Plus ที่เปิดตัวครั้งแรกในปีพ.ศ. 2529 โดย ม.ล.อัศนี ปราโมช เป็นผู้ซื้อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ด้วยคุณสมบัติเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก ความสามารถในการเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ง่าย และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ดนตรีได้ด้วย
นอกจากนี้เรื่องฟอนต์หรือแบบอักษรก็เป็นอีกเรื่องที่สนพระราชหฤทัย โดยได้ทรงประดิษฐ์ฟอนต์ไทยหลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ต่อมาได้หันมาศึกษาการแสดงตัวเทวนาครีบนจอภาพ หรือที่พระองค์ท่านทรงเรียกว่า “ภาษาแขก” ด้วยพระองค์เองจากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และและทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต อย่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งเหตุผลที่พระองค์ท่านสนพระราชหฤทัยในเรื่องนี้ เพราะในหลวงต้องการศึกษาคำสอนและข้อธรรมะของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังตามภาษาดั่งเดิมที่บันทึกกันมา
ซึ่งต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่อง IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านี้ บางครั้งทรงเปิดตัวเครื่องเพื่อดูระบบภายในด้วยพระองค์เอง รวมถึงทรงปรับปรุงโปรแกรม CU Writer ให้เป็นไปตามประราชประสงค์ด้วย
ส.ค.ส. พระราชทาน ความสุขของคนไทย
ส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรกส่งถึงคนไทยในปีพ.ศ. 2530 โดยในหลวงทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ เราจึงเห็นข้อความตามท้าย ส.ค.ส. ว่า “กส. 9 ปรุ” ซึ่งเป็นรหัสเรียกขานวิทยุแทนพระองค์เป็นผู้ปรุขึ้น ส่วนตัวเลขที่ตามหลังคือวันที่และเวลาที่ทรงสร้าง ในรูปแบบ วว ชช นน ดด ปปปป. ในส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรกจึงหมายถึงเวลา 14.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2529
ส.ค.ส. ฉบับแรกที่ในหลวงทรงสร้างด้วยคอมพิวเตอร์คือฉบับปีพ.ศ. 2532 ที่เริ่มมีลวดลายและลักษณะตัวพิมพ์มากขึ้น ข้อความด้านท้ายจึงเปลี่ยนเป็น ก.ส. 9 ปรุง เพื่อแทนการปรุงจากคอมพิวเตอร์
และในส.ค.ส. ฉบับต่อๆ มา ด้วยพระปรีชาสามารถจึงมีรูปวาด และลวดลายประดับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดาว ใบหน้า เครื่องดนตรี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากฝีพระหัตถ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ที่ถ่ายทอดผ่านคอมพิวเตอร์ได้อย่างชำนาญ
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจาก ส.ค.ส. พระราชทาน คือความคมคายของเนื้อหา ที่แม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้นๆ แต่ก็สามารถสื่อความหมายออกมาได้มาก ซึ่งเนื้อหาของ ส.ค.ส. ในแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากสภาพเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ชาติต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และกระตุ้นให้ประชาชนชาวไทยมีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ส.ค.ส. ฝีพระหัตถ์ล้วนเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ได้แสดงทรรศนะว่า “เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์ สิ่งของหลาย ๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่า ของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ”
สามารถชมส.ค.ส. พระราชทานทั้งหมดได้ในเว็บของสำนักราชเลขาธิการ
อ้างอิง: Wikipedia, สำนักราชเลขาธิการ, เครือข่ายกาญจนาภิเษก, ผู้จัดการ