FSR, DLSS หรือ Xe ชื่อเทคโนโลยีที่ถูกเรียกใช้มากมายในวงการคอมพิวเตอร์ และวิดีโอเกมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนก็น่าจะพอรู้จักกันบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนช่วยให้การ์ดจอที่เปิดตัวออกมานานมากแล้ว ยังสามารถเล่นเกมที่ออกมาใหม่ได้อยู่เรื่อย ๆ และทำให้การ์ดจอใหม่ รีดประสิทธิภาพของตัวเองออกมาได้มากกว่าที่เป็นได้เช่นกัน
เทคโนโลยีเหล่านี้คือกลุ่มเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Upscaling” เป็นเทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกราฟิกการ์ดของตัวเองนั่นเอง
แล้วเทคโนโลยี Upscaling นี้มันคืออะไร ทำงานอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องเกริ่นถึงสิ่งที่เรียกว่า pixels ของภาพกันก่อน กล่าวคือเป็นจุด pixels เล็ก ๆ ที่ต่อกันขึ้นมาเป็นภาพหนึ่งภาพนั่งเอง โดยเทคโนโลยี Upscaling จะเข้ามาเสริม pixels เล็ก ๆ ให้ใหญ่ขึ้นเทียบเท่ากับกับความละเอียดของหน้าจอ ซึ่งสมมติเรามีหน้าจอความละเอียด 2K สิ่งที่การ์ดจอของเราประมวลผลภาพจริง ๆ อาจจะมีความละเอียดแค่ 720p แล้วเทคโนโลยีอัปสเกลจะช่วยเติมภาพ อัปภาพขึ้นมาใกล้เคียงกับความละเอียด 2K ให้นั่นเอง ซึ่งเมื่อการ์ดจอประมวลผลจริงที่แค่ 720p ก็จะทำให้เฟรมเรตนั้นมีมากกว่าการประมวลผลภาพ 2K แบบ native อย่างแน่นอน
แล้วแบบนี้ภาพที่เราเห็นหลังใช้เทคโนโลยี Upscaling นี่จะเป็นภาพความละเอียดแท้ไหม? ถ้าตอบแบบเร็ว ๆ คือไม่แท้ แต่รายละเอียดของภาพ รวมถีงความชัดของภาพ จะใกล้เคียงกันมาก ๆ
แต่ ด้วยความที่มันไม่ได้เป็นความละเอียดของจริง ก็จะมีข้อด้อยตามมาอยู่บ้าง กล่าวคือเทคโนโลยีนี้โดยหลักจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างในด้านกราฟิกหากภาพที่เกิดขึ้นมีการเคลื่อนไหวหนัก ๆ จนกระทั่งภาพหยุดนิ่ง ก็จะเริ่มเห็น artifacts เกิดขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งจริง ๆ แต่ละค่ายก็จะมีจุดด้อยตรงนี้ต่างกันไป และบางค่ายก็สามารถแก้ในจุดนนี้ได้
ต้อง disclaimer ก่อนว่าการทำงานของเทคโนโลยี Upscaling ในแต่ละค่ายนั้นจะไม่เหมือนกัน แต่มีหลักการคล้าย ๆ กันตามที่อธิบายไปข้างต้น เช่นของ NVIDIA จะเป็นการนำ AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยสร้างเฟรมพิเศษด้วย
NVIDIA ผนวกพลัง AI
ฝั่งของ NVIDIA ก็จะมี DLSS หรือ Deep Learning Super Sampling เป็นพระเอก ซึ่งก็ตามชื่อ ที่ NVIDIA จะนำ Deep Learning มาช่วยในการเพิ่มความละเอียดภาพ โดย NVIDIA ที่เป็นเจ้าของ Data Center ก็ได้จัดทำชุดข้อมูล Model ที่เทรนแบบพิเศษโดยเฉพาะด้วยเครื่อง Supercomputer และนำมาใช้ในการ์ดจอ RTX ด้วยการใช้ประโยชน์ของ Tensor Core ที่มีอยู่ในการ์ดจอ RTX รุ่นใหม่ ๆ
สิ่งที่น่าสนใจในยุคถัดไปของเทคโนโลยี Upscaling นั่นก็คือการนำ AI มาช่วยในการประมวลผลมากขึ้น อย่างในการ์ดจอซีรีส์ RTX 4000 สถาปัตยกรรม Ada Lovelace ก็มีเทคโนโลยีเสริมที่ใช้ควบคู่กับ DLSS 3.0 ที่เรียกว่า Frame Generation อธิบายอย่างง่ายก็คือตัวไดรเวอร์จะหยิบภาพตัวอย่างมา 2 เฟรมเพื่อส่งไปให้ DLSS 3.0 อ่าน และเมื่อได้ข้อมูลของภาพเฟรมนั้น ๆ แล้ว จะใช้ AI สร้างภาพเฟรมพิเศษออกมาให้เองแบบที่ไม่ต้องพึ่งพา engine ของตัวเกมเลย ทำให้ได้เฟรมเรตมากขึ้นถึงเท่าตัว
ถ้านึกภาพตามไม่ออกลองนึกภาพหนังสือหนึ่งเล่ม มี 100 หน้า สิ่งที่ DLSS และ Frame Generation ทำคือการอ่านหนังสือทั้ง 100 หน้า (อ่านที่ละ 2 หน้า) และสร้างหน้ากระดาษเพิ่มเข้าไปแทรกระหว่างหน้า ทำให้หนังสือมีทั้งหมด 200 หน้านั่นเอง นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เจ๋งมาก ๆ โดยเทคโนโลยีนี้เป็นการต่อยอดมาจากเทคโนโลยีที่คล้ายกันในทีวีที่มีมานานแล้วอย่าง MEMC หรือ Motion Estimation, Motion Compensation
ซึ่งในอนาคตเราน่าจะได้เห็นการนำ AI มาใช้ในเทคโนโลยีการประมวลผลภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันการ์ดจอใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะมีหน่วยประมวลผลด้าน AI โดยเฉพาะอยู่แล้ว โดยในปัจจุบันยังมีเพียง NVIDIA ที่ชูโรง AI ในการประมวลผลภาพนี้ และก็มีข่าวว่า AMD เองก็กำลังพัฒนาระบบ Frame Generation ของภาพอยู่เช่นกัน แต่ในส่วนของ Intel Xe น้องใหม่ ก็ต้องดูกันต่อไป
AMD FSR ของดีที่มีอยู่ในหลายเกม
เดี๋ยวจะกลายเป็นขายของให้ NVIDIA ไปซะอย่างเดียว จริง ๆ แล้วเทคโนโลยี Frame Generation นั้นก็มีเงื่อนไขที่ต้องทราบอยู่ ก็คือจะต้องใช้การ์ดจอ RTX 4000 เท่านั้น และเทคโนโลยี DLSS ทั้งหมด ก็ต้องเป็นการ์ดจอรุ่น RTX 2000 ขึ้นไปด้วยที่จะใช้ได้ แต่เทคโนโลยี FSR หรือ FidelityFX Super Resolution ของ AMD นั้นพิเศษตรงที่สามารถใช้กับการ์ดจอได้ทุกค่าย และทุกรุ่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางผู้พัฒนาเกมว่าจะนำ FSR มาใส่ในเกมของตัวเองหรือไม่
โดยหลักการทำงานของ FSR นั้นจะใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพแบบ linear และ non linear อัปสเกลภาพจากความละเอียดตั้งแต่ 1920×1080 จนไปถึง 2954 x 1662 และอัปสเกลขึ้นไปเป็นความละเอียดได้สูงสุดที่ 4K ซึ่งจะไม่มีการนำ AI หรือ Machine Learning เข้ามาเกี่ยวข้อง
ในปัจจุบัน FSR พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 2.0 แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระของเกมเมอร์เลย เพราะในหลาย ๆ เกม เจ้า FSR เนี่ยแหละ ที่ทำให้การ์ดจอเก่า ๆ เล่นเกมใหม่ ๆ ได้อยู่บ้าง เนื่องจาก FSR 2.0 เข้ามาช่วยในเรื่องเฟรมเรตพอสมควร ซึ่งในเวอร์ชัน 2.0 จะเพิ่มเทคนิคการวิเคราะห์เฟรมก่อนหน้ามาวิเคราะห์ในด้านความลึก, การเคลื่อนไหว และสี เพื่อสร้างเฟรมพิเศษขึ้นมาเพิ่มเติม ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ FSR ขึ้นไปอีกในปัจจุบัน
และด้วยความที่ AMD ไม่ได้ใช้งาน AI เข้ามาประมวลผล เลยทำให้ค่ายไหนก็หยิบเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ แม้แต่เครื่องเกมคอนโซลในปัจจุบัน
อ่านถึงตรงนี้ เกมโปรดของใครหลาย ๆ คนที่กำเล่นอยู่ในปัจจุบัน อย่าลืมลองกลับไปเปิดดูว่ามี FSR อยู่ในหมวด Upscaling ไหม ถ้ามีก็อย่าลืมเปิดเพื่อรีดเฟรมเรตที่มากขึ้นกันล่ะ (แต่ถ้าใช้ NVIDIA แล้วมี DLSS ให้ใช้ ก็ใช้ DLSS ดีกว่านะ)
อนาคตของวงการเกมกับ AI
ผมว่าประเด็นนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างมาก และในปี 2023 นี้เอง AI ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตเราอย่างมากแล้ว แต่ในอนาคตของวงการเกม การที่จะนำ AI มาใช้ในการประมวลผลภาพ และส่วนอื่น ๆ มากขึ้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากเหมือนก้น เห็นได้จากการที่ NVIDIA ที่เป็นเจ้าแห่ง AI และ Data Center ได้นำ AI มาประยุกต์ใช้กับการ์ดจอแล้ว เรียกได้ว่าอนาคตมีอะไรที่เจ๋งกว่านี้ออกมาอีกเพียบอย่างแน่นอน
ในมุมมองของเกมเมอร์คนนึง การที่จะนำ AI เข้ามาใช้งานกับระบบเกมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน เช่นการวิเคราะห์นิสัยของผู้เล่น แล้วในไปปรับใช้ในเกมจริงแบบเชิงลึก ซึ่งเคสคล้าย ๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นในวงการวิดีโอเกมอยู่บ้างอย่างในเกม Resident Evil 4 ภาคปี 2005 ที่ถึงแม้จะไม่ใช่การใช้งาน AI แต่ก็เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ โดยตัวเกมจะมีฟีเจอร์ Adaptive Difficulty หรือระดับความยากที่จะไปรับไปตามผู้เล่น เช่นของดรอปในเกม หรือเลือดของศัตรู การเคลื่อนไหวของศัตรูให้อยู่ในระดับที่ผู้เล่นจะสามารถต่อกรไหว
ลองนึกดูว่าหากมีเกมที่สามารถปรับให้เหมาะกับสไตล์การเล่นของผู้เล่น ก็น่าจะทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมนั้นมีมิติ และน่าสนใจมากขึ้น
นอกจากนี้ การทำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวละคร ๆ หนึ่งแล้วนำมาใช้งานเป็นนิสัยของตัวละครในเกมก็น่าสนใจมากเช่นเดียวกัน อย่างเกม Alien Isolation ที่มีการเขียนให้นิสัยของตัว Xenomorph คาดเดาได้ยาก ถึงแม้จะไม่ใช่เกมแนวผี แต่ก็ทำให้เกมเกมนี้ขึ้นชื่อในใจเกมเมอร์หลายคนว่าเป็นเกมที่น่ากลัวมากเพราะนิสัยของตัว Xenomorph นั้นคาดเดาได้ยาก ซึ่งการใช้ AI เข้ามาในส่วนนี้ก็อาจจะทำให้การคาดเดานิสัยของตัวละคร AI นั้นซับซ้อน และน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก
เคสเหล่านี้ที่ยกตัวอย่างมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นไปได้จากการใช้งาน AI ร่วมกับตัววิดีโอเกมเท่านั้น ในอนาคตอาจจะมีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในวงการเกมที่เจ๋ง และน่าสนใจกว่านี้อีกก็ได้นะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส