การแข่งขันถือเป็นหัวใจของการพัฒนาทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยีควอนตัม เพราะการที่มีคู่แข่งเป็นแรงกระตุ้นที่ถีบตัวเองให้ต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

iPhone ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ครองความเป็นใหญ่ในตลาดโลกเห็นทีจะเหลือเพียง 4 ยักษ์ใหญ่ Google, Meta, Amazon และ Microsoft เท่านั้น

ธุรกิจที่ครอบครองตลาดได้จะมีพลังมากถึงขนาดกำหนดกลไกทุกอย่างในตลาดได้ ตั้งแต่ราคา เงื่อนไขด้านการแข่งขัน ไปจนถึงเลือกลูกค้าได้เอง และยังไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรมากแล้ว เพราะพอมีอยู่เจ้าเดียวก็แปลว่าไม่จำเป็นต้องง้อลูกค้าแล้ว

ขาดแรงจูงใจพัฒนาเทคโนโลยี

ธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาใหญ่โตจนเกินไปอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้หยุดชะงัก หรือช้าลงไป เพราะขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเอง

การศึกษาของคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติชั่วคราว (TNEC) ของสหรัฐอเมริกาในปี 1938 พบว่าทุนเจ้าตลาดในขณะนั้น อย่าง RCA, Dupont และ General Electric มักจะไม่ยอมปล่อยไอเดียหรือสินค้าใหม่ ๆ เพราะขาดแรงจูงใจ เนื่องจากไม่ต้องแข่งกับใคร

ในทางกลับกัน การปลดปล่อยตลาดให้มีการแข่งขันเสรีในช่วงเดียวกันนั้นเอง ทำให้มีบริษัทเกิดใหม่ และมีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากกว่า 50,000 สิทธิบัตรในสหรัฐฯ เพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ นำไปสู่การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ จำนวนมาก

ทั้งนี้ การเป็นผู้ครองตลาดจนไม่ยอมพัฒนาเทคโนโลยียังอาจทำร้ายตัวเองได้เช่นกัน

IBM ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

งานศึกษาของ Amplitude พบว่าเมื่อครั้งที่ IBM และ Xerox เป็นเจ้าตลาดคอมพิวเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร แทนที่จะลงทุนในนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับการมาของคลื่นลูกใหม่อย่าง Apple (ในกรณีของ IBM) และ Canon (กรณี Xerox) กลับพยายามกินกำไรจากผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ที่ตัวเองถนัด จนต้องพ่ายแพ้ออกจากตลาดไปในที่สุด

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ TNEC ยังพบด้วยว่าบริษัทเทคโนโลยีที่มีอำนาจในตลาดมากเกินไปยังใช้อำนาจทางธุรกิจในการกำจัดคู่แข่ง ด้วยการเข้าฮุบกิจการ หรือทำให้ล้มละลายเอาดื้อ ๆ

กำหนดเงื่อนไขการแข่งขัน

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดจากการผูกขาดคือการที่เจ้าตลาดสามารถกำหนดเงื่อนไขและกีดกันเจ้าอื่นออกจากตลาด หรือหากต้องการทำธุรกิจก็ต้องทำในพื้นที่ที่เจ้าใหญ่กำหนดเท่านั้น

อย่างการที่เคยมีข้อร้องเรียนในอินเดียว่า Google ไปบังคับให้ผู้พัฒนาแอปบนแพลตฟอร์มของบริษัทใช้ระบบชำระเงินที่กำหนดไว้ซึ่งบังคับให้จ่ายส่วนแบ่งจากรายได้มากถึง 30% จนรัฐบาลอินเดียปรับเงินมหาศาลมาแล้ว

KFTC หน่วยกำกับการแข่งขันของเกาหลีใต้ (ที่มา: Minseong Kim)

หรือกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการแข่งขันเกาหลีใต้ (KFTC) สั่งปรับ Google กรณีขวางนักพัฒนาแอปไม่ให้ไปวางจำหน่ายเกมบน One Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของคู่แข่ง

ทั้ง 2 กรณีข้างต้นสะท้อนว่าเจ้าตลาดสร้างผลกระทบออกไปนอกประเทศด้วย

ผลกระทบต่อผู้บริโภค

แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจรายใดสามารถควบคุมตลาดได้แทบจะเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ยิ่งลดอำนาจต่อรองของลูกค้าแบบเรา ๆ ที่เป็นฝ่ายที่ได้แค่เลือกอยู่แล้วแต่แรก

เพราะการเหลือผู้เล่นเพียงไม่กี่เจ้าที่ควบคุมได้แทบทุกอย่าง ผู้บริโภคก็หมดทางเลือกและจำใจต้องซื้อสินค้าและบริการที่มีอยู่เพียงรายเดียวโดยไม่มีทางเลือกทั้งในด้านราคาและคุณภาพ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ไม่มีแรงจูงใจที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในสงครามที่ยากจะชนะ

รัฐต้องเข้ามาคุม

รัฐบาลหลายประเทศตั้งกติกาต้านการผูกขาดอย่างแข็งขันที่เรียกว่า กฎหมาย Anti-Trust และสร้างองค์กรที่จะเป็นกรรมการกำกับการผูกขาด เพื่อทำให้แน่ใจว่าบริษัทใหญ่จะไม่คุมตลาดจนเกินไป และผู้เล่นรายใหม่สามารถเติบโตขึ้นได้

ในสหรัฐฯ มีคณะกรรมการการค้ากลาง (FTC) ที่คอยกำกับการแข่งขันให้เป็นไปตามกติกา และมีแผนกเฉพาะทางที่คอยขัดขวางการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ที่จะไปลดการแข่งขัน ที่จะนำไปสู่การเพิ่มราคา ลดคุณภาพสินค้าและบริการ หรือขัดขวางนวัตกรรม

FTC หน่วยกำกับการแข่งขันระดับโลกที่ทำงานแข็งขัน

ในอดีต การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) สั่งให้ยักษ์ใหญ่ด้าน AT&T ยอมปล่อยมือจากสิทธิบัตรเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่ 35 บริษัทเล็ก ๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้แข่งขันจนเติบโตกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเทคโนโลยีอย่าง Motorola ในที่สุด

สำหรับระดับระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปเองก็วางกฎควบคุมการผูกขาดตลาด ผ่านสนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินงานของสหภาพยุโรป (Treaty of the Functioning of the European Union) ที่ห้ามไม่ให้ธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันทำข้อตกลงที่จะทำลายการแข่งขัน และห้ามไม่ให้ทุนที่มีสถานะนำในตลาดใช้สถานะนั้นบิดเบือนกลไกตลาด

หรือในกรณีของสำนักงานตลาดและการแข่งขันสหราชอาณาจักร (CMA) ที่เข้าขวางการควบรวมกิจการ ยักษ์ใหญ่วงการเกม Activision โดย Microsoft ภายใต้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาด ตัว CMA นี้มีอำนาจถึงขั้นขับ Microsoft ออกจากการทำธุรกิจในประเทศได้เลย หากไม่ทำตาม

แต่ต้องไม่ขวางการแข่งขันเสียเอง…

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่ารูปแบบการผูกขาดที่อันตรายที่สุดคือการผูกขาดที่รัฐบาลเอื้อให้เกิดขึ้น ซึ่งสวนทางกับบทบาทการกำกับดูแลที่รัฐควรจะทำ

การที่รัฐบาลเป็นฝ่ายเอื้อให้เกิดการผูกขาดซะเอง นอกจากจะไม่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมแล้ว จะกลายเป็นว่าต่อไปหากต้องการขึ้นมามีบทบาทในตลาด ก็ต้องทำเพียงแค่หันไปซบผู้มีอำนาจในรัฐบาลเท่านั้น

ที่มา investopedia, Open Markets Institute, NBTC, europa, Gamerant, Federal Trade Commission, Amplitude