เหตุการณ์ทางเลื่อนในสนามบินดอนเมืองดูดขานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปนครศรีธรรมราชจนขาขาดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สร้างความขนพองสยองเกล้าให้แก่คนในสังคมไม่น้อย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ดอนเมืองไม่ใช่ครั้งแรก ในปี 2562 เคยมีกรณีที่ทางเลื่อนดูดรองเท้าของผู้โดยสารจนเละ โชคดีที่ผู้โดยสารรายนี้ถอดรองเท้าได้ทัน ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดเหตุการณ์สลดขึ้นแล้ว

ทางเลื่อนและบันไดเลื่อนเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสที่จะต้องใช้กันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีวันไหนที่เราจะเจอแจ็กพ็อตบ้างสักวัน

เพื่อที่จะสลายความกลัวนี้ เราต้องมาทำความเข้าใจทางเลื่อนและบันไดเลื่อนตั้งแต่ประวัติการทำงานไปจนถึงวิธีการทำงานกันก่อน

จุดเริ่มต้นของทางเลื่อนและบันไดเลื่อน

ทางเลื่อน (Travelator ในสหราชอาณาจักร หรือ Moving Sidewalks ในสหรัฐอเมริกา) ดูเหมือนจะเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ แต่จริง ๆ แนวคิดเบื้องหลังมีมากนานกว่าศตวรรษแล้ว

ย้อนกลับไปในปี 1871 อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) ได้คิดค้นสิทธิบัตรทางเลื่อนขึ้นมาเพื่อช่วยทุ่นแรงในการเดินทางของคนเดินเท้าในนครนิวยอร์กในแนวราบ

ไอเดียของสเปียร์คือการใช้ฐานตู้รถไฟติดล้อขนาดเล็กหลายคันมาเชื่อมไว้ด้วยกันและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบ ๆ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักประดิษฐ์หลายคนก็พยายามนำไอเดียของสเปียร์มาต่อยอด จนถูกนำไปใช้สร้างทางเลื่อนแห่งแรกขึ้นในปี 1893 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว

หน้าตาของทางเลื่อนแรกของโลก (ที่มา Smithsonian Magazine)

ทางเลื่อนนี้เป็นฝีมือของ โจเซฟ แอล ซิลซ์บี (Joseph L. Silsbee) และ แม็กซ์ อี ชมิดต์ (Max E. Schmidt) สองสถาปนิกและวิศวกรชาวอเมริกัน เพื่อสำหรับจัดแสดงในงาน World’s Columbian Exposition ซึ่งเป็นงาน World Fair ครั้งแรกในโลก จัดขึ้น ณ นครชิคาโก

โดยสามารถเคลื่อนย้ายคนได้พร้อมกันมากถึง 6,000 คน ในระยะทางราว 700 เมตรจากท่าเรือมาจนถึงกาสิโน บนทางเลื่อนมีเก้าอี้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานด้วย

แต่กว่าทางเลื่อนจะถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จริง ๆ ก็ล่วงเข้าสู่ปี 1954 แล้ว เป็นทางเลื่อนเชื่อมภายในสถานีรถไฟที่เมืองเจอร์ซีซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ สร้างโดยบริษัท Goodyear และบริษัท Stephenson-Adamson

ก่อนที่จะถูกนำไปใช้ในสนามบินครั้งแรกที่ท่าอากาศยานดัลลัสเลิฟฟิลด์ ณ เมืองดัลลัส ในปี 1958 และแพร่หลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขณะที่บันไดเลื่อนได้รับการคิดค้นในสหรัฐฯ เมื่อปี 1891 โดยเจสซ์ ดับบลิว เรโน (Jesse W. Reno) สำหรับการเคลื่อนย้ายคนระหว่างชั้นในแนวดิ่ง ยุคแรกราวจับของบันไดเลื่อนจะตั้งอยู่กับที่ แถมยังต้องมีคนคอยหมุนให้เคลื่อนที่ด้วย ต่างจากปัจจุบันที่ใช้ระบบอัตโนมัติ

บันไดเลื่อนยุคแรก ๆ (ที่มา ThyssenKrupp)

โดยชื่อเรียกว่าบันไดเลื่อน หรือ Escalator ในภาษาอังกฤษ ปรากฎครั้งแรกในฐานะเครื่องหมายการค้าของ Otis บริษัทลิฟต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก่อนจะถูกทำให้กลายเป็นชื่อสาธารณะในปี 1949 และใช้มากันถึงปัจจุบัน

หลักการทำงาน

โดยหลักแล้วทางเลื่อนและบันไดเลื่อนใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการทำงาน ขับเคลื่อนโซ่และฟันเฟืองที่ติดอยู่กับสายพานที่พาลูกขั้นหรือแผ่นยืนให้เคลื่อนที่เป็นลูป

หน้าตาของแผ่นหวี (ที่มา Neuron Soundware)

เมื่อแผ่นสำหรับยืนเคลื่อนที่เข้าใกล้จุดสิ้นสุด ก็จะไปบรรจบกับแผ่นที่มีหน้าตาเหมือนแปรงที่เรียกว่าหวีที่ติดอยู่บนแผ่นสำหรับยืนที่เรียกว่าแผ่นหวี (comb plate) เป็นจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างทางเลื่อนและบันไดเลื่อนไปยังพื้นปกติ

ที่จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของทางเลื่อนและบันไดเลื่อนจะมีสิ่งที่เรียกว่ากล่องเฟือง (Gearbox) ที่มีหน้าที่ในการลดความเร็วของสายพานหรือลูกขั้น เพื่อให้การก้าวไปสู่พื้นปกติทำได้สะดวก

นอกจากนี้ ปกติแล้วจะมีสวิตช์ที่จะตัดการทำงานของทางเลื่อนและบันไดเลื่อนหากมีวัตถุเข้าไปติดอยู่ระหว่างแปรงและแผ่นที่ยืนด้วย

ความน่ากลัว

ภัยที่ผู้ใช้งานเจอจากการใช้งานทางเลื่อนและบันไดเลื่อนส่วนใหญ่เกิดจากการที่อวัยวะ รองเท้า เสื้อผ้า หรือกระเป๋าเข้าไปติดอยู่ในช่องว่างบริเวณแผ่นหวี และการสะดุดล้มระหว่างการใช้งาน

แผ่นหวีเป็นจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นจุดที่เปลี่ยนผ่านจากทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนไปสู่พื้นที่ยืนที่มีระดับไม่เสมอกัน อีกทั้งยังมีช่องว่างให้มีวัตถุไปติดอยู่ได้

คลิปแสดงระบบภายในกล่องเฟือง และรอยต่อระหว่างบันไดเลื่อนและแผ่นหวี (ที่มา Elevators)

กล่องเฟืองเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีความน่ากลัว เพราะในนั้นเป็นที่หมุนสับเปลี่ยนระหว่างขั้นที่เหยียบ ซึ่งจะมีโอกาสดูดอวัยวะหรือวัตถุลงไปได้

นอกจากนี้ ยังมีภัยที่เกิดจากความบกพร่องของตัวทางเลื่อนและบันไดเลื่อน โดยมักมีสาเหตุจากการบำรุงรักษาไม่ดี สำหรับกรณีบันไดเลื่อนยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากการพลัดตกลงไปด้วย (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตจากการใช้บันไดเลื่อนในหลายประเทศ)

ภาพภายใต้แผ่นยืนของทางเลื่อน (ที่มา SafeWork SA)

งานวิจัยในสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 พบว่าการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากบันไดเลื่อนในประเทศมีไม่เกิน 7,000 ครั้ง ต่อปี แต่ในจำนวนนี้มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

แต่ไม่ได้ขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี สถิติปัจจุบันพบว่าโอกาสบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการใช้ทางเลื่อนและบันไดเลื่อนมีน้อยถึงน้อยมาก ซึ่งการระวังตัวและหูไวตาไวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้ทางเลื่อนและบันไดเลื่อนได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ผู้อ่านอาจเคยได้ยินว่าการเดินบนทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนเป็นเรื่องอันตราย อาจทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เสียสมดุล

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายออกมาปฏิเสธความกังวลนี้ อย่าง แดเนียล โพสต์ เซนนิง (Daniel Post Senning) แห่งสถาบัน Emily Post ชี้ว่าการเดินหรือยืนอยู่เฉย ๆ บนทางเลื่อนก็ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ระวังอย่าไปขวางทางคนที่กำลังรีบไม่เช่นนั้นจะเกิดอุบัติเหตุได้

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีทางเลื่อนและบันไดเลื่อนไม่ได้หยุดอยู่กับที่ บริษัทต่าง ๆ เสริมความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์อยู่ตลอด ในยุคหลัง ๆ มีการพัฒนาระบบการเก็บเศษผม เศษฝุ่น และน้ำมัน ไม่ให้เข้าไปติดอยู่ในฟันเฟือง มีระบบเตือนสิ่งกีดขวาง และปุ่มหยุดฉุกเฉิน

เดวิด แชน (David Chan) ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นผู้นำข้อมูลแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (City, University of London) ชี้ว่าระบบความปลอดภัยที่อยู่ในบันไดเลื่อนปัจจุบันมีมากพอแล้ว

ป้องกันตัวเอง

สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนใช้งานทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนคือสภาพความพร้อมใช้งานว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการเคลื่อนไหวปกติ มีชิ้นส่วนหายหรือชำรุด และมีการบำรุงรักษาสม่ำเสมอหรือไม่

นอกจากนี้ ยังควรสำรวจเสื้อผ้า สิ่งของ หรือผมตัวเองให้ดี ว่ามีโอกาสไปติดอยู่ตามร่องของบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนหรือไม่ โดยเฉพาะเชือกรองเท้าที่ผูกไม่ดี เสื้อผ้าที่หลวม และสายของกระเป๋าที่อาจเข้าไปติดอยู่ได้ อีกทั้งยังควรเลี่ยงการวางสิ่งของบนทางเลื่อนและบันไดเลื่อนด้วย

การยืนหรือเดินบนทางเลื่อนและบันไดเลื่อนต้องคอยระวังไม่ให้ชิดขอบและราวจับมากเกินไป และเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของทางเลื่อนและบันไดเลื่อนแล้ว ควรใช้วิธีการก้าวเท้าข้ามไปยังแผ่นหวีหรือพื้นที่ยืน เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม

ตัวอย่างปุ่มหยุดฉุกเฉิน (ที่มา SchuminWeb บน Reddit)

หากมีเหตุฉุกเฉิน ยังสามารถกดปุ่มหยุดทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนที่มักจะอยู่ที่บริเวณพื้นด้านล่างหรือบริเวณใต้ราวจับ

สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทางเลื่อนหรือบันไดเลื่อนไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีอันตรายจากการใช้งานจริง แม้ว่าจะน้อยมากก็ตาม

ที่มา usatoday, chicagology, Stannah, Smithsonian Magazine, PPTVHD36, Britannica, MITSUBISHI ELECTRIC, La Grazia, PMC, popsci, bartbernard, changfi, neuronsw, Thai PBS News, prnewswire

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส