หลายคนที่ติดตามหน้าฟีดเฟซบุ๊กของผม (ยินดีด้วยครับที่คุณไม่ถูกพี่มาร์กปิดกั้น) อาจจะรู้แล้วว่า ตอนนี้ผมได้ติดตามคณะกรรมการ อพวช. มาที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นกับตัวย่อนี้ ผมขอให้คุณนึกถึงอาคารทรงลูกเต๋าอันเป็นที่ตั้งขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือตัวย่อ อพวช. นั่นเองครับ
คณะของเรานำทีมโดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ควบคณะกรรมการ อพวช. ด้วย โดยหมุดหมายแรกที่พวกเราไปถึง คือ บริษัท ซิกงเทค จำกัด เพื่อไปรับฟังแนวคิดในการออกแบบศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต สำหรับการเตรียมความพร้อมในการบริหารศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคตของ อพวช. ครับ
และภายในวันเดียวกัน คณะของเราก็ได้พูดคุยกับผู้บริหาร National Aviation Museum of Korea ในประเด็นการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ เพื่อพัฒนานิทรรศการด้านเทคโนโลยีการบิน และเมื่อมาถึงที่นี่แล้ว เราก็ไม่พลาดที่จะได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ National Aviation Museum of Korea (NAMOK) ครับ
หลังจากนั้นคณะของเราก็ไปเปิดหูเปิดตาที่พิพิธภัณฑ์ KOREA JOB WORLD ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ในจังหวัดคยองกีโด ประเทศเกาหลีใต้ ที่นี่เป็นโลกจำลองนิทรรศการที่เกี่ยวกับอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคตครับ ซึ่งจัดไว้หลากหลายโซนตามช่วงอายุของเด็ก ๆ ที่มีความรู้ความสนใจแตกต่างกัน ถ้าคุณนึกภาพไม่ออก (อีกแล้ว) ผมขอเปรียบเทียบว่า โซนเด็กเล็กของที่นี่ มันคือสิ่งที่บ้านเราเคยมีแล้ว (และเจ๊งแล้ว) นั่นก็คือ KidZania®️ ที่ Siam Paragon ครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ได้เล่าประสบการณ์พ่อแม่ที่มีต่อ KidZania®️ ให้คณะกรรมการ อพวช. ฟัง แล้วทุกคนลงความเห็นเบื้องต้นว่า น่าเอากลับมาทำใหม่โดยรัฐ เพราะเราเห็นด้วยตาแล้วว่าการ “มอบประสบการณ์ให้เด็ก” คือสิ่งที่วิเศษ
สำหรับโซนเด็กโต ผมมองว่าบ้านเรายังไม่เคยมีครับ แต่ที่นี่เขายกระดับประสบการณ์การทำงานให้จริงจังขึ้น อย่างฉากห้องพิจารณาคดีนี่มีบทบาทสมมติกันจริงจังเลย ทุกอย่างดูเคร่งขรึมมากกว่าโซนเด็กเล็ก และพอสำรวจไปเรื่อย ๆ ผมเห็นห้องอาชีพต่าง ๆ ของ JOB WORLD แล้วก็รู้เลยว่าทำไมเกาหลีถึงเจริญ ทำไมคนเกาหลีระดับโลกถึงกำเนิดขึ้น เพราะเขาให้ความสำคัญกับการ “เขียนภาพให้ชัด” ของชีวิตตั้งแต่เล็ก (และมันส่งผลให้ Direction ของประเทศก็เลยชัดเจนมายาวนานด้วย) ซึ่งเด็กวัยรุ่นโตสุดของกลุ่มเป้าหมายจะได้ทำ Career Planing ซึ่งเป็นกิจกรรม Interactive ที่ใช้ผลวิจัยมนุษย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเกาหลีมา “แนะแนว” ว่าเยาวชนคนนี้น่าจะเดินเส้นทางไหนในชีวิตได้ดี
ถ้าให้ผมสรุปสิ่งที่ได้พบจาก JOB WORLD ฉบับย่อแล้ว ผู้ใหญ่เกาหลีกำลังสอนเด็ก ๆ ว่า “จะทำอาชีพดี ๆ ได้นั้นไม่ยาก” ครับ
ต่อมาคณะของเราไปพบและพูดคุยกับ เอกอัครราชทูตวิชชุ เวชชาชีวะ และทีมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ซึ่งบันทึกโน้ตทั้งหมดต่อไปนี้ ผมได้บันทึกเอาไว้เอง และได้รับความกรุณาตรวจทานให้ทั้งหมดโดยท่านเอกอัครราชทูตครับ
Overview 2023
เกาหลีใต้กำลังประสบภาวะประชากรลดลง อัตราการเกิดของชาวเกาหลีใต้ต่ำกว่าไทยคือ อยู่ที่ราว 0.78 (ประเทศไทยเราอยู่ราว 1 ความหมายคือ แต่งงาน 2 มีลูก 1 ในขณะที่อัตราทดแทนตามธรรมชาติที่ทำให้จำนวนประชากรคงตัวคือ แต่งงาน 2 มีลูก 2) ทำให้เกาหลีใต้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทั้งแรงงานที่มีทักษะและไร้ทักษะ
วิธีคิดของเกาหลีใต้
วิทยาศาสตร์ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่วิทยาศาสตร์ต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ในขณะที่การศึกษาต้องตอบโจทย์ปัญหาปากท้อง ต้องยอมรับว่าสังคมเกาหลีใต้นั้นมีการแข่งขันสูง เพราะเขาดูความสามารถในการปฏิบัติ ใบปริญญาจึงไม่สำคัญเท่าความสามารถที่มีอยู่จริง และความสามารถของคนวัดจากความสามารถในการแข่งขันกัน ทำให้สังคมเกาหลีใต้มีการแข่งขันตลอดเวลา และมาตรวัดสูงสุดก็คือ คนเกาหลีใต้ต้องแข่งขันกับต่างประเทศได้ Product ที่เกาหลีใต้ทำ ต้องแข่งขันกับ Product ระดับโลกได้
นโยบายเศรษฐกิจจะมองไปข้างหน้าตลอด เพื่อได้ Growth Engine ตัวใหม่ ๆ มาขับเคลื่อนจังหวะต่อไป ซึ่งจะสะท้อนกลับมาเป็นโจทย์ว่า หลักสูตรการศึกษาต้องปรับพัฒนาอย่างไร บุคลากรสาขาใดควรสร้างขึ้นเพิ่ม ซึ่งภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน เกาหลีใต้มุ่งสร้าง Growth Engine ตัวใหม่ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ (ทั้งส่งออกการก่อสร้าง บำรุงรักษา และรื้อถอนเตาปฏิกรณ์) อุตสาหกรรมอาวุธ … มุ่งกระเถิบจากอันดับ 8-9 ไปสู่อันดับ 4 ของโลก
ส่วน Quantum Technology ก็วางไว้ว่าตัวเองจะครองอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) และมุ่งเป้าเพิ่มบุคลากรด้านนี้สำหรับระดับปริญญาโท จากที่มีในปัจจุบัน 1,000 คนเป็น 10,000 คน และปริญญาเอกจาก 384 คนเป็น 2,500 คนภายในปี 2578 ส่วนกิจการอวกาศตั้งเป้าไม่เพียงส่งยานไปลงดวงจันทร์ในปี 2575 เท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องของประเทศด้วย
เมื่อทุกอย่างที่เซ็ตธงแล้ว ก็ถูกนำมาพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ชัดเจนครับ
สำหรับ Vision การพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั้นเปลี่ยนแปลงจากภายใต้ระบอบทหารที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก มาเป็นอุตสาหกรรม High-Tech และอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในยุครัฐบาลพลเรือนในช่วงทศวรรษ 1990
ช่วงแรก ผู้นำรัฐบาลทหารกำหนด Vision และดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเป็นรากฐานให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือ “แชโบล” เติบโตมีกำลัง จนครอบครองตัวเลขราว 75 % ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
ปัจจัยช่วยคือ การเกาะเกี่ยวกับตลาดและ Supply Chain ของสหรัฐอเมริกาในการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่รัฐบาลทหารยังมีการเซนเซอร์สื่อมวลชนและการแสดงออกของประชาชนอย่างเข้มงวด (ในช่วงเวลานั้น)
เมื่อรัฐบาลพลเรือนเข้ามาแทนที่และเข้มแข็งขึ้น ธุรกิจของกลุ่มแชโบลพัฒนาไปสู่ความ High-Tech ขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่มีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากบรรยากาศประชาธิปไตยและเสรีนิยมเบ่งบาน อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง K-Pop, K-Series, เกมออนไลน์ ฯลฯ โดยกลุ่มทุนใหม่ที่ไม่ใช่แค่แชโบล ได้สร้างสรรค์ผลักดันธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ขึ้นจนมีมูลค่าเศรษฐกิจไม่แพ้อุตสาหกรรมของหลายบริษัทในเครือแชโบล
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบคอนเทนต์เหล่านี้ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนจากหน่วยงานเซนเซอร์ของรัฐมาเป็น Ethic Committee (ผมขอแปลว่า คณะกรรมการจริยธรรม) ของแต่ละสาขาธุรกิจครับ
รัฐบาลทหารของเกาหลีใต้ต่างจากรัฐบาลทหารในประเทศอื่น ๆ ตรงที่สามารถวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจได้ถูกทาง ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมหนัก (Heavy Industry) ที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ไม่ใช่อาศัยแค่ตลาดในประเทศ หรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมเฒ่าทารกที่ไม่รู้จักโต (แต่จะโตเพื่อเรียกร้องเงินสนับสนุนจากรัฐไปเรื่อย ๆ) จนทำให้เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
การวางรากฐานที่ถูกต้อง ทำให้กลุ่มธุรกิจแชโบลต่อยอดไปยังอุตสากรรมที่ประณีตขึ้นได้ เช่น กลุ่ม LG หรือ SK ส่วนหนึ่งต่างโตมาจากสาขาปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปยังอุตสาหกรรม Biotechnology หรือเทคโนโลยีชีวภาพได้ครับ
เจริญแล้วไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา
ปัญหาหนึ่งคือความเจริญที่กระจุกตัวที่กรุงโซล (Seoul) เมืองหลวงของประเทศ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็พยายามกระจายความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองใหม่ให้ส่วนราชการ บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรม โดยกระจายออกไปที่เมืองอื่น ๆ เช่น อินชอน (Incheon) เป็นศูนย์ธุรกิจการบิน และอุตสาหกรรมกับการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ, เซจง (Sejong) เป็นเมืองราชการใหม่
เกาหลีใต้ยังไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมาก ปัจจุบัน มีบริษัทธุรกิจเกาหลีใต้ที่ลงทุนในเวียดนามแล้วกว่า 9,000 บริษัท มีนักศึกษาเวียดนามมาเรียนที่เกาหลีใต้เพื่อเอา Know-How ราว 70,000 คน โดยเน้นไปที่ด้านวิทยาศาสตร์ (ขณะที่มีนักเรียนไทยมาเรียนที่เกาหลีใต้เพียง 600 กว่าคนเท่านั้น)
วิธีที่ปลัดกระทรวง อว. คือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เสนอคืออยากกันส่วนเด็กไทยที่ได้ทุนมาเรียนไว้ด้วยกันก่อนซักปี เพื่อเตรียมตัวก่อนปล่อยเข้าระบบเกาหลี (เหมือนนักเรียนทุนไทยในญี่ปุ่น) เพื่อป้องกันการให้ทุนแล้วขอกลับก่อน โดยเกาหลีใต้สนใจรับนักศึกษาต่างชาติ แต่นักศึกษาต่างชาติพึงรู้ว่า…
- การศึกษาเขาแข่งกันจริงจัง คุณแข่งไหวไหม ?
- การศึกษาเขาอยู่ใต้วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่ง “อาจารย์เป็นที่สุด” (และอาจโหดสุดในการสอน) คุณเคารพอาจารย์เขาได้ไหม ?
เอกอัครราชทูตฯ จึงแนะนำว่าหน่วยงานไทยต้องมีการบริหารความคาดหวังของนักศึกษาก่อนมา เช่น ให้ศิษย์เก่าชาวไทยของมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้มาเล่าประสบการณ์และให้ข้อมูล เพื่อผู้ที่สนใจมาจะได้เตรียมตัวว่าจะขยันและอดทนต่อการศึกษาและวัฒนธรรมการสอนของเกาหลีใต้ได้ไหม ? อย่างไร ? โดยเป็นการบอกให้รู้ก่อนเลยว่ามาแล้วต้องเจออะไรบ้าง
สำหรับปรากฎการณ์ผีน้อยไทยยังไม่ลดลง (ผีน้อยมาจากคำว่า ปินอย) และผีน้อยมีมาจากหลายชาติไม่ใช่แค่ไทย แต่ไทยมีผีน้อยเป็นจำนวนมากราว 35% ของผีน้อยทั้งหมด ซึ่งคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นว่าผีน้อยเป็นปัญหา เพราะเขาต้องการแรงงานต่างชาติมาช่วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม SMEs
อย่างไรก็ตาม การมีผีน้อยมาก ๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ ตม. เข้มงวดต่อการเดินทางของคนไทยเข้ามาเกาหลีใต้ เพราะมีจำนวนมากที่อาศัยการท่องเที่ยวมาลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย เพราะว่าแรงงานถูกกฎหมายมีต้นทุนที่สูงกว่า เช่น ต้องได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งสูงมากเกือบ 60,000 บาทต่อเดือน) โดยนายจ้างต้องออกเงินสมทบเป็นค่าประกันสังคมให้ ฉะนั้น ธุรกิจเล็ก ๆ ในเกาหลี จึงชอบแรงงานผีน้อย
ชาวเกาหลีใต้ยังมีความรู้สึกที่ดีต่อชาวไทย เพราะไทยเคยส่งทหารมาร่วมรบในสงครามเกาหลี (เกาหลีใต้มี 2 กระทรวงที่ประเทศอื่น ๆ ไม่มีคือ กระทรวงกิจการชาติและทหารผ่านศึก / กระทรวงรวมชาติ โดยทุกวันนี้เขายังดูแลสวัสดิการให้ทหารไทยที่เคยมาผ่านศึก (และบุตร) ติดตามมาให้ถึงในประเทศเรา) สำหรับคนไทยมาอยู่ที่นี่ราว 200,000 คน แต่ไม่มีย่าน Thai Town ที่ชัดเจน ซึ่งมีย่านชุมชนชาวไทยที่กระจุกตัวกันอยู่หลายที่ ทั้งในกรุงโซล และตามเมืองอุตสาหกรรม ในขณะที่ย่างฮงแดในกรุงโซลก็มีซูเปอร์มาร์เก็ตขายเครื่องปรุง วัตถุดิบ และสินค้าไทย ชื่อ “หนองคาย” และมีร้านอาหารไทยบริเวณนั้นจำนวนมาก
แวะกลับมาเล่าต่อถึงยักษ์ใหญ่ : แชโบล
ต้องบอกว่า แชโบลเป็นกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากนโยบายภาครัฐ เพราะสร้างงานและสร้างคนได้มาก ซึ่งคนเกาหลีใต้เองก็รู้สึกทั้งรักทั้งชังกลุ่มแชโบล เพราะในแง่หนึ่ง แชโบลเป็นตัวสร้างความเจริญให้ประเทศ นำรายได้จากต่างประเทศเข้าสู่เกาหลีใต้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ครอบงำธุรกิจและการจ้างงานที่ดี
ความสัมพันธ์ระหว่างแชโบลในกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ด้านหนึ่งคือแข่งขันกันหนักมาก เพราะต่างมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้ลูกค้าจากต่างประเทศ นั่นก็เพราะว่าเขาแข่งกันเอง เพราะ “มองโลกเป็นตลาด” ไม่ใช่มุ่งแค่ตลาดภายในเกาหลีใต้เป็นสำคัญ โดย SMEs ส่วนหนึ่งก็อยู่ภายใต้แชโบล แต่อีกส่วนที่ไม่อยู่ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย โดยมีกระทรวง SMEs ช่วยดูแล แต่การดูแลของรัฐไม่ใช่การให้เปล่า หรือดูแลแบบเลี้ยงเฒ่าทารก เขามีกระบวนการคัดเลือกที่ตรวจสอบได้ เมื่อเลือกเข้ามาแล้วก็มีการวัดผล ประเมินผล เพื่อให้เอกชนพัฒนาประสิทธิภาพ (วัดด้วยการแข่งขันกับต่างประเทศได้) หากทำไม่ได้ก็เลิกสนับสนุน ซึ่งเขาไม่ได้ส่งเสริมแบบให้รางวัล แต่ “ลงโทษด้วย” เป็นจุดแข็งของสังคมเกาหลีใต้
ส่วนเรื่อง ‘ลิซ่า’ ที่คนเกาหลีกำลังเรียกร้องให้ค่ายเพลงเลิกเอาต่างชาติมา Debut จริงไหม ? ไม่น่าใช่ครับ เพราะตลาดหลักของ K-Pop ยังอยู่ใน Southeast Asia และยังตัดการพัฒนาศิลปินจากไทยไม่ได้แน่ ๆ ซึ่งข่าวประมาณนี้เกิด ขณะนี้ลิซ่ายังไม่ต่อสัญญากับ YG เลยเหมือนว่าบริษัทใช้มวลชนกดดันเล็ก ๆ ให้ต่อสัญญา แต่ทุกอย่างเป็นเพียงกระแสข่าว ยังไม่ใช่เรื่องสรุปครับ
ผมทิ้งท้ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับสังคมเกาหลีใต้ที่ผมเจอในทริปนี้ ก่อนที่เราจะได้มาเล่ากันยาว ๆ ในคลิปของสื่อ beartai®️ ว่า
- คนมาสาย ไม่รอ (แต่สังคมไทยรอคนมาสายแล้วค่อยประชุม จึงเป็นการให้รางวัลคนมาสายและลงโทษคนที่มารอ… ถูกไหมล่ะ ?)
- ลึก ๆ คนเกาหลีใต้รู้สึกว่าแชโบลครอบงำเศรษฐกิจ แต่ก็เห็นว่าแชโบลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต (เหมือนเป็น Love Hate Relationship เราจึงเห็นผู้ร้ายในซีรีส์เกาหลี มักเป็นประธานแชโบล และผู้ร้ายอีกตัวมักเป็นอัยการ)
- คนเกาหลีใต้รู้ว่าการเข้าทำงานกับกลุ่มแชโบลได้ คือการสร้างหลักประกันให้ชีวิต จึงยอมแข่งขันหนักและทำงานหนักมาก
- อาชีพบันเทิงก็มีคนอยากเข้ามาทำงานเยอะ การกวดวิชาในเด็กมีทุกเรื่องทุกสาขา รวมทั้งอาชีพบันเทิง ซึ่งทำเงิน
อย่าลืมนะครับ เรามีนัดกันทางคลิปของสื่อ beartai®️ เร็ว ๆ นี้ แล้วถ้าชอบก็ช่วยแชร์ด้วยนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส