สถานการณ์แข่งขันเวทีชิปของจีนในระดับโลกดูจะไม่สู้ดีนัก เพราะคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกกุมห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์แทบจะทั้งหมด

แถมด้วยการกระหน่ำออกมาตรการห้ามส่งออกเทคโนโลยีชิปไปยังจีน หวังชะลอการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่ำก็หลัก 5 ปี

สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และพันธมิตรในเอเชียตะวันตกอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ต่างก็ถือส่วนแบ่งการผลิตชิปตั้งแต่จดสิทธิบัตรยันแกะซิลิคอนเป็นชิป ก็เห็นดีเห็นงามกับสหรัฐฯ ด้วย

เพราะเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เกี่ยวพันกับความมั่นคงระหว่างประเทศ

จีนรุกกลับ

แต่จีนก็ไม่ได้ยอมแพ้ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อตอบโต้

กระบวนท่าที่จีนใช้เพื่อต้านทานคลื่นลมและพายุเซมิคอนดักเตอร์ของฝั่งตะวันตกคือการควบคุมวัตถุดิบที่เป็นตัวเลือกในการผลิตชิปอย่างแกลเลียม ที่จีนกุมส่วนแบ่งการผลิตมากกว่า 90% และเจอร์เมเนียมที่จีนผลิตถึง 70% โดยการเพิ่มขั้นตอนการขออนุญาตการส่งออก หรือแบนการส่งออกโดยอ้างความมั่นคง

แกลเลียม (ที่มา SCMP)

การควบคุมแทบจะเบ็ดเสร็จขนาดนี้ทำให้จีนสามารถควบคุมราคาวัตถุดิบเหล่านี้ได้ ผู้ผลิตรายอื่นอย่างเกาหลีใต้ รัสเซีย และคาซัคสถานค่อย ๆ ล้มเลิกความพยายามไปตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

แม้ปัจจุบันผู้วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตชิปคือซิลิคอนเพราะประสิทธิภาพสูงและหาได้ง่ายกว่า แต่วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดยังคงใช้อยู่ในการผลิตชิปและไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอื่น ๆ จากคุณสมบัติที่มีความเหมาะสมต่างกับซิลิคอน

แกลเลียมใช้ในการแปรรูปเป็นแกลเลียมอาร์เซไนด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมชิปความถี่สูงที่ใช้ในสมาร์ตโฟน เทคโนโลยี LED ระบบภาพจับความร้อน แผงโซลาร์ และไฟเบอร์ออปติกส์ที่ใช้ในระบบสื่อสาร เพราะความที่แร่ธาตุชนิดนี้ทนต่อคลื่นความถี่และอุณหภูมิทื่สูงกว่า

ขณะที่ เจอร์เมเนียมเป็นสิ่งหลงเหลือจากกระบวนการสกัดสังกะสีและทองแดง มีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมสายใยแก้ว LED LCD อุปกรณ์ฉายรังสีทางการแพทย์ และอุปกรณ์เชิงรังสีอื่น ๆ

นอกจากการเพิ่มความยุ่งยากในการส่งออกวัตถุดิบแล้ว จีนยังพยายามกีดกันธุรกิจชิปของสหรัฐฯ อย่าง Micron ไม่ให้เข้ามาขายวัตถุดิบในจีนด้วย

Qiming โครงการดูดสมอง

แต่การเอาคืนไม่ได้ให้ประโยชน์กับจีนมากเท่ากับลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของโลกตะวันตก ซึ่งจีนพยายามที่ทำแบบนั้นด้วยการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติด้วยโครงการต่าง ๆ หวังสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเองที่โดดเด่นในระดับโลก

หนึ่งในนั้นคือ Qiming (แปลว่า การตื่นรู้) เป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ผุดขึ้นมาอย่างลับ ๆ หวังคืนชีพ Thousand Talents Plan (TTP) ที่พับโครงการไปตั้งแต่ปี 2018 โดยเชื่อว่าโครงการนี้เริ่มต้นจริงในปี 2019 จนถึงเป็นปัจจุบัน

เน้นหัวกะทิที่จบจากต่างชาติ

หัวใจของ Qiming คือการดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิจีนและต่างชาติที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก และมีประสบการณ์ทำการในบริษัทชั้นนำ โดยทำสัญญารับเงินอัดฉีดมหาศาล ซื้อใจด้วยบ้าน รถ และทรัพย์สินอื่น ๆ

รายงานข่าวจาก Reuters ชี้ว่าเงินทำสัญญาซื้อตัวอาจมีมูลค่าสูงถึงหัวละ 5 ล้านหยวน (ราว 24 ล้านบาท) เลยทีเดียว

มีการทำการตลาดผ่านบริษัทโฆษณาบน LinkedIn และ Zhihu ที่เป็นแพลตฟอร์มหางาน และ ResearchGate แพลตฟอร์มสายวิชาการ ที่บอกโต้ง ๆ เลยว่ารับคนไปเพื่อสนับสนุนโครงการ Qiming

แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดคือการพุ่งทะยานไปเป็นเจ้าด้านเทคโนโลยี ที่มีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อยู่ในนั้นด้วย

Qiming สอดคล้องกับโครงการลักษณะเดียวกันที่แทรกตัวอยู่ในทุกระดับของรัฐบาล ตั้งแต่ระดับประเทศคือ Huoju (แปลว่า คบเพลิง) ของ MIIT ที่มีมาก่อน Qiming มุ่งสร้างคลัสเตอร์ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ส่วนในมณฑลเจ้อเจียงมีแผน Kunpeng ที่หวังดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี 200 คนในระยะเวลา 5 ปี

การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญของจีนทำพร้อมกับความพยายามในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของตัวเองและการหลบหลีกการคว่ำบาตรด้วยวิธีการต่าง ๆ

ได้ผลแค่ไหน

แต่การกุมตลาดชิปยังมีเส้นทางอีกยาวไกล เพราะห่วงโซ่การผลิตชิปไม่ได้จบแค่สามารถผลิตชิป แต่ต้องเข้าใจการออกแบบซอฟต์แวร์พัฒนาชิป เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ชิป และวิธีการย่อขนาดและเพิ่มความถี่ทรานซิสเตอร์ที่แทรกตัวอยู่บนแผ่นซิลิคอน ซึ่งจีนยังตามหลังสหรัฐฯ อยู่หลายขุม

การมีผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมก็ต้องมาพร้อมกับระบบตลาดเสรีที่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน กติกาที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเสรีภาพในการแสดงออกที่นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนยังขาดอยู่

ชิปจีนยังตามหลังอยู่ไกล

มิหนำซ้ำ จีนยังมีกติกามากมายที่แทรกแซงระบบตลาดและควบคุมบริษัทชั้นนำไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในส่วนของการควบคุมการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ก็ผลักดันให้ทั่วโลกกลับมาเปิดสายการแปรรูปวัตถุดิบ หรือหันไปพึ่งพาการผลิตจากประเทศอื่นมากขึ้น บางกรณีก็ลักลอบนำวัตถุดิบออกไปนอกประเทศเอาดื้อ ๆ

ข้อได้เปรียบเดียวที่จีนมีคือราคาต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่า ไม่ใช่การเป็นเจ้าของแกลเกียมและเจอร์เมเนียมที่หาได้ง่ายในธรรมชาติ

แต่สงครามชิปข้ามมหาสมุทรยังคงดำเนินต่อไป ต้องดูว่าจีนจะสามารถพลิกกลับมากอบกู้สถานการณ์ได้มากแค่ไหน

ที่มา Reuters (1,2), USGS, ScienceDirect, CEPA, BBC, CSIS, Stimson Center, The Register

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส