กว่าสองศตวรรษ ที่การค้นพบของทวีปซีแลนเดีย (Zealandia) นั้นเป็นปริศนา และถูกตั้งข้อสงสัยอยู่อย่างต่อเนื่องถึงการมีอยู่ของทวีปนี้ในหมู่นักธรณีวิทยา เพราะกว่า 94% ของทวีปนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทร แต่ในวันนี้ถูกยอมรับให้เป็นทวีปที่ 8 ของโลกแล้ว
มีเพียง 6% ของทวีปซีแลนเดียที่เป็นผืนดิน
จากพื้นที่ทั้งหมด 4,900,000 กิโลเมตรของทวีปซีแลนเดีย (ขนาดใหญ่ 2 ใน 3 ของทวีปออสเตรเลีย) 94% ของทวีปนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด จึงเป็นความท้าทายอย่างมากของนักธรณีวิยา ในการค้นหา และระบุลักษณะอย่างชัดเจนของทวีป
แต่ก็ยังมีอีก 6% ของพื้นที่ ที่โผล่พ้นมหาสมุทรขึ้นมาจนกลายเป็นจุดที่สูงที่สุดของทวีป นั่นก็คือยอดเขาของเทือกเขา จากเกาะ 2 เกาะ ได้แก่ เกาะนิวซีแลนด์ และเกาะ นิวแคลิโดเนีย
ซ้าย: ยอดเขาของเทือกเขา เมาท์คุก (Mount Cook) จุดที่สูงที่สุดของนิวซีแลนด์ (ที่มา: scribblesnz)
ขวา: ยอดของเทือกเขามงต์ ปานี (Mont Panié) จุดที่สูงที่สุดของนิวแคลิโดเนีย (ที่มา: flickr)
แม้จะใหญ่โต แต่ทวีปซีแลนเดียก็มีความหนาของแผ่นเปลือกโลกทวีปอยู่ที่ 20 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับมาตรฐานเปลือกโลกทวีปที่มีความหนาประมาณ 40 กิโลเมตร และเปลือกโลกมหาสมุทรที่หนาประมาณ 10 กิโลเมตร
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า เปลือกทวีปซีแลนเดียมีการยืดออกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แผ่นเปลือกทวีปบางลง จนกระทั่งบางส่วนของทวีปก็จมหายวับลงไปใต้มหาสมุทร
การมุดตัวของมหาสมุทรเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดภูเขาไฟโดยทั่วบริเวณของเกาะบนซีแลนเดีย โดยเฉพาะส่วนเหนือของทวีปซีแลนเดีย ที่มีภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcano) มากถึง 6 แห่ง แถมยังมีน้ำพุร้อนกระจายอยู่ทั่วผืนทวีปอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าหลายส่วนของทวีปจะจมลงใต้มหามสุทรไปแล้ว แต่ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็นำมาสู่การวิจัยเพื่อวาดแผนที่ฉบับสมบูรณ์ของทวีปซีแลนเดียได้อยู่ดี
แผนที่ฉบับสมบูรณ์ของทวีปซีแลนเดีย
หลังจากศึกษากันมาอย่างยาวนาน นักธรณีวิทยานำทีมการวิจัยโดย นิค มอร์ติเมอร์ (Nick Mortimer) ร่วมกับสถาบันจีเอ็นเอส ไซแอนส์ (GNS Science) ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนที่ของทวีปซีแลนเดีย โดยสามารถชมข้อมูลอย่างละเอียดได้บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน
แผนที่ของทวีปซีแลนเดียที่ถูกจัดทำขึ้นโดย GNS Science (ที่มา: BBC)
การวิจัยเพื่อวาดแผนที่นี้ เป็นการต่อเติมส่วนที่เหลือของพื้นที่ทางเหนือทั้งหมดของซีแลนเดีย เพื่อให้ได้แผนที่ฉบับสมบูรณ์ของทวีปนี้ออกมา เพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีการร่างแผนที่ของพื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปไว้แล้ว
และในการศึกษาเพื่อทำแผนที่ทวีปนั้น นักธรณีวิทยาได้ทำการรวบรวมตัวอย่างหินจากก้นทะเลแฟร์เวย์ ริดจ์ (Fairway Ridge) เพื่อตรวจสอบอายุของหินในบริเวณดังกล่าว
หินเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นเลิศ ที่ช่วยระบุถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การก่อตัวของภูเขาไฟ หรือการเริ่มจมลงใต้มหาสมุทรของแผ่นเปลือกโลก
ตัวอย่างหินแกรนิต ที่ขุดมาจากก้นทะเลแฟร์เวย์ ริดจ์ ทางตอนเหนือของซีแลนเดีย โดยเรือสำรวจ R/V ของชาวออสเตรเลีย (ที่มา: GNS Science)
ไม่เพียงแต่หินแกรนิตที่ถูกพบในกลุ่มตัวอย่าง แต่ยังมีหินทราย หินชีวภาพ ก้อนกรวดภูเขาไฟ และหินบะซอลต์ อีกด้วย
ได้รับการยอมรับเป็นทวีปที่ 8 ของโลก
ทั้ง ๆ ที่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้มหาสมุทรแล้วทำไมถึงเรียกว่าทวีป ?
ทวีปโลกทั้ง 8 ทวีป หลังจากยืนยันการมีอยู่ของทวีปซีแลนเดีย (ที่มา: Explorersweb)
นั่นก็เพราะ เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยในการเป็นทวีปแล้ว ซีแลนเดียมีคุณสมบัติในการเป็นทวีปครบทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็น
- ความสูงสัมพัทธ์ของแผ่นดินที่โผล่พ้นจากมหาสมุทร
- ความหลากหลายของชั้นหิน 3 ประเภทคือ หินอัคนี หินแปร และหินตะกอน
- ความหนาของชั้นหินและแผ่นเปลือกโลก เทียบกับพื้นมหาสมุทรโดยรอบ
- ขนาดของพื้นที่ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็นอนุทวีป และชิ้นส่วนของทวีปโบราณ
เมื่อวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์ข้างต้นพิจารณา ประกอบกับการวิจัยเพิ่มเติมของกลุ่มนักธรณีวิทยา ที่ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่แรงโน้มถ่วง จึงทำให้เกิดผลสรุปที่ว่า ซีแลนเดีย คือทวีปที่ 8 ของโลก นั่นเอง
การค้นพบของทวีปซีแลนเดีย
การค้นหาทวีปใหม่ ๆ ในโลกนั้น เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายร้อยปีแล้ว เนื่องจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ทวีปต่าง ๆ ทั้งเคลื่อนที่จมลงใต้มหาสมุทร และโผล่ขึ้นมาเด่นชัดขึ้น
อะเบล แจนส์ซูน ทาสมัน (Abel Janszoon Tasman) นักเดินเรือชาวดัตช์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงการมีอยู่ของทวีปใหม่ใต้เกาะนิวซีแลนด์ที่เชื่อว่ายังไม่มีใครค้นพบ ตั้งแต่ในปี 1642
เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 1985 ก็มีนักธรรมชาติวิทยาชาวสกอต เซอร์ เจมส์ เฮคเตอร์ (Sir James Hector) ที่เดินเรือสำรวจมายืนยันถึงการมีอยู่ของทวีปที่อยู่ใต้เกาะนิวซีแลนด์จริง ๆ
ในที่สุด ในปี 1995 เกาะนิวซีแลนด์ก็ได้ถูกยืนยันว่าเป็นที่ตั้งของทวีปใหม่ที่จมอยู่ใต้มหาสมุทร ซึ่ง บรูซ ลูเยนดิก (Bruce Luyendyk) นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็ออกมาย้ำข้อสรุปของสมมติฐานนี้ และได้เรียกทวีปนี้ว่า “ทวีปซีแลนเดีย”
(ที่มา: IODP/JSRO/Tim Fulton)
แต่ด้วยเทคโนโลยีการเดินเรือสำรวจในสมัยนั้น ประกอบกับพื้นที่ส่วนมากของทวีปซีแลนเดียนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทร ซีแลนเดียจึงถูกเรียกว่าทวีปที่สาปสูญ หรือมีอยู่แค่ในจินตนาการเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถระบุพื้นที่ ที่แน่นอนของทวีปได้
จนกระทั่งในปี 2017 ทวีปซีแลนเดียได้แยกตัวออกมาจากทวีปออสเตรเลียอย่างชัดเจน จึงถูกยอมรับว่าเป็นทวีปที่ 8 ของโลกในที่สุด
ทวีปซีแลนเดียเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มอร์ติเมอร์กล่าวว่า ทวีปซีแลนเดียเปรียบเสมือนชิ้นส่วนหนึ่ง ของมหาทวีป กอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งก็คือทวีปที่ประกอบไปด้วยทวีปต่าง ๆ อีก 7 ทวีป ได้แก่ ทวีปแอนตาร์กติกา ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และทวีปอินเดีย
หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมถึงเรียกทวีปซีแลนเดียว่าเป็นส่วนนึงของกอนด์วานา ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อทั้ง 7 ทวีป ที่กล่าวมาด้านบน
ต้องเกริ่นก่อนว่าในอดีต ซีแลนเดียเป็นส่วนหนึ่งของทวีปออสเตรเลีย ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปโบราณกอนด์วานาที่มีอายุมาหลายร้อยล้านปีแล้ว
มหาทวีปกอนด์วานา ประกอบด้วยทวีป และอนุทวีต่าง ๆ (ที่มา: joidesresolution)
และเมื่อเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา นั่นส่งผลให้มหาทวีปกอนด์วานาได้แยกตัวออกจากกันเมื่อประมาณ 170 ล้านปีที่ผ่านมา
มหาทวีปกอนด์วานา แยกตัวออกไปยังทิศต่าง ๆ (ที่มา: earthathome)
หลังจากการแยกตัวของมหาทวีปผ่านไป จนถึงเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน การแยกตัวของชายฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลียก็ตามมาติด ๆ เริ่มที่เปลือกโลกทวีปตะวันออกของทวีปออสเตรเลียนั้นเกิดการยุบตัวซ้อนทับกัน
ประจวบกับขอบเปลือกโลกทวีปตะวันออกของซีแลนเดียนั้น มุดซ้อนทับกัน จนทำให้เกิดแรงตึงผิวที่แผ่นเปลือกทวีป แล้วดึงแผ่นเปลือกทวีปของซีแลนเดียให้เคลื่อนที่ออกจากทวีปออสเตรเลีย
ทำให้ ทวีปออสเตรเลียและทวีปซีแลนเดียค่อย ๆ แยกออกจากกัน จนเกิดเป็นร่องระหว่างสองทวีป และมีแม่น้ำไหลแทรกผ่านเข้าไปกัดเซาะแนวชายฝั่ง ก่อนที่ทั้งสองทวีปนี้จะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
แนวทวีปซีแลนเดียที่แยกตัวออกจากทวีปออสเตรเลีย และกอนด์วานา (ที่มา: joidesresolution)
นำมาสู่ผลประโยชน์ที่มีมากกว่าแค่ค้นพบทวีปใหม่
ลูเยนดิก กล่าวว่า “ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นมีบทบาทอย่างชัดเจนต่อการค้นพบนี้ ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่า อะไรบ้างที่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของนิวซีแลนด์ แล้วส่วนใดบ้างที่ไม่ใช่ของนิวซีแลนด์”
นั่นก็เพราะว่าการค้นพบนี้ไม่ได้หมายความถึงแค่พื้นที่ที่มีมากขึ้น แต่ยังหมายถึงการมีทรัพยากร แร่ธาตุและน้ำมัน เพิ่มขึ้นอีกด้วย
และหากอ้างอิงจาก อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) ที่ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ นั้นสามารถ ขยายพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไปไกลกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตัวเอง (200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กม. จากชายฝั่งประเทศ) ได้
นั่นหมายความว่านิวซีแลนด์จะสามารถขยายขอบเขตดินแดนไปได้จากปัจจุบันถึง 6 เท่า และยังหมายถึงงบประมาณเพื่อการสำรวจทางทะเลที่มากขึ้น รวมถึงเป็นเจ้าของเชื้อเพลิงฟอสซิล และแร่ธาตุ มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ซ่อนอยู่ตามแนวชายฝั่งอีกด้วย
ที่มา: The standard, BBC, Business Insider, gns science, National Geo graphic, IODP, AGU, NSM, DOALOS, NZME
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส