จากกระแสที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการใช้ AI ในการสร้างผลงานศิลปะ แม้แต่ในประเทศไทยเอง การใช้ AI ในการสร้างงานศิลปะเพื่อเหตุผลทางการค้า ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มศิลปินแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท เดอะ โกสท์ เรดิโอ จำกัด (the ghost radio co., ltd) ได้ออกมาโพสต์ข้อความรับสมัครทีมงานตำแหน่ง AI Artist บน Facebook แต่ก็ต้องยุติการรับสมัครลงทันที หลังมีกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวเน็ต
ใช้ AI สร้างงานศิลปะ
งานศิลปะที่สร้างโดย AI นั้น ถูกปฏิเสธจากนักวาดและศิลปินจำนวนมาก เนื่องมาจากตามหลักการทำงานของ AI นั้น จะต้องมีการเรียนรู้ และจดจำ จากฐานข้อมูลจำนวนมากก่อนที่จะสร้างผลงานใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
เช่นเดียวกับงานศิลปะ หากเราต้องการให้ AI สร้างภาพศิลปะออกมาให้เรานำไปใช้งานนั้น มันก็ต้องเกิดจากการไปเรียนรู้ และจดจำงานเหล่านี้มาจากงานของศิลปินที่เป็นมนุษย์เสียก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือภาพต้นฉบับของศิลปินต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอยู่บนโลกออนไลน์นั่นเอง
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ หากการเรียนรู้และจดจำ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของ AI นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับ แล้วผลงานศิลปะที่สร้างโดยมนุษย์เอง แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักศิลปินท่านอื่นล่ะ จะเป็นที่ยอมรับไหม?
ฟ้องผู้พัฒนา AI
การที่ AI ไปเรียนรู้งานศิลปะจำนวนมากเพื่อมาสร้างงานของตัวเอง แน่นอนว่าทำให้เกิดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินเจ้าของผลงาน แต่การจะฟ้องเครื่องจักรอย่าง AI ก็คงเป็นไปไม่ได้
ในเมื่อเราฟ้อง AI ที่ลอกงานของเราไม่ได้ งั้นก็ฟ้องผู้สร้าง AI ซะเลย!
เครก ปีเตอร์ส (Craig Peters) ประธานบริษัท Getty Images เว็บไซต์ภาพสต็อกชื่อดัง ได้ยื่นฟ้องบริษัท Stability AI ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง Stable Diffusion AI ให้มีความสามารถในการสร้างรูปภาพจากการป้อนข้อความ
ปีเตอร์สเชื่อว่า Stability AI นั้นถูกฝึกโดยการคัดลอก และเรียนรู้จากภาพนับล้านภาพที่เกิดจากปัญญาและความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ โดย AI นั้นกำลังลักลอบเรียนรู้อย่างผิดกฎหมาย และปราศจากการยินยอมจากเจ้าของ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตัวของบริษัทผู้พัฒนาเอง
เริ่มการต่อต้าน
ไม่เพียงแต่บริษัทภาพสต็อก แต่ศิลปินเองก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ เดือนธันวาคมในปี 2022 มีการออกมาเรียกร้องของศิลปินในเว็บไซต์ ArtStation ที่แบนงานศิลปะที่สร้างจาก AI โดยได้ร่วมกันโพสต์ภาพ “NO TO AI GENERATED IMAGES” (ไม่เอาภาพที่สร้างโดย AI) เพื่อแสดงจุดยืนการต่อต้านอย่างชัดเจน
จดลิขสิทธิ์ ผลงานจาก AI ไม่ได้
ในสหรัฐอเมริกา แม้แต่ภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานแสดงสินค้าของรัฐโคโลราโด จากกิจกรรมการประกวดภาพ AI Art นั้น ก็ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ โดยทางรัฐบาลให้เหตุผลว่า ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้เนื่องจากมีเครื่องจักรเป็นองค์ประกอบในการสร้างงานมากเกินไป และมนุษย์มีส่วนร่วมในงานน้อยเกินไป
ภาพ Théâtre D’opéra Spatial ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวด สร้างโดย แมททิว เอลเลน (Matthew Allen) (ที่มา:wired)
เช่นเดียวกับการตัดสินคดีการฟ้องเพื่อจดลิขสิทธิ์ภาพที่ตนใช้ AI สร้างขึ้นมา ของ สตีเฟน ธาเลอร์ (Stephen Thaler) ซึ่งผู้พิพากษาได้ทำการตัดสินว่า ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ภาพได้ เนื่องมาจากว่า การจดลิขสิทธิ์ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ผลงาน
A Recent Entrance to Paradise
อย่างไรก็ตาม ในการจดลิขสิทธิ์นั้น ต้องอ้างอิงจากกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย เพราะถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้จดลิขสิทธิ์ภาพที่สร้างโดย AI แต่ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และประเทศอินเดีย เป็นต้น
ส่วนในไทยนั้น ยังคงไม่สามารถจดลิขสิทธิ์งานศิลปะจาก AI ได้ โดย ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวว่า “ผลงานจาก AI ไม่ใช่ผลงานที่รังสรรค์โดยมนุษย์ จึงไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ แต่ถ้ากรณีที่เป็นการร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI ก็สามารถจดลิขสิทธิ์ได้”
มองมุมผู้สนับสนุน AI
ในมุมของศิลปินการมาถึงของของ Genarative AI คือการที่เครื่องจักรดูดข้อมูลจำนวนมากเพื่อสร้างงานลอกเลียนแบบมูลค่าต่ำมาแย่งงานของศิลปิน แต่ในมุมมองผู้สนับสนุน AI การที่ AI ใช้วาดภาพได้ ก็ทำให้คนจำนวนมากสามารถสร้างสรรค์ภาพที่เหมาะสำหรับงานของตัวเองได้ โดยเฉพาะกับงานสเกลเล็กที่ไม่มีเงินลงทุนจ้างศิลปิน หรืองานอาร์ตแบบใช้แล้วทิ้ง งานภาพ Artwork อายุสั้นที่ต้องโปรโมตอะไรบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นภาพโปรโมชันด่วนถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น ที่ลงทุนจ้างศิลปินวาดให้ก็ไม่ทัน และไม่คุ้ม เพราะต้องการงานที่รวดเร็ว ทำจำนวนมาก และไม่แคร์ที่จะถูกก๊อปภาพไปใช้ต่อด้วย
ส่วนประเด็นว่า AI ลอกเลียนลายเส้น ผู้สนับสนุน AI ก็มองว่าสุดท้ายถ้า AI เอาลายเส้นที่มีปัญหาออกทั้งหมด และใช้งานแบบ Public Domain หรืองานศิลปะเก่าที่กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้ว พวกเขาก็ยังใช้ AI ได้อยู่ดี แม้ว่าอาจจะไม่ได้สวยตรงใจนัก แต่ก็ยังใช้ได้ และเชื่อว่า AI ก็จะหาทางพัฒนาในกรอบจำกัดได้
มุมมองผู้สนับสนุน AI จึงมองว่ายังไงศิลปินก็หนีการอยู่ร่วมกับ AI ไม่พ้น จะเร็วหรือช้ายังไง AI ก็จะเข้ามา ศิลปินจึงควรหาทางนำ AI มาเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนางานของตัวเอง มอง AI เป็นเครื่องมือเหมือน Photoshop เพราะการใช้ AI เป็นเครื่องมือสร้างงานหยาบ ๆ ขึ้นมาก่อน แล้วใช้ฝีมือของศิลปินมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นงานที่ตรงใจศิลปินหรือลูกค้ามากขึ้น มันก็ถือว่าเป็นผลงานของศิลปินคนนั้น ซึ่งเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ได้ แถมยังประหยัดเวลาและแรงกายในการสร้างผลงานอีกด้วย
บทเรียน
จากกรณีที่ บริษัท เดอะ โกสท์ เรดิโอ จำกัด ได้ทำการโพสต์รับสมัครทีมงานในตำแหน่ง AI Artist นั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเน็ตเป็นอย่างมาก จนทางบริษัทต้องทำการลบโพสต์นั้นออกไป และพิจารณาการกระทำของตนเองอีกครั้ง
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากในประเทศไทยเองก็คัดค้าน และปฏิเสธการใช้ AI ในการสร้างงานศิลปะเช่นกัน แต่ว่ากระแสต่อต้านนี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน แล้วบทสรุปของการใช้ AI ในการสร้างงานศิลปะจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา: The Verge, Meta (Facebook), Vice, Wired, Thai PBS, Hanging Investment
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส