ความพยายามของ TikTok ในหลายปีที่ผ่านมาเพื่อคลายความกังวลด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะแตกสลายไปเมื่อ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในกฎหมายแบน TikTok
กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มว่ารัฐบัญญัติการคุ้มครองอเมริกันชนจากแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐศัตรูต่างชาติ (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) ซึ่งบังคับให้ ByteDance ที่เป็นบริษัทแม่ต้องขาย TikTok ให้ธุรกิจในสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นจะถูกแบนจากทุกแพลตฟอร์ม
ทำไมสหรัฐฯ ถึงระแวง TikTok
เหตุหลักที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการแบน TikTok ก็มาจาก ‘ความกังวล’ ในด้านความมั่นคงที่ว่า TikTok จะเปิดช่องทางให้รัฐบาลจีนเก็บเกี่ยวข้อมูลประชาชน และนำไปสู่การแทรกแซงการเมืองภายในได้ เช่นเดียวกับความกังวลที่ว่า TikTok ครองใจชาวอเมริกันและประชาชนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงเวลา 2 ปี มียอดผู้ใช้ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อีกทั้ง TikTok ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่มีธุรกิจจีนอย่าง ByteDance เป็นเจ้าของ ซึ่งตัว ByteDance แม้จะมีผู้ก่อตั้งชาวจีนถือหุ้นเพียง 20% แต่ก็ถือว่าเป็นหุ้นก้อนที่ใหญ่ที่สุด (ที่เหลือ 60% เป็นของบริษัทลงทุนทั่วโลก และอีก 20% สุดท้ายเป็นของพนักงาน)
แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า TikTok ทำอย่างที่มีการกล่าวหาจริง อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานว่า ByteDance มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนโดยตรง แม้จะเคยมีรายงานว่าพนักงานของ ByteDance ใช้ TikTok สอดแนมนักข่าวในสหรัฐฯ ก็ตาม
เพลเลออน หลิน (Pellaeon Lin) นักวิจัยชาวไต้หวันจาก Citizen Lab แห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโท เคยทำการวิเคราะห์เชิงเทคนิคเพื่อดูว่า TikTok เก็บข้อมูลผู้ใช้งานหรือไม่ แต่ก็ไม่พบว่ามีการเก็บข้อมูลมากไปกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ทางด้าน อาร์เหม็ด กัปปัวร์ (Ahmed Ghappour) อาจารย์ด้านความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญา จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ชี้ว่าปัจจุบันยังขาดหลักฐานว่าจีนคอยเก็บข้อมูลจาก TikTok หรือพยายามบังคับให้ TikTok ดัดแปลงข้อมูลผู้ใช้งาน
รัฐบาลจีนครอบงำ?
กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับที่รัฐบาลจีนประกาศใช้ ยังมีผลในทางบังคับธุรกิจในจีนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Law) ที่บังคับให้ธุรกิจจีนต้องร่วมมือกับรัฐบาลในงานด้านข่าวกรอง หรือกฎหมายอัลกอริทึม และกฎหมายด้านข่าวกรองที่บังคับให้ธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลในหลายส่วนให้รัฐบาลจีน
จีนยังมีกฎหมายที่บังคับให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องยอมยกหุ้นส่วนหนึ่งหรือที่เรียกว่า หุ้นทองคำ (Golden Share) รวมถึงที่นั่งในบอร์ดบริหารให้กับสมาชิกพรรคคมิวนิสต์ ซึ่งบริษัทลูกของ ByteDance ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ฉะนั้นหลายฝ่ายจึงไม่เชื่อว่าบริษัทที่มีความสำคัญขนาด ByteDance ที่ถือข้อมูลของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมหาศาลผ่าน TikTok ที่ได้รับความนิยมสูง และ Douyin (TikTok เวอร์ชันจีน) จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของรัฐบาลไปได้
หยินเทา หยู (Yintao Yu) อดีตผู้บริหารฝ่ายวิศวกรรมของ ByteDance สาขาสหรัฐฯ ออกมาแฉเมื่อปีที่แล้วว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีรหัสใช้งานพิเศษที่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานที่ ByteDance ถืออยู่ ซึ่งมีข้อมูลของผู้ใช้สหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย
สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศแรก
อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่แบน TikTok รวมถึงแอปจีนมากกว่า 60 รายการอย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากความขัดแย้งกับอินเดีย ซึ่งเกิดจากข้อพิพาทในเรื่องของดินแดนและความกังวลด้านความมั่นคง ตั้งแต่ปี 2020
ในขณะที่อีกกว่า 16 ประเทศที่แบน TikTok ในสถานที่ทำงานของรัฐอาจจะทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ลัตเวีย และเดนมาร์ก
การแบน TikTok ยังไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แต่อยู่ท่ามการแข่งขันทางอิทธิพลระดับโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐฯ ใช้อำนาจความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่มีอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ไปจนถึงญี่ปุ่น พากันปิดกั้นจีนทางเทคโนโลยี โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้นำไปใช้ในทางทหาร
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
แน่นอนว่าทางเลือกหลักในตอนนี้สำหรับ ByteDance และ TikTok มีอยู่ 2 ทางเท่านั้น คือเลือกที่จะขายหรือเลือกที่จะถูกแบนออกจากทุกร้านค้าแอปและโดเมนของสหรัฐฯ
ไม่ว่าทางไหนก็อ่วมทั้งนั้น เพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลัง และเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีของ ByteDance จนยากที่จะยอมเสียไปง่าย ๆ ได้ อีกทั้งหาก TikTok แอบสอดแนมข้อมูลของชาวอเมริกันให้รัฐบาลจีนจริง การขายบริษัทให้สหรัฐฯ ทั้งหมดก็อาจเป็นข้ออ้างในการ ‘เปิดโปง’ ข้อมูลภายในไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
สหรัฐฯ ยังถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ TikTok มากที่สุดในโลก หากไม่ยอมขาย TikTok จนถูกแบนไปดื้อ ๆ ก็คงเสียรายได้ไปโดยเปล่าประโยชน์
และต้องอย่าลืมว่ารัฐบาลจีนจะต้องเข้ามามีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจครั้งนี้แน่นอน เนื่องด้วยกฎหมายที่เข้มงวดตามที่กล่าวไปแล้ว
ถ้ายอมขาย
หาก ByteDance ยอมขาย TikTok โดยดี ก็ต้องดูว่าธุรกิจที่จะรับช่วงต่อไปนั้นเป็นใคร และจะทำยังไงกับบริษัทต่อไป โดยเฉพาะถ้าเป็นหนึ่งในคู่แข่งของ TikTok ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจต่อรองในทางเทคโนโลยีมากขึ้นไปอีก
แต่หน่วยกำกับดูแลที่ค่อนข้างเข้มงวดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะคณะกรรมการการค้ากลาง (Federal Trade Commission) และคณะกรรมการการสื่อสาร (Federal Communication Commission) ก็จะพยายามขวางการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดโซเชียลมีเดียที่มีมากอยู่แล้วของบางเจ้า
ถ้าไม่ยอม
ถ้า ByteDance ยืนกรานไม่ยอมขายธุรกิจ TikTok ในสหรัฐฯ ก็เท่ากับว่าผู้ใช้งานที่มีมากถึง 80 – 150 ล้านคนจะเคว้งคว้าง (ถ้าไม่มุด VPN ไปใช้ TikTok) ต้องอพยพข้ามไปเสพแพลตฟอร์มคู่แข่งในสหรัฐฯ อย่าง Facebook และ YouTube ที่มีฟีเจอร์วิดีโอสั้น Reels และ Shorts ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้กับแพลตฟอร์มทั้ง 2 เจ้าให้มีอำนาจเหนือข้อมูลของผู้ใช้งานมากขึ้นไปอีก
สิ่งคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นในอินเดียมาแล้ว หลังจากที่รัฐบาลอินเดียแบน TikTok อย่างถาวรออกจากทุกพื้นที่บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้ชาวอินเดียที่มีอยู่กว่า 200 ล้านคนย้ายไปใช้แอปข้างเคียงอย่าง YouTube และ Instagram แทน รวมถึงแอปสัญชาติอินเดียที่มีพื้นที่ตลาดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ถึงแม้ ByteDance จะยอมขาย TikTok แต่รัฐบาลจีนก็ไม่น่าจะยอมง่าย ๆ หรือถ้ายอมก็คงจะจำกัดมาก ๆ เช่นอาจจะยอมให้ขายบริษัท แต่ไม่ให้ขายอัลกอริทึมที่บริษัทถืออยู่
อาร์เธอร์ ตง (Arthur Dong) อาจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจแม็กโดนัฟ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ไม่เชื่อว่าจีนจะยอมให้ขาย TikTok เพราะอาจรู้สึกว่ากำลังโดน “เอาปืนจ่อหัว” อยู่ ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ชอบการถูกบังคับจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ทางเลือกอื่น
นักวิเคราะห์มองว่า TikTok ยังสามารถซื้อเวลาให้ตัวเองด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อยื่นอุทธรณ์กฎหมายแบนตัวเองได้อยู่อีก
ซึ่งหาก TikTok สามารถยื้อไปจนได้ถึงหลังเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างที่จะมีขึ้นในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ก็อาจหวังได้ว่าจะสามารถนำเสนอร่างแก้กฎหมาย แต่นั่นก็จะต้องใช้เวลานานมาก
อีกทั้งแม้ว่าหากหลังเลือกตั้งจะได้สัดส่วนพรรคเสียงข้างมากต่างจากเดิม เพราะผู้ที่ลงมติเห็นชอบกฎหมายแบน TikTok ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 360 ต่อ 58 เสียง มาจากทั้ง 2 พรรคที่มีเสียงไม่ต่างกันมาก
ผลกระทบถึงไทย?
ไม่ว่าจะขายหรือไม่ขาย โมเดลการซื้อบริษัทที่รัฐบาลมองว่าเป็นภัย อาจกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองที่ประเทศอื่นหันมาทำตาม และยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างขั้วประเทศมหาอำนาจยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
สหรัฐฯ อาจใช้ผลของกฎหมายแบน TikTok เป็นข้ออ้างในการกดดันชาติพันธมิตรให้แบน TikTok เหมือนกับตัวเอง โดยใช้มาตรการคว่ำบาตรมาเป็นข้อต่อรอง เหมือนกับที่ทำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่น ๆ
แต่กว่าเราจะได้เห็นการแบน TikTok เกิดขึ้นก็ยังต้องรออย่างน้อยเกือบ 1 ปี กว่าจะได้เห็นบทสรุปที่ทุกคนอยากรู้