การมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft บริษัทที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับของโลก ช่วยสร้างความหวังการเป็นศูนย์กลาง AI ของภูมิภาค

เป้าหมายของการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้าน AI ในภูมิภาค และทั่วโลก ซึ่งเป็นแผนทุ่มงบประมาณของบริษัท

การลงทุนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 เมษายน) นาเดลลาประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 1,700 ล้านเหรียญในการบริการคลาวด์และ AI ในอินโดนีเซียด้วย

นอกจากนี้ นาเดลลาประกาศว่าบริษัทจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI มูลค่า 2,200 ล้านเหรียญในมาเลเซีย (ราว 81,180 ล้านบาท) รวมถึงจะจับมือกับรัฐบาลตั้งศูนย์ AI แห่งชาติในลักษณะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่อฝึกอบรมบุคลากรและพัฒนาศักยภาพในด้าน AI ของประเทศ

ระหว่างการเยือนยังได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) ในการพัฒนา AI และยกระดับประชาคมนักพัฒนาในประเทศ

ตัดมาที่ไทย

ไทยก็ไม่น้อยหน้า นาเดลลาได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และกล่าวว่า Microsoft จะตั้งศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมพัฒนาศักยภาพด้าน AI ของคนไทยกว่า 100,000 คน และสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาในไทย

โดยมีการประกาศโครงการ AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry (ทักษะ AI สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พึ่งพา AI) มุ่งเสริมทักษะด้าน AI ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Microsoft กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี

อีกทั้งในเดือนเมษายน Microsoft ยังเคยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการฝึกอบรมด้าน AI ให้กับประชาชนมากถึง 2.5 ล้านคนทั้งในไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ภายในปี 2025 ด้วย

อย่างไรก็ดี กลับไม่มีการประกาศจำนวนเงินลงทุน และกรอบระยะเวลาในการลงทุน ต่างจากในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่นาเดลลาให้รายละเอียดได้อย่างชัดเจน

ทำไมถึงไม่ชัดเจน

เหตุผลที่นาเดลลาและ Microsoft ไม่ได้ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนอาจจะมาจากเพราะหลากหลายประการด้วยกัน

  • ประเด็นแรก ในสายตาของ Microsoft อาจมองว่ากลุ่มลูกค้า AI ยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในธุรกิจใหญ่ ๆ มากกว่า ต่างจากในอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่อาจจะมีศักยภาพสูงกว่าในด้านนี้
  • ประเด็นต่อมาคือการพัฒนาศักยภาพคนที่ไทยเองอาจมีข้อจำกัดอยู่ บุคลากรด้าน AI ยังอาจมีไม่มากพอที่จะดึงดูดการพัฒนา AI ได้อย่างชัดเจน
  • นอกจากนี้ ในด้านความพร้อมเชิงนโยบาย ไทยยังตามหลังอีก 2 ประเทศอยู่หลายปี อินโดนีเซียออกยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI (Strategi Nasional Kecerdasan Artifisial) มาตั้งแต่ปี 2020 ขณะที่มาเลเซียมีแผนขับเคลื่อน AI แห่งชาติ 2021 – 2025 (The National Artificial Intelligence Roadmap 2021-2025 ขณะที่ไทยเพิ่งจะมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) มาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
  • ส่วนในประเด็นการเติบโตของตลาดการลงทุน AI ภายในประเทศ เมื่อเทียบกันแล้ว พบว่าแม้ไทยจะตามหลังอินโดนีเซียอยู่ แต่จากการประเมินของเว็บไซต์สถิติ Statista พบว่าโอกาสการเติบโตของของตลาดการลงทุน AI ไทยยังนำมาเลเซียอยู่มาก
  • ประเด็นสุดท้ายคือประเด็นทางการเมือง Microsoft อาจประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองในไทยอาจมีความอ่อนไหวมากกว่าในอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีความมั่นคงกว่า สะท้อนได้จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบันน่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ Microsoft ในฐานะนักลุงทุนได้มากขึ้น

Microsoft อาจกำลังประเมินทิศทางสถานการณ์ในอนาคตเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นก่อนจะประกาศตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ไทยต้องพิสูจน์ตัวเองกันต่อไป