สาย LAN ระดับ Audiophile
สาย USB เทพทำให้เสียงเปลี่ยน
เสาเข็มตั้งลำโพง ให้เสียงสงัด
นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ขายกันในวงการเครื่องเสียงราคาแพง ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงมากมายในโลกโซเซียล ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถทำให้เสียงเปลี่ยนไปได้จริงหรือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดิจิทัล เช่น สาย LAN หรือสาย USB ที่สร้างความกังขาว่ามันจะเปลี่ยนลักษณะเสียงได้อย่างไร และประเด็นที่เราจะชวนคุยในวันนี้คือทำไมวงการเครื่องเสียงถึงมีผลิตภัณฑ์แบบนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ความเชื่อ ผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ฝรั่งเรียกว่า Snake Oil หรือน้ำมันงูครอบจักรวาล ออกมาเยอะกว่าวงการอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุที่เราพอจะเรียงร้อยออกมาได้คือ
สาเหตุที่วงการเครื่องเสียงมีผลิตภัณฑ์น่าเหลือเชื่อเยอะ
เพราะมนุษย์เป็นเครื่องมือวัดที่แย่ เอนเอียงตามอคติ
ในเรื่องของเสียงอาจมีสาเหตุร้อยแปดพันเก้าที่ทำให้เสียงเปลี่ยนได้ เช่น เปิดม่านกับปิดม่าน ก็ทำให้การสะท้อนเสียงในห้องเปลี่ยนไป หรือการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในห้องก็อาจทำให้ลักษณะอะคูสติกของห้องเปลี่ยนไปเช่นกัน ตำแหน่งการฟังในห้องก็มีผลต่อเสียง แต่เคยไหมครับที่ไม่ได้ทำอะไรกับห้องเลย เปิดเพลงเดิม ลำโพงเดิม ผ่านบริการเดิม ฟังที่เดิม บางวันก็รู้สึกว่าเสียงเปลี่ยนไปซะอย่างนั้น เพราะหูของมนุษย์นั้นเป็นเครื่องมือวัดที่แย่มาก ความรู้สึกต่อเสียงนั้นพร้อมเปลี่ยนตามอารมณ์ ความรู้สึก หรืออคติที่เข้ามาในตอนนั้น
อย่างเราอาจมีความรู้สึกว่าของที่กำลังใช้อยู่เป็นของที่ดี เช่น นี่เป็นสาย LAN ราคาแพงนะ นี่เป็นสาย USB ที่สวยนะ คนขายโฆษณาว่ามันพิเศษอย่างนี้นะ อคติก็จะพาเราไปสู่ความรู้สึกว่าเสียบสายนี้แล้วเสียงดีกว่า ซึ่งมันเป็นเรื่องของจิตใจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าความเป็นจริง
เรื่องนี้จะเห็นชัดเจนผ่านการทำ Blind Test ที่เมื่อจำกัดตัวแปรที่เรารับรู้ได้ เมื่อผู้ทดสอบไม่เห็นหน้าตาสาย ไม่เห็นว่าเสียบอะไรอยู่ เหลือเพียงแค่เสียงที่เล่นออกมาเท่านั้น ก็ไม่สามารถแยกเสียงที่คล้ายกันมาก ๆ ออกจากกันได้
ซึ่งเมื่อผู้ผลิตจับจุดความโอนอ่อนและอคติของมนุษย์ได้ ก็จึงออกผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ออกมาได้ และเคลมว่าทำให้เสียงดีขึ้น แม้ว่าเมื่อนำมาทำ Blind Test จะแยกไม่ออกก็ตาม
เพราะโลกเครื่องเสียง มักนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายเกินตัว
แม้ว่าในโลกของเครื่องเสียงจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มากมาย เต็มไปด้วยศัพท์แสงที่ดูมีความรู้จนต้องไปตามอ่านหาความหมาย แต่การอธิบายเหตุผลที่มาที่ไปในโลกเครื่องเสียง บางครั้งมีการให้น้ำหนักกับสิ่งที่ส่งผลเพียงเล็กน้อย แต่อธิบายเกินตัวจนสร้างความเชื่อโน้มเอียงไปทางผู้ผลิตว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี
เช่นการอธิบายเรื่องของ Jitter เรื่องของสัญญาณรบกวนต่าง ๆ ที่กระทบสัญญาณเสียงที่ส่งมาในสายจนลักษณะเสียงเปลี่ยนไป หรือประเภทของวัสดุในสาย ที่มีผลต่อสัญญาณที่เปลี่ยนไป ซึ่งข้อมูลที่นำมาอธิบายเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่ผิด มันมีผลกระทบต่อสัญญาณที่อยู่ในสายจริง ๆ
เพียงแต่มันเป็นการนำความรู้ในโลกของแอนะล็อก มาอธิบายการส่งสัญญาณดิจิทัล มีการพยายามทำให้เชื่อว่าสัญญาณดิจิทัลจะได้รับผลกระทบมากมายอย่างที่สัญญาณแอนะล็อกได้รับผลกระทบ
อธิบายอย่างย่อคือ ในโลกแอนะล็อก ทุกความเพี้ยนของสัญญาณ ทุกลักษณะกราฟที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลกับลักษณะเสียงที่ออกมา แต่ในโลกของดิจิทัลมีการออกแบบเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ของแอนะล็อกเอาไว้แล้ว ทั้งพื้นฐานที่ส่งสัญญาณเป็น 0 กับ 1 ทำให้สัญญาณรับความเพี้ยนได้โดยที่ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิม เช่นถ้าสัญญาณไฟฟ้าอยู่ในช่วง 1.0 – 1.5 V ให้ตีความเป็น 0 ส่วนถ้าเป็น 1.51 – 2 V ให้ตีความเป็น 1 ก็ทำให้สัญญาณสามารถเพี้ยน +- 0.5 V ได้ โดยที่ไม่ทำให้ผลเปลี่ยนไป ต่างจากสัญญาณแอนาล็อกที่เปลี่ยนไปแค่ 0.1 V ก็ถือว่าสัญญาณเพี้ยนแล้ว
นอกจากนี้การทำงานของสัญญาณดิจิทัลในสายส่งข้อมูลอย่างสาย USB หรือสาย LAN ยังมีโปรโตคอลรับส่งข้อมูลที่มีการสอบกลับว่าข้อมูลที่ส่งไปผิดพลาดหรือไม่ รวมถึงเครื่องเสียงในระบบดิจิทัลยังมีสิ่งที่เรียกว่า Buffer ที่จะพักข้อมูลเก็บไว้ก่อนที่จะถูกใช้งาน ทำให้แม้สัญญาณเสียหายบางส่วน ก็ยังมีเวลาให้ส่งสัญญาณที่ถูกต้องกลับมาซ้ำได้ จนทำให้การเล่นไม่มีสะดุด
นี่จึงเป็นตัวอย่างของการนำวิทยาศาสตร์ที่ความจริงถูกต้อง มาอธิบายบางเรื่องที่ไม่ได้รับผลกระทบมากขนาดนั้นจนเกินตัว สร้างความเชื่อว่าการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก ทั้งที่จริง ๆ ต่างกันแค่นิดเดียว แต่ผู้ใช้รับรู้ได้เพราะอคติคิดว่ามันดี
เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้นทุนต่ำ กำไรสูง
ในโลกของการสร้างผลิตภัณฑ์ สิ่งที่พัฒนายากย่อมมีต้นทุนสูง และต้องขายราคาแพง อย่างตัวลำโพงที่ต้องใช้เวลาออกแบบทดสอบมากมาย กว่าจะได้ลำโพงที่ดีออกมา หรือหูฟัง ที่ต้องคำนวณการสะท้อนของเสียงภายใน ความสัมพันธ์ของไดรเวอร์แต่ละตัว ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือหน่วยประมวลผลเสียง ที่วิจัยอัลกอริทึมปรับปรุงเสียงมากมาย กว่าจะออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับเสียงได้ ซึ่งเราเข้าใจได้ว่าความยากเหล่านี้มีต้นทุนสูง เลยขายแพง
แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่การพัฒนาไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น ความแพงเลยมาจากการสร้างสตอรี่ให้ผลิตภัณฑ์ การออกแบบที่ดูดี และใช้ราคาที่สูงมาช่วยยกระดับความพรีเมียม เลยกลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ แต่ขายแพง จนสามารถสร้างกำไรสูง จึงสามารถอยู่คู่กับวงการเครื่องเสียงมาได้ทุกยุคทุกสมัย
การให้น้ำหนักการลงทุนเครื่องเสียง
ถ้าให้เราลำดับสิ่งที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพเสียงจากมากที่สุด ไปหาน้อยที่สุด น่าจะเรียงได้ดังนี้
- ลำโพงหรือหูฟัง เพราะเปลี่ยนชิ้นนี้ เสียงเปลี่ยนแน่นอน
- ไฟล์เพลง แผ่นเสียง ฟังเพลงจากแหล่งคุณภาพสูง ให้เสียงดีแบบรู้สึกได้
- เครื่องเล่นเพลง หรืออุปกรณ์พวก DAC ต่าง ๆ เครื่องเล่นเพลงที่ดี ก็สร้างความแตกต่างได้ แต่อาจต้องใช้สมาธิในการแยกแยะนิดหนึ่ง
- สายเชื่อมต่อเสียงแอนะล็อก จะเห็นความแตกต่างชัด ถ้าอยู่ในที่ที่มีสัญญาณรบกวนเยอะ รวมถึงลักษณะเสียงเปลี่ยนได้นิดหน่อยจากองค์ประกอบสาย
- สายเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัล สังเกตความเปลี่ยนแปลงของเสียงยากมาก
เพราะฉะนั้นเราจึงแนะนำให้เลือกลงทุนไล่ลำดับจาก 1-5 ครับ ลงทุนกับลำโพงหรือหูฟังที่ดีไปให้สุดเท่าที่งบจะอำนวย ดีกว่าไปจ่ายเงินให้สิ่งที่เห็นความแตกต่างน้อยอย่างสายดิจิทัล เว้นแต่คุณจะอัปเกรดทุกอย่างมาหมดแล้ว อยากไปต่อให้สุด ก็ไม่ว่ากัน