ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงมรสุมใหญ่ของ Intel เลยก็ว่าได้ เจอปัญหาทั้งหุ้นตก ปลดพนักงาน เจอ CPU บั๊กในระดับที่ไม่อาจจะกลับมาได้ แถมทั้งหมดนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเรื่องราวใหญ่โตเลยทีเดียว ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบอะไรกับเรา และเราควรรู้อะไรบ้าง ?

เกิดเรื่องราวอะไรขึ้น

สำหรับใครที่ยังไม่ทันได้ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานั้น เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มมาจาก Intel ได้ออก CPU รุ่นเล่นเกมประจำปีเป็นปกติ โดยได้ออก Intel Core i9-13900K และ Intel Core i9-14900K ออกมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติ CPU ระดับนี้ การที่คนจะนำเอามาใช้งานเพื่อเป็นเครื่องเล่นเกม หรือกระทั่งเครื่องที่มีไว้พัฒนาเกมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นปกติมาก ๆ ครับ เพราะจะต้องการเครื่องที่ดีที่สุดที่จะสามารถเล่นได้ เพื่อทำให้ตัวเกมมีประสิทธิภาพได้ดีที่สุด

แต่ต่อมา CPU ของ Intel ตัวท็อปนี้ก็ได้เกิดปัญหาขึ้น เริ่มจากการที่ตัว CPU ทำให้เกิดจอฟ้าเมื่อเราเล่นเกมนาน ๆ หรือกระทั่งใช้งานอยู่ก็เกิดจอฟ้าได้ จนกลายเป็นว่าคนที่ใช้ CPU ตัวใหม่ 2 รุ่นนี้ เกมที่เล่นอยู่มักค้างและเด้งออกกะทันหันตลอดเวลาเลย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา โดยยังไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เวลายิ่งผ่านไป จำนวนเคสก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่โต นำไปสู่การออกข่าวมากมาย และเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา

หลังจากนั้นก็เป็นไปตามไทม์ไลน์เลยครับ ตั้งแต่การตามหาสาเหตุของการบั๊กครั้งนี้ จนล่าสุดได้ผลออกมาว่า

ปัญหาที่ทำให้เครื่องเกิดบั๊กนั้น ได้เกิดจากการที่ CPU ของ Intel เจอปัญหาในระดับ ‘Microcode’

Intel ก็เลยพยายามแก้ไขด้วยการอัปเดตแก้บั๊กตัวนี้ และเพิ่มระยะเวลาประกันจาก 3 ปี เป็น 5 ปีอีกด้วยนะ

และแม้เรื่องราวนี้จะจบลงไป แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบของเหตุการณ์นี้ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อ Intel ประกาศปลดคนงานออกไปกว่า 15,000 คน อันเนื่องมาจากการลดค่าใช้จ่ายราว 10,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 353,000 ล้านบาท) แถมยังจะลดค่าใช้จ่ายด้าน R&D และการตลาดอีกหลายพันล้านเหรียญจนถึงปี 2026 อีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไตรมาสนี้ รายได้ของ Intel อยู่ที่ 1,280 ล้านเหรียญ (ประมาณ 452,000 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าอยู่ 1% และขาดทุนอยู่ 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 56,500 ล้านบาท) จากการลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตชิป ในขณะที่ยอดขายจากสินค้าของแบรนด์ยังคงไม่ต่างจากคู่แข่งมาก และมีธุรกิจ PC และเซิร์ฟเวอร์ที่ยังคงทำกำไรได้อีก

การปลดคนและเรื่องของกำไรที่หายไปนี้ ส่งผลต่อผู้ถือหุ้น และมีคนเทขายออกไป การเทขายหุ้นออกไปนี้ เลยส่งผลให้หุ้นของ Intel นั้นดิ่งลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังลงอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าว่าจะกลับขึ้นมาเหมือนเดิมได้ด้วย

มรสุมลูกใหญ่ที่ Intel ต้องเผชิญในปี 2024 นี้

1
Intel เผยว่ายังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิด Bug ใน CPU Core I9 (Gen 13-14)

Intel ออกมาเผยว่ายังไม่มีตัวแก้ไขความผิดพลาด (Bug) ในชิป CPU Core I9 ในรุ่น Raptor Lake และ Raptor …อ่านต่อ

2
3
4
5
6
Intel เพิ่มเวลาในการรับประกัน CPU Generation ที่ 13 และ 14 เพิ่มให้อีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี !

Intel ประกาศเพิ่มระยะเวลารับประกัน CPU Core 13th และ 14th Gen ให้เพิ่มอีก 2 ปี สำหรับ CPU …อ่านต่อ

7
Intel ประกาศปลดพนักงานกว่า 15,000 ตำแหน่ง หวังลดต้นทุนและงานที่ไม่จำเป็น !

Intel ประกาศจะลดจำนวนพนักงานลงมากกว่า 15,000 ตำแหน่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายราว 10,000 ล้านเหรียญ (ราว …อ่านต่อ

Microcode คืออะไร ทำไม CPU ถึงบั๊กได้ ?

อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องมีคนสงสัยกันแน่ ๆ ว่า เจ้า Microcode นี่มันคืออะไรกัน ทำไมถึงส่งผลต่อการบั๊กของ CPU ได้ขนาดนี้ ซึ่งคุณอานนท์ ปุ้ยตระกูล ได้อธิบายการทำงานของ Microcode ไว้บนเว็บไซต์ส่วนตัวของเขาว่า Microcode นั้นคือชุดคำสั่งที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของ CPU หรือเป็นคนกลางระหว่าง CPU และ ISA (Instruction Set Architecture) ของ CPU เพื่อที่จะแปลงคำสั่งให้เป็นขั้นตอนที่ CPU ต้องทำจริง ๆ ข้อดีของการใช้ Microcode นี้ก็คือ ผู้ผลิตแต่ละรายสามารถสร้างคำสั่งภายใน Machine Code ได้มากขึ้น แบบที่ไม่ต้องเขียนวงจรใหม่ ก็แค่อัปเดตโค้ดนี้ใส่เข้าไปโดยตรงเท่านั้นเอง

เพียงแต่ว่าปัญหาที่เจอโดยเฉพาะในกรณีนี้ก็คือการที่ตัวโค้ดนั้นสามารถทำงานผิดพลาดได้ ด้วยว่าการทำงานของ Microcode กับ CPU นั้น จะเกิดการทำงานที่ข้ามหัว (Overhead) กว่าวิธีแบบเดิม ที่ใช้การควบคุมไว้ในแผงวงจรแต่แรก ดังนั้น ถ้าตัวโค้ดเกิดปัญหาขึ้น เช่น โค้ดผิดพลาด สั่งการให้ CPU ดึงไฟมากกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงดึงไฟมากกว่าที่ตัว CPU จะรับได้ ซึ่งทำให้เสถียรภาพของ CPU เสียหาย หรือร้ายแรงที่สุดก็คือทำให้ไฟฟ้าเข้าไปในแผงวงจรมากเกินไป และทำให้วงจรเสียหายถาวรได้เลยทีเดียว

ดังนั้น Microcode นั้น แม้จะสามารถอัปเดตแก้ไขเข้าไปใน CPU เพื่อปรับแต่งได้โดยง่าย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือถ้าโค้ดมีปัญหา การให้อำนาจในการจ่ายไฟกับตัวโค้ดมากเกินไป ก็จะทำให้แผงวงจรใน CPU เสียหายได้ และนั่นคือกรณีที่เกิดขึ้นกับ CPU Intel ที่มีปัญหากันอยู่ตอนนี้นั่นเอง

คู่แข่งของ Intel ที่รอเข้ามาแย่งชิง

แม้ปัญหานี้จะจบลงไปแล้วอย่างที่กล่าว แต่การล้มครั้งนี้ถือเป็นการล้มครั้งค่อนข้างใหญ่ของ Intel อยู่ครับ ซึ่งพอยักษ์ใหญ่ล้ม คู่แข่งยักษ์ใหญ่เจ้าอื่น ๆ ก็กำลังรอมาแย่งชิง เช่น AMD คู่ปรับตลอดกาลของฝั่ง CPU ที่ตอนนี้ได้ออก CPU AMD Ryzen AI 300 Series เข้ามาแข่งขันในตลาด ก่อนที่ Intel จะนำเอา Intel Core Ultra รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดได้

หรือจะเป็น Nvidia ที่ตอนนี้ก็กำลังเป็นผู้นำในตลาดฝั่งคอมพิวเตอร์ และ AI อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะ Nvidia GeForce ที่เข้ามาเป็นเจ้าตลาดฝั่งการ์ดจอไปแล้ว หรือจะเป็นชิปประมวลผล AI ที่เข้ามาควบคุมทั้งต้นน้ำ (เทรน AI) และปลายน้ำ (ให้คนเอาการ์ดจอไปใช้ในงาน Generative AI) เลยทีเดียว

ฝั่งผู้เข้าแข่งขันที่มาใหม่ แต่มาใหญ่อย่าง Apple ที่ได้ทำการปรับเข้าสู่ Apple Silicon อย่างเต็มตัว และทิ้ง Intel ไว้เป็นเพียงแค่เศษซากแห่งยุคสมัยของ ‘Intel-based Mac’ เพียงเท่านั้นเอง แถมนับวัน ชิปเซต Apple Silicon ก็ยิ่งจะมีความสามารถ ความเร็ว แรง และการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

และผู้เข้าแข่งขันใหม่ล่าสุดอย่าง Qualcomm ที่ได้เข้าสู่ตลาด ‘AI PC’ ด้วยชิป Qualcomm Snapdragon X Elite ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ Windows โดยทั่วไป ได้มีประสิทธิภาพระดับคล้าย Mac ที่ทั้งแรง ทั้งประหยัดพลังงาน ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ ARM ในขณะที่ Intel ยังคงมั่นหมายอยู่กับ x86-64 ต่อไป คือถ้าว่ากันตรง ๆ แล้ว Intel ตอนนี้เหมือนกำลังอยู่ในสงครามที่ไม่อาจจะพลาดครั้งใหญ่ได้อีก ก่อนจะกลายเป็นรองเจ้าอื่นไปจนหมด เมื่อคู่แข่งเริ่มเร่งมาแรงขึ้นทุกที

หลังจากนี้ Intel ควรทำอย่างไรต่อไป

ในมุมของผู้เขียนแล้วนั้น ตอนนี้ Intel เหมือนอยู่ในทางแยก และมรสุมชีวิตที่ต้องแก้ไขครับ เรื่องราวเกี่ยวกับ Microcode เหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการอัปเดต Microcode ที่ Intel กำลังจะออกอัปเดตมาแก้ไขในเดือนสิงหาคมนี้ และเรื่องนี้ก็น่าจะจบลงไปได้อย่างดี แต่เรื่องของหุ้นของ Intel ที่ลดลง ทั้งจากการปลดคนออก และการลดตำแหน่งที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงการที่ยอดขายของแบรนด์นั้นลดลงไปด้วย

ไพ่ในมือตอนนี้ของทาง Intel ก็ยังมีอยู่อีกไม่น้อย ทั้งในเรื่องของ CPU Intel Core Ultra รุ่นใหม่ (Lunar Lake) ที่จะผ่านมาตรฐาน Copilot+ PC แน่นอน แม้ว่า Intel เลือกที่จะเปิดตัวชิปเซตรุ่นใหม่นี้แบบแยกรุ่นชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งช้ากว่าคู่แข่งอย่าง AMD ที่ออกคอมพิวเตอร์ที่ใช้ AMD Ryzen AI 300 Series ที่ทางต่างประเทศเริ่มให้การยอมรับแล้วว่าสามารถทำงานได้ดี รวมไปถึงยังได้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ดีมาก ๆ ด้วย รวมไปถึง การ์ดจอ Intel Arc รุ่นใหม่ที่ได้มีการแง้มมาพร้อมกับการเปิดตัวสถาปัตยกรรม Lunar Lake ว่าจะสามารถทำงานได้ดีขึ้น ใช้ไฟฟ้าน้อยลง แถมยังเล่นเกมได้ดีขึ้นด้วย แต่ด้วยว่ายังไม่มีการเปิดตัวการ์ดจอ Intel Arc รุ่นใหม่มา และยังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของการ์ดจอที่อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป

กับในด้านของ Enterprise ที่แม้ตอนนี้จะยังสามารถทำการแข่งขันด้วย Intel Xeon กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้อยู่ แต่ถ้าเป็นด้าน AI ผู้นำที่เป็นคนนำมาโดยตลอดคือ ‘Nvidia’ ครับ ฝั่งนั้นสามารถทำ CPU ที่เหมาะกับการประมวลผล AI, เทรน AI ไปจนถึงยังทำการ์ดจอที่ดีทั้งด้านเล่นเกม ทำงาน ตัดต่อ หรือกระทั่งใช้งาน AI เรียกได้ว่าเป็นปีเฮงอย่างต่อเนื่องของ Nvidia เลยก็ว่าได้

และสุดท้ายก็คือเรื่องของ CPU Intel 15th Generation ที่แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาว่าจะใช้สถาปัตยกรรมไหน เพราะดูทรงแล้วทาง Intel จะลงแรงกับฝั่ง Portable ด้วย Intel Core Ultra แบบเต็มแรงอยู่ ถ้า Intel เล่นไพ่ทุกใบได้ดี ก็จะสามารถกอบกู้สถานการณ์ทั้งหมดนี้ไปได้แบบสวย ๆ และกลับสู่การเป็นผู้นำตลาดฝั่ง CPU ได้เหมือนเดิมแน่นอน

ซึ่งเรื่องราวมรสุมของ Intel ทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะออกผลอย่างไร เวลาและความสามารถของ Intel เท่านั้นที่จะให้คำตอบเราได้