ข่าวใหญ่วันนี้คงจะไม่พ้นการที่ ปาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุม ในสนามบินปารีส เลอบูเกต์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส

แต่การที่จะเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้มาถึงจุดนี้ ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจทั้งตัวดูรอฟ และ Telegram ผลงานชิ้นเอกที่เขาสร้างขึ้นมา

ทำไมถึงถูกจับ

สำนักข่าว TF1 ของฝรั่งเศส และ AP รายงานว่า การจับกุมดูรอฟเกิดขึ้นหลังจากที่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวซึ่งเดินทางมาจากนครบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ลงจอดในสนามบินเลอบูเกต์ เพียงไม่นาน และเนื่องจากดูรอฟถือพาสปอร์ตสัญชาติรัสเซีย ทำให้สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียต้องรีบเข้าชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยด่วน

ดูรอฟ

สำนักข่าว CBS ชี้ว่าดูรอฟมีชื่อตามหมายจับของหน่วยงานในฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า OFMIN ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันความรุนแรงต่อผู้เยาว์ การออกหมายจับในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสวนในขั้นต้นกรณีมีการกล่าวหาว่ามีการก่ออาชญากรรมในหลายรูปแบบโดยใช้ Telegram เป็นเครื่องมือ ทั้งการฉ้อโกง การลักลอบขนยาเสพติด การรังแกทางไซเบอร์ การก่ออาชญากรรมในลักษณะองค์กรอาชญากรรม และการส่งเสริมการก่อการร้าย

หนึ่งในแหล่งข่าวระบุกับทางสำนักข่าว TF1 ว่าสาเหตุที่ต้องออกหมายจับตัวดูรอฟเป็นเพราะการที่ Telegram ไม่มีผู้ดูแลระบบ หรือโมเดอร์เรเตอร์ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและคัดกรองเนื้อหาในแพลตฟอร์มเหมือนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ดูรอฟจึงอาจมีความผิดในฐานที่ไม่ยอมออกมาตรการเพื่อป้องกันการใช้ Telegram ในการก่ออาชญากรรม

พนักงานสืบสวนของคดีนี้ถึงกับบอกว่าจะไม่ยอมให้ Telegram ลอยนวลอีกต่อไป แต่อีกใจหนึ่งก็ประหลาดใจที่ดูรอฟเดินทางมาปารีสเอง แม้จะรู้ว่ามีหมายจับตัวเอง

ดูรอฟเป็นใคร

ดูรอฟเกิดในรัสเซียเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1984 ก่อตั้ง Telegram ร่วมกับน้องชายเมื่อปี 2013 เป้าหมายหลักคือการสร้างโซเชียลมีเดียที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ตั้งเป้าว่าจะมียอดผู้ใช้ทะลุ 1,000 ล้านคนภายใน 1 ปี

ตัวดูรอฟมีประวัติไม่ค่อยจะลงรอยกับรัฐบาลรัสเซียนัก โดยในปี 2014 เขาต้องเดินทางออกนอกรัสเซีย หลังจากที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ปิดกลุ่มคอมมิวนิตีของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในแอปฯ VKontakte หรือ VK ซึ่งเป็นอีกแอปฯ ที่เขาสร้างขึ้น ก่อนจะถูกบังคับขาย VK ให้กับธุรกิจรายอื่นในเวลาต่อมา

ในปี 2017 เขาได้ย้ายตัวเองและเซิร์ฟเวอร์ของ Telegram ไปที่นครดูไบ และได้รับสัญชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงเวลาเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2021 ดูรอฟได้รับสัญชาติฝรั่งเศส เขาเคยลองไปหลายที่ตั้งบริษัททั้งในกรุงเบอร์ลิน กรุงลอนดอน ในสิงคโปร์ และนครซานฟรานซิสโก

หนึ่งในวาทะที่บอกตัวตนของดูรอฟได้อย่างชัดเจนก็คือ “ผมเลือกจะเป็นอิสระมากกว่าจะรับคำสั่งจากใคร” ซึ่งเป็นคำพูดที่เขากล่าวกับ ทักเคอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมเขาและ Telegram ถึงต้องย้ายออกนอกรัสเซีย

ดูรอฟบอกว่าตัวเองยึดมั่นในความเป็นส่วนตัวมาก เขาบอกว่าเราไม่สามารถสร้างข้อยกเว้นให้กับหน่วยงานของรัฐโดยที่ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คนหลายร้อยล้านคนได้ เพราะการเข้ารหัสมีแค่ว่าปลอดภัยกับไม่ปลอดภัยเท่านั้น ไม่มีตรงกลาง

เว็บไซต์ Forbes ประเมินว่าดูรอฟมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 15,500 ล้านเหรียญ (ราว 525,713 ล้านบาท) ติดอันดับ 1 ใน 300 ของมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก

รู้จักกับ Telegram

งั้นมาทำความรู้จักกับ Telegram กันบ้าง แอปฯ ตัวนี้เป็นแอปฯ สนทนา คล้ายกับ WhatsApp และ Line ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในรัสเซีย ยูเครน และประเทศอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย

Telegram ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในแอปฯ ที่ได้รับความนิยมสูง ไม่แพ้ Facebook, YouTube, WhatsApp, Instagram, TikTok และ WeChat ที่ครองตลาด โดยข้อมูลจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ใช้ Telegram ในปัจจุบันมากถึง 900 ล้านคน ถือว่าเป็นอันดับ 8 ของโซเชียลมีเดียทั้งหมด

หน้าตาของ Telegram

Telegram ได้รับการออกแบบมาเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และไม่ยอมให้รัฐบาลของประเทศใดเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้เลย ในช่วงเวลาหนึ่งจึงเป็นที่นิยมของนักข่าว ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้าย ในการสื่อสารระหว่างกัน

Telegram เคยถูกรัฐบาลรัสเซียแบนในปี 2018 ด้วยเหตุผลที่ว่าดูรอฟไม่ยอมส่งข้อมูลผู้ใช้ให้ตามคำสั่งศาลที่บังคับให้ Telegram ยอมให้การเข้าถึงข้อมูลกับทางสำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐ นำไปสู่การประท้วงใหญ่ที่ชื่อว่า ‘การประท้วงจรวดกระดาษ’ (สัญลักษณ์ของ Telegram) จนรัสเซียยอมยกเลิกการแบนในปี 2021

ความนิยมที่ Telegram ได้รับมากขึ้นก็นำมาซึ่งการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหลายประเทศในยุโรปเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยและการรั่วไหลของข้อมูล จนเกิดการพูดคุยกันระหว่างสหภาพยุโรปกับ Telegram เพื่อให้แพลตฟอร์มพิจารณาการทำตามกฎหมายดิจิทัลของยุโรป

นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการรุกรานจากรัสเซียตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 เป็นต้นมา Telegram กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับสงคราม นอกจากนี้ ตัวมันเองยังเป็นที่นิยมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งของรัสเซียและยูเครน กองทัพไซเบอร์ของยูเครนเองก็ใช้ Telegram เพื่อติดต่อสื่อสารและวางแผนกัน นักวิเคราะห์ถึงกับบอกว่า Telegram เป็นเสมือนกับ ‘สมรภูมิเวอร์ชวล’ (Virtual Battlefield) เลยทีเดียว

จะเป็นยังไงต่อ

เรื่องความเป็นส่วนตัวและอำนาจต่อรองของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถือเป็นประเด็นที่ใหญ่มากของสหภาพยุโรป เนื่องจากมองว่าการที่มีบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลประชาชนจำนวนมากโดยขาดการตรวจสอบและคัดกรองจากรัฐจะเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อยุโรปทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การที่ Telegram ไม่มีการคัดกรองนี่แหละเป็นจุดเด่นที่ทำให้ตัวมันได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครหรือรัฐบาลไหนมาแอบดูเนื้อหา ฝ่ายต่อต้านและประชาชนสามารถมีเสรีภาพได้เต็มที่ การพรากความเป็นส่วนตัวออกจาก Telegram ก็อาจพรากเอาเสน่ห์ของมันออกไปก็เป็นได้

ทั้งนี้ คาดว่าดูรอฟจะต้องไปขึ้นศาลภายในวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่นของฝรั่งเศส)