เราคงรู้จักเครื่องดื่ม “โคคา-โคล่า” หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “โค้ก” กันดี เพราะเข้ามาขายในไทยตั้งแต่ปี 1948 ที่นับถึงปัจจุบันก็ 76 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลิตเครื่องดื่มของ “โคคา-โคล่า” ส่วนใหญ่ในไทย ดูแลพื้นที่ 63 จังหวัดยกเว้นภาคใต้ก็คือ “ไทยน้ำทิพย์” ครับ ซึ่งปี 2024 ก็เป็นปีพิเศษ เพราะปีนี้บริษัทอยู่คู่กับคนไทยมาถึง 65 ปีแล้ว จึงชวนทีมงาน BT เข้าไปทัวร์ไลน์การผลิตเครื่องดื่มของบริษัท และอยากเล่าให้แฟน ๆ “โค้ก” ทุกคนฟังถึงเป้าหมายของไทยน้ำทิพย์ ที่ตั้งใจเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งคำว่ายั่งยืนนี้ ไทยน้ำทิพย์ทำหลายอย่างมากครับ
กำลังการผลิตของไทยน้ำทิพย์
เราคงพอจินตนาการได้ว่าวัน ๆ หนึ่งคนไทยดื่ม “โค้ก” และเครื่องดื่มในเครืออย่าง “แฟนต้า”, “สไปรท์”, “ชเวปส์” ฯลฯ มากขนาดไหน ไทยน้ำทิพย์นั้นผลิตเครื่องดื่มมากกว่า 250 SKU (Stock Keeping Unit คือหน่วยสินค้าที่เล็กที่สุดในระบบคลังสินค้า คือต่างความจุ ก็นับแยกเป็น 1 SKU แล้ว) ไทยน้ำทิพย์จึงมีโรงงานมากถึง 5 โรงงาน ตั้งอยู่ที่ปทุมธานี, รังสิต, นครราชสีมา, ขอนแก่น และลำปาง นับกำลังการผลิตรวมกันได้ถึง 450 ล้านยูนิตเคสต่อปี (เป็นหน่วยวัดการผลิตของโคคา-โคล่า)
อย่างโรงงานที่เราไปทัวร์ในวันนี้เป็นหนึ่งในโรงงานที่ทันสมัยที่สุด ตั้งอยู่ที่ จ. ปทุมธานี บนพื้นที่ 140 ไร่ มีสายการผลิตรวมทั้งหมด 7 ไลน์ หนึ่งในนั้นคือไลน์ที่สามารถผลิตเครื่องดื่มกระป๋องได้มากถึง 2,000 กระป๋องต่อนาที ซึ่งเป็นสายการผลิตเครื่องดื่มแบบกระป๋องที่มีความเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องทั้งหมดในประเทศไทย โดยที่โรงงานปทุมธานีแห่งนี้ มีกำลังการผลิตสินค้าสูงสุดทุกรายการรวมกว่า 180 ล้านยูนิตเคสต่อปี
นอกจากนี้โรงงานที่ปทุมธานียังมีไลน์ผลิตเครื่องดื่มแบบ RGB (Returnable Glass Bottle) หรือเครื่องดื่มในขวดแก้วที่ต้องคืนขวด ขนาดใหญ่ที่สุดของไทยน้ำทิพย์ด้วย ซึ่งขวดแก้วนี้จะใช้น้ำในการผลิตสูง เพราะต้องมีกระบวนการล้างขวดก่อนบรรจุ จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พอกำลังการผลิตมีมาก การกระจายสินค้าจึงเป็นเรื่องใหญ่ ไทยน้ำทิพย์มีกองทัพรถแดงส่งเครื่องดื่มกว่า 1,100 คัน เราจึงได้เห็นรถแดงที่มีโลโก้ “โคคา-โคล่า” แทบทุกวันที่เราออกจากบ้าน
กระบวนการผลิตโค้ก
จริง ๆ แล้วในโรงงานแห่งนี้มีไลน์การผลิตของหลากหลายผลิตภัณฑ์เลยนะครับ แต่ไลน์การผลิตที่ทีมงาน BT ได้เข้าชมในวันนี้คือการผลิต “โค้ก” ในขวดจากพลาสติกรีไซเคิลหรือขวด rPET (Recycled PET) ครับ ซึ่งมีกระบวนการผลิตดังนี้
- เริ่มต้นที่วัตถุดิบของบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก ที่จะมาในรูปแบบของหลอด Preforms ขนาดเล็ก ที่ได้จากการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET Resin) ไปขึ้นรูปเป็นหลอด Preforms ขนาดเล็ก ซึ่งพอเข้าไลน์การผลิตของไทยน้ำทิพย์ หลอด Preforms เล็ก ๆ เหล่านี้จะถูกให้ความร้อน และเป่าจนเป็นขวดขนาดต่าง ๆ ที่ต้องการ
- ในฝั่งของเครื่องดื่ม จะมีเครื่องนำหัวเชื้อสูตรลับของ ‘Coca-Cola’ ที่ส่งตรงจากต่างประเทศมาผสมกับน้ำที่ผ่านการปรับคุณภาพจนผ่านมาตรฐาน ผสมน้ำเชื่อมและอัดก๊าซออกมาเป็นเครื่องดื่มน้ำดำที่หลายคนหลงรัก
- พอได้ขวด และได้เครื่องดื่มน้ำดำแล้ว ก็เอาไปบรรจุลงขวด ปิดฝา แล้วผ่านเครื่องวัดระดับน้ำให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง
- ตรงนี้ในกระบวนการผลิตจะมีเทคนิคนิดหนึ่ง เพราะตอนบรรจุเครื่องดื่มลงขวดจะใช้อุณหภูมิต่ำ ราว 16 – 20 องศา เพื่อลดการเกิดฟอง แต่เรารู้กันดีว่าถ้าขวดเย็นมันจะมีไอหยดน้ำเกาะขวด ซึ่งจะมีปัญหากับการแปะฉลาก ขวดทั้งหมดที่บรรจุแล้วเลยต้องเข้าเครื่อง Warmer เพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่าอุณหภูมิห้อง
- เมื่อขวดพร้อมแล้ว สายพานการผลิตจะวิ่งส่งเข้าเครื่องติดฉลากให้สวยงาม
- แล้วต่อด้วยเครื่องแสตมป์เพื่อเขียนข้อมูลวันที่ผลิต วันหมดอายุ หรือเลข Lot ลงไปบนขวด
- ตอนนี้ได้ “โค้ก” ที่ขวดสมบูรณ์แล้ว ขวดพวกนี้ก็จะถูกลำเลียงไปจัดกลุ่มตามจำนวน แล้วหุ้มพลาสติก หรือส่งลงกล่องต่อไป
- สุดท้ายนำ “โค้ก” ที่แพ็กแล้ว ลงพาเลต แล้วห่อพาเลตอีกที เพื่อให้ขนด้วยรถยกได้อย่างปลอดภัย
- เก็บสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วในสต๊อก รอขนส่งไปทั่วประเทศต่อไป
ความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญของไทยน้ำทิพย์
จากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มของไทยน้ำทิพย์ เราน่าจะพอเห็นภาพว่า มีส่วนของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับทั้งทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนถึงเรื่องของตัวขวดที่ต้องมีการรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ก็พัฒนากระบวนการทำงานเพื่อเสริมความยั่งยืนมาตลอด โดย ปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายให้เราฟังว่า ไทยน้ำทิพย์ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ 1. การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 2. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3. บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ดังนี้
การจัดการน้ำให้ยั่งยืน
ไทยน้ำทิพย์มีการเก็บข้อมูล Water Use Ratio (WUR) อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง WUR คือตัวเลขวัดผลว่าการผลิตเครื่องดื่ม 1 ลิตรนั้นต้องใช้น้ำดิบกี่ลิตรในการผลิต เมื่อมีข้อมูลนี้แล้ว ไทยน้ำทิพย์จึงสามารถจริงจังกับการพัฒนากระบวนการทำงานให้ตัวเลข WUR นี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ไทยน้ำทิพย์มีเป้าหมายว่า ผลิตน้ำบรรจุขวดไปเท่าไหร่ ก็ตั้งใจจะคืนน้ำปริมาณเดียวกันกลับสู่ธรรมชาติ
เทอดพงษ์ ศิริเจน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยกับเราว่าข้อมูลตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2024 มีอัตราการใช้น้ำลดลงไปได้ถึง 30% แล้ว คือลดได้ 907 ล้านลิตรใน 4 ปี น้ำปริมาณนี้สามารถเติมใส่สระน้ำโอลิมปิกได้ถึง 363 สระ ซึ่งเป้าหมายก็จะพัฒนาต่อไปให้ตัวเลข WUR ดีขึ้นทุกปี
หัวใจสำคัญในการบริหารน้ำของไทยน้ำทิพย์ คือบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ โดยโรงงานไทยน้ำทิพย์ ปทุมธานี เป็นโรงงานผลิต ‘Coca-Cola’ แห่งแรกในโลกที่ใช้วิธีการบำบัดหลายอย่างเช่น RO (Reverse Osmosis) และ MBR (Membrane Bio Reactor) โดยบ่อบำบัดน้ำเสียในโรงงานที่ปทุมธานีกินพื้นที่ 7 ไร่ มีกำลังในการบำบัดน้ำได้ 9,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ไทยน้ำทิพย์แทบไม่ต้องทิ้งน้ำที่ใช้ในส่วนการผลิตเลย สามารถนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดจนสะอาด ได้มาตรฐาน มาใช้ในกระบวนการผลิตที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุดิบเครื่องดื่ม เช่น ทำความเย็นให้เครื่องจักร ทำความสะอาด นอกจากนี้ยังสามารถนำน้ำไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้ กวาดล้างทำความสะอาดในพื้นที่โรงงานได้อีกด้วย และน้ำที่บำบัดแล้วส่วนเกินยังเปิดให้หน่วยงานภายนอกเช่นเทศบาลในท้องถิ่นสามารถนำใส่รถน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในชุมชน เช่น ใช้ในการดับเพลิง หรือรดน้ำต้นไม้ เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป
แต่น้ำส่วนนี้เป็นน้ำใช้อย่างเดียวนะครับ ไม่เกี่ยวกับน้ำดื่มในขวดน้ำ ซึ่งน้ำที่ใช้ดื่มนี้ ไทยน้ำทิพย์จะได้จากน้ำประปาและน้ำบาดาล และผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐานของ อย. รวมถึงผ่านมาตรฐานระดับโลกของ ‘Coca-Cola’
การจัดการพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนกระทบสภาพอากาศ
ไทยน้ำทิพย์ เป็นหนึ่งในโรงงานยุคใหม่ที่มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในโรงงาน โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในทั้ง 5 โรงงานของไทยน้ำทิพย์ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า จะได้สูงสุดที่ 12.6242 Mega-Watt-Peak คิดเป็น 10% ของไฟฟ้าทั้งหมดที่โรงงานใช้ โดยตอนนี้ทั้ง 5 โรงงานของไทยน้ำทิพย์ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไป 24,716 แผง ให้พื้นที่รับแสงอาทิตย์ใหญ่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 16 สนาม ซึ่งประมาณการณ์ว่าภายในระยะเวลา 20 ปี จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ 100,000 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 4 ล้านต้น
เราทราบไปแล้วว่า ไทยน้ำทิพย์มีรถขนส่งมากกว่า 1,100 คันที่มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ช่วยทั้งลดต้นทุนการดำเนินงาน และลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ จึงมีการติดตั้งระบบ Telematics ในรถขนส่งสินค้า เพื่อติดตามและตรวจสอบการขับขี่ของรถ นำข้อมูลไปประเมินการวางแผนเส้นทางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประเมินลักษณะการขับของผู้ขับขี่เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำมัน ซึ่งจะทำให้สามารถลดการใช้น้ำมันได้ 2.1 ล้านลิตรต่อปี หลังจากนำระบบ Telematics มาใช้ นอกจากนี้ยังมีการนำกล้อง AI ช่วยมอนิเตอร์ความเสี่ยงของพฤติกรรมการขับขี่ เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถอีกด้วย
ในส่วนของรถ EV ไทยน้ำทิพย์กำลังอยู่ระหว่างทดลองใช้งานอยู่ 2 คัน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรถขนส่งเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งรถทั้ง 2 คันนั้นจะใช้วิ่งขนส่งจริง เพื่อประเมินการใช้พลังงาน ระยะเวลาการชาร์จไฟ และปัจจัยอื่น ๆ สำหรับการนำมาขยายปรับใช้งานเพิ่มในอนาคต
นอกจากนี้ในโกดังที่ต้องอาศัยรถยกมากมายวิ่งไปมา ก็มีการนำรถยกไฟฟ้า (EV Forklift) มาใช้ด้วย และมีการลงทุนในระบบ Warehouse Control Tower เพื่อควบคุมเส้นทางการวิ่งของรถยกในโกดังให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในการวิ่งทับซ้อนเส้นทาง หรือวิ่งมากเกินความจำเป็น
เรื่องบรรจุภัณฑ์ก็เรื่องใหญ่
วิสัยทัศน์ระดับโลกที่ “โคคา-โคล่า” วางเอาไว้คือ World Without Waste ที่ภายในปี 2025 ตั้งเป้าหมายให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดสามารถรีไซเคิลได้ 100% และภายในปี 2030 บรรจุภัณฑ์ของบริษัทจะต้องใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50% รวมถึงการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ทั้งแบบขวดและกระป๋องเพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่จำหน่ายออกสู่ตลาด
ซึ่ง Circular Economy กับบรรจุภัณฑ์นั้น ไทยน้ำทิพย์ก็เริ่มมีการขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล Recycled PET (rPET) ที่ 100% ไม่รวมฉลากและฝาขวด โดยในปี 2023 เริ่มที่ขวดพลาสติก “โค้ก” ขนาด 1 ลิตร และในปี 2024 นี้ก็ได้เปิดตัวขวดขนาด 300 มิลลิลิตร และ 510 มิลลิลิตรเพิ่มเติม ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำและร้านสะดวกซื้อทั่วไปแล้ว โดยในอนาคตก็มีแผนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ทั่วไปก็ตาม เนื่องจากความตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ซึ่งบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ทั้งหมดของไทยน้ำทิพย์ ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในการสัมผัสอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานระดับโลกของ “โคคา-โคล่า”
ในแง่ของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ไทยน้ำทิพย์มีการปรับปรุงขวดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมาตลอด ทั้งการลดปริมาณการใช้พลาสติกในขวดพลาสติก PET เช่นขวด “โค้ก” จาก 38 กรัมก็ทำให้เหลือ 34 กรัม หรือขวดน้ำดื่ม “น้ำทิพย์” ที่ลดน้ำหนักจาก 16.5 กรัมเหลือ 10.7 กรัมได้ โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาทำให้ขวดบรรจุผลิตภัณฑ์แข็งแรงเหมือนเดิม (เช่นการใช้อากาศอัดในขวดน้ำทิพย์ ทำให้แม้ขวดบางลง แต่ก็ยังแข็งแรง) ซึ่งพอขวดมีน้ำหนักเบาลง ก็ทำให้ลดภาระในการขนส่งและการใช้พลาสติกสำหรับการผลิตขวดลง ทำให้ไทยน้ำทิพย์สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในขวด PET ได้ถึง 7,645 ตัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2009
การเปลี่ยนสีขวด “สไปรท์” จากสีเขียวเป็นขวดใส ก็เป็นนวัตกรรมของ “โคคา-โคล่า” ร่วมกับไทยน้ำทิพย์ เพราะขวดสีเขียวจะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลตามปกติได้ พอเปลี่ยนเป็นขวดใสก็รีไซเคิลง่ายขึ้น
ไทยน้ำทิพย์เป็นบริษัทอายุ 65 ปีที่ไม่เคยหยุดการพัฒนานะครับ ซึ่งเมื่อบริษัทใหญ่ขนาดนี้ยังคงก้าวเดินเพื่อความยั่งยืน ก็ทำให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกแก่สังคมได้ ช่วยให้ส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยดีขึ้น และจะดีขึ้นกว่านี้ถ้าเราช่วยกันในสิ่งที่ทำได้ เมื่อไทยน้ำทิพย์พยายามพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ เราก็สามารถช่วยกันได้โดยแยกขยะ เพื่อส่งบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้กลับสู่วงจรที่ถูกต้องครับ
#SupportedbyCocaCola