ภาพของ AI ในไทยเรามักมองเห็นภาพ AI ที่มาจากต่างประเทศเป็นหลักนะครับ แต่ความจริงแล้วไทยเองก็มีพัฒนาการด้าน AI ที่ก้าวไปพร้อมกับวิทยาการจากต่างประเทศ ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นการพัฒนารากฐานสำหรับประเทศในยุคปัจจุบัน ในงาน AI Thailand Forum ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคมที่สามย่านมิตรทาวน์ ก็แสดงการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ในไทยอย่างชัดเจน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นต่อยอดพัฒนาให้เหมาะกับการใช้งานในบ้านเราด้วย
งานนี้จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือบริษัทเอกชนที่จริงจังเรื่องปัญญาประดิษฐ์อย่างมากคือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) และกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ภายใต้แนวคิด “Sustainable Growth with AI” เน้นเรื่องการเติบโตของ AI อย่างยั่งยืนในสังคม โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน
ซึ่งบรรยากาศในงานนี้ที่แตกต่างจากงาน AI ทั่วไปคือการมอบเหรียญรางวัลจากโครงการ Super AI Engineer Season 4 ที่เป็นค่ายพัฒนาความรู้ AI สำหรับบุคคลที่สนใจ Upskill ปัญญาประดิษฐ์ทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะนักเรียนนักศึกษาด้วย ทำให้เห็นภาพการกระจายความรู้ด้าน AI ออกไปวงกว้างในไทย
แผนปฎิบัติการ AI แห่งชาติ
โดยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สรุปความเป็นไปของแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติของไทยได้บรรลุผลสำคัญหลายด้านในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือและเครื่องมือประเมินสำหรับการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล รวมถึงการร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศในการกำกับดูแล AI ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการ AI กลางของประเทศซึ่งใช้งานเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านครั้ง และให้บริการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA สำหรับงานวิจัย AI ด้านการพัฒนากำลังคน มุ่งพัฒนาทักษะ AI ในรูปแบบหลากหลาย รวมถึงการอบรมทักษะระยะสั้นและการฝึกงานภาคปฏิบัติ
ในด้านการศึกษา แผนพัฒนากำลังคนด้าน AI ถูกแบ่งเป็น 3 ระดับคือ AI@School, AI@University และ AI@Lifelong Learning โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ AI ให้คนไทยตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม AI ผ่านการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ AI มากกว่า 50 แบบ รวมถึงการวิจัยที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรเพื่อวางแผนเศรษฐกิจและสังคมให้แก่หน่วยงานภาครัฐกว่า 220 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ Medical AI Consortium ที่รวบรวมข้อมูลการแพทย์และสาธารณสุขขนาดใหญ่ รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์กว่า 1.6 ล้านภาพ เพื่อสนับสนุนการใช้ AI ในการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคต่าง ๆ ให้มีความแม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น
ผลจากการดำเนินงานนี้ ทำให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 193 ประเทศในดัชนีความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลปี 2566 แม้จะลดลงจากปีก่อนที่อยู่อันดับที่ 31 แต่ไทยยังคงมีความโดดเด่นด้านกลไกภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้คะแนนด้านภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานที่สูง แต่ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองการเติบโตของ AI ในอนาคต
บทบาท NECTEC กับ AI ไทย
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายว่าเนคเทคพัฒนา AI สัญชาติไทยมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดส่งมอบแพลตฟอร์ม AI for Thai ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI แห่งชาติ พร้อมให้บริการ API กว่า 60 รายการ ครอบคลุมการประมวลผลภาษาไทยในหลายมิติ ทั้งภาพ เสียง และข้อความ โดยมียอดใช้งานสะสมถึง 53 ล้านครั้ง และยังพัฒนา OpenThaiGPT โมเดลภาษาไทยแบบโอเพนซอร์สที่ตอบสนองการประมวลผลภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะนี้ มี 5 หน่วยงานนำระบบไปทดลองใช้งาน รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรและกรมสรรพากร ขณะที่ AI for Thai เปิดตัวบริการใหม่ 22 รายการ ที่เน้นการใช้งานภาษาไทยได้เต็มรูปแบบ ไฮไลต์คือ “ปทุมมา LLM” Generative AI ที่รองรับการประมวลภาพ เสียง และข้อความ และสามารถทำงานซับซ้อน เช่น บรรยายภาพ ถอดและบรรยายเสียง วิเคราะห์อารมณ์ และตอบคำถามจากเสียง
“ปทุมมา LLM” ยังตอบโต้และเข้าใจเอกสารราชการหรืองานวิจัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ใช้สามารถทดลองใช้งานได้ที่ aiforthai.in.th/pathumma-llm
SCBX นำ AI มาใช้ในธุรกิจแล้ว และเร่งพัฒนาต่อ
หนึ่งในเซสชั่นที่น่าสนใจในงานนี้คือ “เปลี่ยนโลกการเงินด้วยพลัง AI กรณีศึกษาจากการใช้งานจริง” โดยคุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of R&D Innovation Lab จากบริษัท SCBX จำกัด (มหาชน) ที่เล่าเบื้องหลังการทำงานของ SCBx ในการพัฒนาเทคโนโลยี ว่ามีการแบ่งกำไร 5% มาลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่ง Typhoon LLM (Large Language Model) ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ SCBX พัฒนาต่อยอดจาก Opensource ซึ่งปัจจุบันใช้ LLaMA 3 ของ Meta เป็นฐานในการพัฒนา ซึ่งคุณกวีวุฒิก็เล่าว่า Typhoon สามารถเปลี่ยนฐานของ LLM ที่ใช้ได้เรื่อย ๆ ถ้าอนาคตมีตัวอื่นที่ดีกว่า และเปิดโอกาสให้ใช้ก็สามารถสลับไปใช้ได้
วัตถุประสงค์ของ SCBX ที่พัฒนา Typhoon ขึ้นมาก็เพื่อเสริมทักษะด้านภาษาไทยที่พัฒนาโดยคนไทย และเพิ่มการฝึกฝนโมเดลที่ลงรายละเอียดการฝึกได้ลึกกว่าการพร้อมท์ปกติในโมเดลสำเร็จรูป เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานในธุรกิจของ SCBX ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการทำงานนั้นถูกกว่าไปใช้ GPT4o ถึง 4 เท่า แถมตัว Typhoon ก็เปิดให้บุคคลภายนอกใช้งานได้เช่นกันผ่าน opentyphoon.ai
แล้วปัจจุบัน SCBX เอา AI มาใช้ในธุรกิจอย่างไรบ้าง คุณกวีวุฒิก็ยกตัวอย่างเคสของ AutoX หนึ่งในธุรกิจของ SCBX ที่ทำสินเชื่อจำนำทะเบียน เอามอเตอร์ไชค์มาแลกเป็นเงินสด ปัญหาที่ผ่านมาคือต้องตรวจสอบ agent เป็นพัน ๆ คนให้ถูกต้อง ตรวจว่าการพูดเงื่อนไข การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสินเชื่อถูกต้อง ซึ่งก็ต้องใช้การสุ่มตรวจเอา ที่ต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุนและแรงคน จึงมีการพัฒนา AI เข้ามาช่วย ตั้งแต่ตัว ASR (Automatic Speech Recognition) โดยเอาไฟล์เสียงนับหมื่น มาแกะเสียงเป็นข้อความ (ซึ่งตอนนี้ถอดได้แม่นยำ 92% เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ด้วย AI ต่อ ทำให้ต้นทุนการทำงานลดลง เพราะไม่ต้องส่งคนไปตรวจที่หน้างาน และสเกลได้ ไปถึงพัน ๆ สาขาได้
หรือการนำ AI ไปใช้กับ Call Center ที่สามารถเอา Typhoon ซึ่งได้รับการเทรนข้อมูลสำหรับตอบลูกค้ามาเรียบร้อยแล้ว มาประมวลผลคำตอบสำหรับช่วยเหลือลูกค้า หรือช่วยแนะนำการลงทุนให้ลูกค้า แทนที่จะต้องใช้เวลาเพื่อค้นหาข้อมูลจากระบบ หรือให้ข้อมูลดิบกับลูกค้าไปค้นต่อไป ทำให้การใช้ AI ทำให้ทั้ง Call Center และลูกค้าแฮปปี้ได้
คุยต่อกับคุณกวีวุฒิ
เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากประเด็นที่คุณกวีวุฒิเล่าให้ฟังบนเวที เริ่มต้นจาก
เป้าหมายการพัฒนา AI ของ SCBX จะช่วยเหลือชีวิตมนุษย์อย่างไรบ้าง
คุณกวีวุฒิบอกว่า SCBX มีธุรกิจหลักเกี่ยวกับการเงิน เพราะฉะนั้นเป้าหมายการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะเน้นเพื่อรองรับลูกค้าธนาคารเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงทางการเงินยาก อย่างผลิตภัณฑ์ของ Abacus Digital ที่คนใช้เป็นแสน ๆ คนคือ Digital lending การกู้เงินในยุคดิจิทัล ที่เมื่อก่อนแบงค์ต้องอ่านเอกสารเยอะ ใช้เวลานาน กว่าจะบอกได้ว่ากู้ได้หรือไม่ แล้วจะกู้ได้เท่าไหร่ ซึ่ง AI ในส่วนนี้ทำมา 7-8 ปีแล้ว คือการแปลงเอกสารเป็นดิจิทัล ใช้ OCR อ่านเอกสาร เอาข้อมูลที่อ่านได้ใช้ AI วิเคราะห์ว่าควรได้สินเชื่อเท่าไหร่ เมื่อเอาเทคโนโลยีมาจับ ก็ทำให้ปล่อยสินเชื่อกับคนจำนวนมากขึ้นได้ ถือเป็นการสเกลธุรกิจ ลดต้นทุนในการให้บริการ และเมื่อต้นทุนต่ำ ก็ทำให้ทำดอกเบี้ยต่ำลงได้
และในยุค Generative AI ก็ทำให้เราสามารถสร้าง Customer Service หรือแผนกบริการลูกค้าที่ให้พนักงานน้อยลงได้ แถม Fraud Detection หรือการตรวจจับความปลอม เอกสารปลอม ความผิดพลาดต่างๆ ก็ทำให้ตรวจได้เร็วขึ้น ธนาคารสามารถแยกคนดี-คนเลวออกจากกันได้มีประสิทธิภาพ
สำหรับคนที่เข้าถึงบริการธนาคารยาก เพราะไม่มีรายได้ประจำ หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ปัจจุบันในยุคดิจิทัล ธนาคารสามารถพิจารณาข้อมูลหลายอย่าง เช่นแหล่งรายได้อื่น บิลค่าน้ำค่าไฟ บิลโทรศัพท์ แอปในมือถือ ฯลฯ คือข้อมูลใด ๆ ที่ผู้ขอสินเชื่ออนุญาตให้เราดู แล้วใช้ AI ประเมินความเป็นไปได้ในการอนุมัติสินเชื่อได้
ใช้ AI มาพิจารณาสินเชื่อแทนคน นอกจากประเมินได้ไวแล้ว ยังประเมินด้วยมาตรฐานเดียวกัน ถ้าใช้คนก็ช้า แล้วมีโอกาสประเมินผิดด้วย
ส่วนเมื่อถามว่าปัจจุบันใกล้ถึงเป้าหมายการพัฒนา AI ที่ SCBX วางไว้หรือยัง คุณกวีวุฒิก็ตอบเราว่ายังอีกไกล อย่างเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า รายได้ 75% ของกลุ่มต้องมาจาก AI ซึ่งเมื่อใกล้เป้าหมาย เราก็จะกำหนดเป้าหมายใหม่ให้มุ่งต่อไป
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
อีกประเด็นที่เราสงสัยคือ SCBX มีธุรกิจหลักเกี่ยวกับการเงิน มีการรักษาข้อมูลอ่อนไหวไม่ให้หลุดไปภายนอกอย่างไร เรื่องนี้คุณกวีวุฒิอธิบายว่า AI ที่ใช้แต่ละส่วนงานของ SCBX ก็จะมีการเทรนข้อมูลที่ต่างกันไป เช่น Call Center, HR ก็จะมีชุดข้อมูลสำหรับ AI ต่างชุดกัน จึงควบคุมการกระจายตัวของข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังมีระบบกั้นไม่ให้ข้อมูลภายในหลุดไปสู่ AI ภายนอก ซึ่งการที่ SCBX พัฒนา Typhoon ขึ้นใช้เองก็ช่วยเรื่องนี้ได้
ส่วนเรื่องความหลอนของ AI หรือ Hallucination อันนี้เป็นธรรมชาติของ Generative AI ก็ต้องมีเทคนิคการตั้งกรอบไม่ให้ตอบอะไรที่ไม่รู้ออกมา มีเทคนิค Guardrails ให้ตอบในข้อมูลเท่าที่ให้เท่านั้น ไม่ต้องสร้างข้อมูลใหม่มาตอบ
ต้นทุนในการพัฒนาและใช้งาน AI มีการบริหารค่าใช้จ่ายตรงนี้อย่างไร
เรื่องนี้คุณกวีวุฒิให้มุมมองว่า การพัฒนา AI ในองค์กรก็เหมือนการลงทุน อย่าง SCBX ลงทุนกับ Typhoon จนต้นทุนการใช้งานในองค์กรถูกกว่า ChatGPT แล้ว ซึ่งทีมของ SCBX ก็จะมีการติดตามวงการอยู่เสมอเพื่อประเมินช่องทางที่คุ้มค่าในการใช้งาน เช่นมีการนำ Typhoon ไปโฮสต์ที่ Startup ในต่างประเทศ ทำให้ค่าระบบในการรันปัญญาประดิษฐ์ถูกลงไปอีก แต่ถ้าไม่ได้ลงทุนพัฒนา AI แล้วไปใช้ AI สำเร็จรูป มันก็จะเป็นค่าใช้จ่ายไปตั้งแต่แรกแล้ว
ประเทศไทยถือเป็นแหล่งสร้าง AI ไหม
เราอยู่ในงาน AI Thailand Forum 2024 ได้เห็นน้องนักเรียน นักศึกษามากมายในงานนี้ที่สนใจเรื่อง AI แล้วประเทศไทยถือเป็นแหล่งสร้าง AI ไหม เรายังมีตลาดงานสำหรับผู้พัฒนา AI แค่ไหน คุณกวีวุฒิตอบเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า ตอนนี้ทาเลนต์ในไทยไม่พอ วงการเทคโนโลยีต้องการคนที่เก่งและรู้จริงเสมอ เรื่อง AI ก็เช่นกัน ยังมีที่ว่างในตลาดอีกเยอะ
แต่คนทำ AI ก็หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องปรับปรุงตัวเองได้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอด ผ่านไม่กี่วันโมเดลใหม่ออกมา ก็ต้องมี Growth Mindset พร้อมเรียนรู้ได้ตลอด
ซึ่ง SCBX ก็มองว่าการสนับสนุน AI Thailand Forum 2024 ก็เป็นโอกาสที่ได้สนับสนุนวงการ AI ในไทย ได้สนับสนุนคนรุ่นใหม่ และเราอยากเล่าให้ฟังว่าการเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่มีคนพูดถึง ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานจริงเป็นอย่างไร เลยอยากทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาว่าควรสร้างคนออกมาอย่างไร ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน