นับตั้งแต่เปิดตัว ChatGPT สู่โลกออนไลน์ในปี 2021 AI เชิงสังเคราะห์ (Generative AI) ได้กลายเป็นเสมือน Google แห่งยุคใหม่ที่เข้ามาช่วยการทำงานให้ง่ายขึ้น
แม้ว่าหลายคนจะยังระแวงว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วโลกได้นำ AI มาใช้ในหลายรูปแบบ ข้อมูลจาก McKinsey พบว่าการนำ AI มาใช้ในธุรกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (2023) มากถึง 72% เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว ๆ 50%
คนทั่วโลกยังเริ่มยอมรับถึงประโยชน์ของ AI ในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ผลการสำรวจของ Reuters ที่ออกมาในปีนี้ (2024) ที่สำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 2,205 คนทั่วโลกทุกเพศทุกวัยจากทุกภาคส่วน (ส่วนใหญ่มาจากเจเนอร์เรชัน X และ Y) พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าในอีก 5 ปีงานกว่า 56% จะใช้ประโยชน์จาก AI ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในจำนวนนี้ 17% ยังเชื่อด้วยว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ AI จะเข้ามาช่วยยกระดับการทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ในการตรวจทานความถูกต้องอีกต่อไป
ในบทความนี้จะแนะนำพรอมต์ที่ช่วยงานของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้นใน GenAI หลายตัวที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน มาดูกันว่า 5 พรอมต์ (Prompt คำสั่งที่ใช้ป้อนเวลาคุยกับ AI) ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ทำงานให้ดีขึ้นไปอีกระดับมีอะไรบ้าง
ช่วยคิดงาน
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในพรอมต์ที่คนใช้มากที่สุด มีตั้งแต่ช่วยเขียนการบ้านส่งครูไปจนถึงช่วยออกกฎหมายจนผ่านสภามาแล้วก็มีให้เห็นกันมาแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วพรอมต์รูปแบบมีลูกเล่นเยอะมาก ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแอป
เริ่มที่ตัวอย่างพรอมต์ “ช่วยเขียนอีเมลลูกค้าให้หน่อย” ผู้ใช้สามารถเพิ่มรายละเอียดของคำขอเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่มากขึ้น เช่น องค์กรลูกค้า ข้อมูลที่อยากให้บอกในอีเมล และความยาว เป็นต้น หรือจะเป็นพรอมต์ที่ช่วยออกไอเดียในการเขียนอย่าง “จะเขียนอีเมลลูกค้า [ระบุข้อมูลลูกค้า และเป้าหมายของอีเมล] ต้องใส่ข้อมูลอะไรบ้าง” ก็ย่อมได้
ไม่เพียงแต่การเขียนอีเมล GenAI ยังสามารถช่วยในการเขียนงานในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ รายงานการประชุม ข้อเสนอโครงการ ไปจนถึงแผนธุรกิจเลยทีเดียว
ช่วยทำให้งานเขียนดีขึ้น
นอกจาก จะช่วยเขียนงานได้แล้ว GenAI ยังสามารถช่วยพัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย สำหรับคนที่ไม่อยากจะพึ่งพา AI ในการทำงานทั้งหมด เพราะยังอยากจะมีงานที่เป็นของตัวเองอยู่
หากใช้ ChatGPT ก็สามารถป้อนพรอมต์ว่า “จะเขียนงานต่อไปนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” จากนั้นก็แปะงานเขียนที่ต้องการให้ช่วย ซึ่ง ChatGPT จะทำการเรียบเรียงงานเขียนของผู้ใช้ใหม่ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการปรับปรุงงานเขียนให้ดีขึ้นด้วย
หรือถ้าใช้พรอมต์เดียวกันนี้ใน Gemini จะมีการแนะนำด้วยว่าควรจะเขียนคำขอให้ช่วยในแนวไหน และวางโครงสร้างการเขียนอย่างไร รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้เขียนก็ยังได้
ย่อยข้อมูล
เวลาที่จะต้องเขียนงานอะไรสักอย่างนึง หลายครั้งก็ต้องศึกษาข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่แต่ละชิ้นก็ต้องใช้เวลาจำนวนมากในการอ่าน ทำความเข้าใจ กว่าจะสรุปออกมาได้ชิ้นงานนึงก็คงเหนื่อยไม่ใช่น้อย GenAI เข้ามาช่วยตรงนี้ได้อย่างง่ายดายด้วยพรอมต์ง่าย ๆ ว่า “สรุปเนื้อหาเว็บไซต์/หนังสือ/ไฟล์”
อย่างที่เห็นด้านบนเป็นการป้อนพรอมต์ช่วยสรุปเนื้อหาของหนังสือ Sapiens ของ Yuval Noah Harari (ชื่อไทย: เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ) โดย ChatGPT
หากเป็นส่วนเสริม Copilot ของเว็บเบราว์เซอร์จะสามารถสรุปเนื้อหาของเว็บเพจที่เปิดอยู่ได้เลย โดยไม่ต้องกรอกเนื้อหาของสิ่งที่อยากจะให้สรุป แต่ก็สามารถระบุรายละเอียดแบบเฉพาะเจาะจง เช่นว่าอยากจะให้สรุปอะไร ความยาวเท่าไหร่ เป็นต้น หากเป็นหน้าโซเชียลมีเดีย นอกจาก Copilot จะสรุปเนื้อหาของโพสต์แล้ว ยังมีการสรุปความเห็นของคนที่เข้ามาคอมเมนต์ด้วย
นอกจากนี้ Claude และ Perplexity ยังสามารถย่อยข้อมูลจากไฟล์หลายร้อยหน้าแล้วสรุปมาเป็นข้อมูลตามที่ผู้ใช้อยากรู้ได้ง่าย ๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นรายงานวิจัย วารสารตีพิมพ์ หรือแม้แต่หนังสือทั้งเล่มก็ยังได้ เพียงแค่อัปโหลดไฟล์แล้วป้อนพรอมต์ที่ต้องการอย่าง “อะไรคือบทสรุปของไฟล์นี้” หรือ “ช่วยสรุปให้ที” ก็ได้หมดเลย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถขอคำแนะนำแหล่งข้อมูลที่ควรไปค้นหาก็ยังได้ด้วย เช่น “อยากจะเขียนงานเรื่องนี้ [ชื่อเรื่อง] ช่วยแนะนำแหล่งและลักษณะข้อมูลให้หน่อย”
วางแผนทำงาน
GenAI ยังสามารถช่วยในการวางแผนการทำงานได้ด้วย ตั้งแต่การจัดความสำคัญของการทำงาน เป้าหมายที่ควรทำ แนวคิดเกี่ยวกับโครงการใหม่ หรือแม้แต่วาง Workflow ในการทำงานโดยอ้างอิงจากงานที่มีอยู่เดิมก็ได้
ตัวอย่างพรอมต์ที่น่าสนใจเช่น “ช่วยจัดความสำคัญงานให้หน่อย” พร้อมทั้งป้อนงานที่ต้องทำในช่วงเวลานั้น ๆ เข้าไปตัวอย่างเช่น “ช่วยจัดความสำคัญงานที่ต้องทำวันนี้ให้หน่อย สิ่งที่ต้องทำวันนี้คือ ประชุมตอนบ่าย 2 โทรหาลูกค้าภายในบ่ายโมงครึ่ง ตอบอีเมลลูกค้า และทำเอกสารให้เสร็จภายใน 6 โมง”
พรอมต์นี้นอกจากจะช่วยทำให้จัดระเบียบการทำงานให้ง่ายขึ้นแล้ว ในแชตบอต GenAI หลายตัวอย่าง ChatGPT และ Perplexity ยังช่วยบอกเหตุผลว่าทำไมงานไหนต้องทำก่อน – หลัง เพื่อให้ง่ายกับการทำงานลักษณะเดียวกันในอนาคตได้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น Gemini ของ Google ยังจะช่วยทำเป็นตาราง Google Sheets ที่ Export ไปเป็นไฟล์ Excel ได้ด้วย หรืออย่างใน Claude ผู้ใช้ยังสามารถป้อนพรอมต์ให้เรียบเรียงข้อมูลการจัดลำดับความสำคัญในการทำงานเป็นข้อมูลเชิงภาพในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นตาราง หรือแผนภูมิ ก็ตาม
นอกจากการช่วยวางแผนการทำงานในระยะสั้นแล้ว ยังสามารถป้อนพรอมต์ที่จะช่วยคิดแนวทางการทำงานในระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การตัดสินใจโดยคำนึงถึงโอกาสและอุปสรรค หรือจัดระเบียบอีเมลและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การวางแผนทำงานดีขึ้นได้ด้วย
แนะนำตัวช่วยการทำงาน
นี่อาจจะเป็นพรอมต์สำหรับคนที่ไม่อยากพึ่ง GenAI จนเกินไป แต่ก็ยังอยากได้คน (?) มาช่วยคิดหรือหาตัวช่วยในการทำงานให้มันง่ายกว่านี้ อย่างเช่นการช่วยหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่มีอยู่แล้วแต่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่ตัวช่วยทางเทคโนโลยี (ที่ไม่ใช่ AI) มาเสริม
ตัวอย่างของพรอมต์ก็คือ “แนะนำ 3 กลยุทธ์ที่มีงานวิจัยรองรับที่ช่วยทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นและประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย” เมื่อป้อนลงไปใน Perplexity หรือ Copilot นอกจากจะแนะนำตัวช่วยต่าง ๆ แล้ว ยังมีลิงก์ที่มาข้อมูลแนบไว้ให้ด้วย สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าคำตอบที่ได้รับมาจะถูกต้อง หรือมั่วขึ้นมาเอง
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถถามลึกลงไปอีกก็ได้ว่าแต่ละวิธีที่แนะนำมานั้น จะเอาไปใช้กับการทำงานจริง ๆ อย่างไรได้บ้าง อย่างเช่น “จะเอา Pomodoro Technique ไปใช้ทำงาน [ระบุงานที่ทำอยู่] ได้อย่างไร”
หรือที่ง่ายไปกว่านั้น เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยใช้ ด้วยพรอมต์อย่าง “แนะนำ 5 แอปช่วยทำงานให้หน่อย” เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับแอปที่จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น หรือจะถามเกี่ยวกับสูตรใน Excel ที่เหมาะกับข้อมูลที่ทำอยู่ พร้อมตัวอย่างก็ได้
GenAI ยังไม่สมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ดี การใช้ GenAI ก็ยังต้องมาพร้อมกับความรู้เท่าทัน อย่างการที่ต้องคอยตรวจคำตอบที่ให้มา เพราะหลายครั้ง GenAI ก็ยังเกิดอาการหลอน (Hallucinate) ถึงแม้จะว่าปัจจุบันจะดีขึ้นมากแล้วก็ตาม และก็ต้องระมัดระวังไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่า GenAI มาถึงจุดนี้ได้ก็มาจากการเรียนรู้ข้อมูลที่คนสร้างขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างของพรอมต์และเศษเสี้ยวขีดความสามารถของ GenAI เท่านั้น อีกทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาการอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ก็คงมีศักยภาพการทำงานที่ดึขึ้นเรื่อย ๆ อย่างดาดไม่ถึงในเร็ววันแน่นอน