เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคงกังวลไม่ใช่น้อยกับการที่จะยอมให้บุตรหลานเข้าสู่โลกของโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยด้านมืดเกินกว่าจะประเมินได้
ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อเยาวชนเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมามากพอสมควรแล้ว เห็นได้จากการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จำกัดอายุขั้นต่ำในการสมัครสมาชิกที่ 13 ปี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายประเทศต่างก็ออกกฎหมายห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียด้วยอายุขั้นต่ำที่สูงขึ้นไปอีก อย่างฝรั่งเศสกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ว่าต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือออสเตรเลียที่เพิ่งจะเสนอร่างกฎหมายที่ห้ามเด็กต่ำกว่า 16 ปีท่องโลกโซเชียลมาหมาด ๆ เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรและนอร์เวย์ที่ก็เล็งจะเสนอกฎหมายลักษณะเดียวกัน
แต่จริง ๆ แล้ว แม้ว่าภัยที่แฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดียจะมีมากมาย แต่การห้ามเยาวชนใช้โซเชียลมีเดียอาจไม่ได้ส่งผลดีเพียงอย่างเดียว และจะอาจจะมีโทษมากด้วย
พัฒนาทักษะทางสังคม
งานวิจัยหลายฉบับชี้ว่าด้วยความโซเชียลมีเดียสามารถช่วยให้เยาวชนใช้ในการซ้อมพูดคุยกับเด็กในวัยเดียวกัน เพื่อให้สามารถคุยกับเพื่อนได้อย่างสบายใจเมื่อเจอหน้ากันจริง ๆ อีกทั้งยังช่วยในการเจอเพื่อนใหม่ การเรียนรู้มารยาทสังคม แลกเปลี่ยนไอเดีย เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมทักษะเข้าสังคมอย่างมาก รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจตัวเอง สังคม และโลก อีกด้วย
ดร. แมรี แอนน์ แม็กเคบ (Mary Ann McCabe) นักจิตวิทยาคลินิกชี้ว่าความรู้สึกต้องเชื่อมโยงทำความรู้จักกับคนรุ่นเดียวกันเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการที่ปกติมาก ๆ ในวัยรุ่น
นอกจากนี้ ผศ.ดร. แจ็กเกอร์ลีน เนซี (Jacqueline Nesi) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ชี้ว่าโซเชียลมีเดียมอบโอกาสให้คนหนุ่มสาวพบเจอข้อมูลใหม่ ๆ เรียนรู้เหตุการณ์ปัจจุบัน โต้ตอบกับปัญหา และแสดงออก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นพื้นที่ในการค้นหาตัวตนของตัวเองด้วย ซึ่งสำคัญกับพัฒนาการในช่วงเริ่มวัยรุ่น
โซเชียลมีเดียยิ่งสำคัญกับเยาวชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งรายงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียชี้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยค้ำจุนจิตใจของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะทำให้ได้เชื่อมกับชุมชนที่มีความเข้าใจพวกเขา อีกทั้งยังเป็นช่องทางติดต่อกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ด้วย
ในทางตรงกันข้าม ซูนีตา โบส (Sunita Bose) ผู้อำนวยการบริหารของ Digital Industry Group Inc (DIGI) ชี้ว่าการปิดกั้นเยาวชนจากโซเชียลเดียวโดยสมบูรณ์ก็อาจเป็นการผลักให้เข้าสู่วังวนของโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาและแนวคิดในเชิงลบมากกว่า และปลอดภัยน้อยกว่า
ทำจริงยาก
ทุกวันนี้ก็คงจะเห็นว่าแม้จะมีการกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 13 ปี แต่ก็มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์เข้ามาใช้โซเชียลมีเดียแล้ว บางรายก็เข้ามาใช้โดยความช่วยเหลือของผู้ปกครองด้วยซ้ำ แพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (U.S. Surgeon General) เคยออกมาเผยในปี 2021 ว่า 40% ของเยาวชนในช่วงอายุระหว่าง 8 – 12 ปีต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียอยู่แล้ว
แม้แต่กฎหมายที่ประเทศต่าง ๆ ออกมาเพื่อ ‘คุ้มครอง’ เยาวชนจากการใช้โซเชียลมีเดียหรือเผชิญโลกออนไลน์ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก อย่างกรณีของกฎหมายห้ามเยาวชนต่ำกว่า 16 ปีเข้าเว็บไซต์เกมหลังเที่ยงคืนในเกาหลีใต้ ก็พบว่าเยาวชนบางส่วนแอบอ้างใช้ชื่อผู้อื่นเข้าไปใช้เว็บไซต์เหล่านั้นได้ง่าย
ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะออกเครื่องมือดิจิทัลที่จะมาจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้จริง ยกเว้นแต่จะใช้เครื่องมือที่ค่อนข้างรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนมากขึ้น
อาจไปเจอเนื้อหาโหดเกินวัย
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไว้สูง ทางเจ้าของแพลตฟอร์มก็อาจเข้าใจว่าค่าเฉลี่ยอายุของผู้ใช้สูงขึ้น ก็อาจยินยอมให้เนื้อหาที่รุนแรงมากขึ้นเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงเยาวชนอีกต่อไป เยาวชนที่แอบมาใช้โซเชียลมีเดียก็จะเจอเนื้อหาที่รุนแรงมากขึ้น เพราะเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้ที่อายุเพิ่มขึ้น
โบสแห่ง Digi ยังเสริมด้วยว่าการที่รัฐบาลห้ามเยาวชนใช้โซเชียลมีเดียโดยสมบูรณ์จะยิ่งทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มใส่ใจในเรื่องเนื้อหาปลอดภัยแก่เยาวชนน้อยกว่าเดิม และไม่รู้สึกว่าต้องมีมาตรการคุ้มครองเยาวชนอีกต่อไป ยังไงเยาวชนก็ใช้ไม่ได้อยู่แล้วเพราะกฎหมายห้ามเอาไว้
ผู้ปกครองสำคัญ
อ่านมาจนถึงตอนนี้ อาจจะคิดว่าบทความนี้ส่งเสริมให้เยาวชนเล่นโซเชียลมีเดียอย่างอิสระเสรีโดยไม่ต้องกังวลอะไร แต่เปล่าเลย ภัยจากการใช้โซเชียลมีเดียก็ยังมีมากอยู่ดี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่าการที่เยาวชนจะได้ประโยชน์จากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่คือการที่ผู้ปกครองต้องคอยให้คำแนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้อง แทนการสอนให้กลัว
รายงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Current Opinion in Psychology ชี้ว่าวิธีการสอนที่ดีที่สุดคือการที่ผู้ปกครองคอยสอดส่องดูแลการใช้โซเชียลมีเดียของบุตรหลาน ในลักษณะที่คอยส่งเสริมอิสระ สร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับโทษและประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย และทำให้คิดว่าเยาวชนมีส่วนในการตัดสินใจในการใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง โดยต้องคำนึงถึงความต้องการในด้านสังคมและสุขภาพจิตของเยาวชน
ตัวอย่างหนึ่งที่บรรดานักจิตวิทยาเด็กยกขึ้นมาคือการสร้างกฎการใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอเหมาะ ควบคู่กับการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก และกฎนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงจะต้องพูดคุยร่วมกันเสมอ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องคอยตามโลกโซเชียลให้ทัน เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับลูก เพื่อให้เข้าใจพวกเขามากขึ้นด้วย
ดร.แมรี อัลวอร์ด (Mary Alvord) นักจิตวิทยาคลินิกและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันชี้ว่าการตั้งกฎการใช้โซเชียลมีเดียกับเยาวชนก็เหมือนการตัดสินใจว่าพวกเขาโตพอที่จะขับรถได้หรือยัง หน้าที่ของพ่อแม่คือการสอนให้ลูกขับรถให้ดี
นอกจากผู้ปกครองแล้ว แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ควรมีส่วนสำคัญในการทำให้เยาวชนใช้งานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับกฎหมายที่ควรมาควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้แทนที่จะผลักภาระไปให้กับผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว เพื่อให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนให้มากที่สุด