ในประเทศที่บริษัทเดียวมีรายได้ต่อปีมากกว่า 20% ของ GDP ประเทศ มีสินค้าและบริการหลากหลาย ตั้งแต่สมาร์ตโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ประกันภัย ไปจนถึงสวนสนุก และจ้างพนักงานจำนวนมหาศาล ใครจะเชื่อว่าเมื่อ 86 ปีก่อน จุดเริ่มต้นของ Samsung เกิดขึ้นจากร้านค้าปลาแห้งเล็กๆ ในเมืองแทกู
Lee Byung-chul ผู้สร้างตำนาน
ลี บยอง-ชอล (Lee Byung-chul) ผู้ก่อตั้งซัมซุง เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1920 ในตระกูลขุนนางที่ร่ำรวย หรือที่เรียกว่า “ยังบัน” (Yangban) ชนชั้นปกครองที่ประกอบด้วยข้าราชการ นายทหาร และขุนนาง เปรียบเสมือนอัศวินและลอร์ดในยุโรป หรือโชกุนและซามูไรในญี่ปุ่น แต่ฐานะทางครอบครัวเขาไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเขาเกิด ญี่ปุ่นได้ผนวกเกาหลีเข้าเป็นอาณานิคม
ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ชนชั้นยังบันต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก: ปรับตัวเข้ากับผู้ปกครองใหม่เพื่อรักษาความมั่งคั่งและอำนาจไว้ หรือต่อต้านและสูญเสียทุกอย่าง ปรัชญา “ปรับตัวหรือตาย” นี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในช่วงวัยเยาว์ของลี แม้ในตอนนั้นเขาอาจจะยังไม่รู้ตัวก็ตาม
เขามีโอกาสได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะที่ญี่ปุ่น และระหว่างที่อยู่ที่นั้นก็เห็นแนวทางการทำธุรกิจต่างๆ
เริ่มก่อตั้ง Samsung
ในปี 1938 ลีตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยและย้ายไปยังเมืองแทกู เพื่อก่อตั้งบริษัทของตัวเอง เขาตั้งชื่อว่า “ซัมซุง” ซึ่งแปลว่า “สามดาว” แต่ละดาวสื่อถึงความยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน ในตอนนั้นอาจดูเหมือนความทะเยอทะยานเกินตัวสำหรับร้านค้าที่เริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 40 คน ขายปลาแห้ง เส้นก๋วยเตี๋ยวและของชำในท้องถิ่น
ด้วยความที่เมืองแทกูตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมกับการค้าขายส่งออกด้วย เขาก็มีการส่งออกสินค้าพวกนี้ไปยังประเทศจีนด้วย ทำไปหลายปี จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรัฐบาลก็เริ่มสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นเพื่อให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วงปี 1947 Samsung เลยย้ายไปเข้าตั้งบริษัทที่เมืองหลวงอย่างกรุงโซล
แต่จังหวะไม่ดีสักเท่าไหร่ ปี 1950 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้น ลีต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับในอดีต: ถูกบีบอยู่ระหว่างสองขั้วอำนาจ ครั้งนี้คือระหว่างเกาหลีเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ
เมื่อกรุงโซลตกอยู่ในอันตราย ลีตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากเมืองไปอยู่ปูซานชั่วคราว การตัดสินใจที่ทันท่วงทีนี้ช่วยให้บริษัทรอดพ้นจากการถูกยึดครองโดยกองกำลังคอมมิวนิสต์ในเดือนมกราคม 1951
ในช่วงนี้เอง ลีได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการก่อตั้งโรงกลั่นน้ำตาล แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพรมแดนทั้งทางกายภาพและอุดมการณ์
หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดในปี 1953 ด้วยการลงนามในข้อตกลงสงบศึก (แม้ว่าสงครามจะไม่เคยสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ) เกาหลีใต้ต้องการการฟื้นฟูครั้งใหญ่ รัฐบาลได้นำนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “แชโบล” (chaebol)
ลีฉวยโอกาสนี้ด้วยการขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ก่อตั้งโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 50’s – 60’s ก็ขยายไปสู่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สามแห่ง บริษัทประกันภัย และธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านซีเมนต์และปุ๋ย ซื้อโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตไนลอน และห้างสรรพสินค้า การวางตำแหน่งบริษัทให้เป็นผู้ให้บริการหลักในการพัฒนาประเทศนี้เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดโดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังฟื้นฟู
ก่อตั้ง Samsung Electronics
แต่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1969 ที่เขาก่อตั้ง Samsung Electronics เพื่อผลิตโทรทัศน์ขาวดำ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคิดเลข เป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัทในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสินค้าเทคโนโลยีที่กลายเป็นอนาคตของบริษัทจนถึงปัจจุบัน
ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นยุคแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีใต้ ที่รู้จักกันในชื่อ “ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน” ซัมซุงได้ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมหนักในทศวรรษ 1970 ก่อตั้ง Samsung Heavy Industries เพื่อรับงานด้านการทหาร และ Samsung Shipbuilding เพื่อดึงดูดพันธมิตรในธุรกิจนำเข้าส่งออก
ลีเริ่มตระหนักว่ากุญแจสู่การปรับตัวไม่ใช่แค่การเข้าใจสภาพแวดล้อม แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ ซัมซุงจึงลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี เพื่อรองรับโลกที่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ลี บยอง-ชอล เสียชีวิตในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1987 ที่อายุ 77 ปี ลูกชายคนที่สาม ลี คุน-ฮี (Lee Kun-hee) รับช่วงต่อและเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ซัมซุงที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ประธานคนที่ 2 Lee Kun-hee
ในปี 1993 เขาประกาศนโยบาย “New Management Initiative” ขายบริษัทในเครือและปรับลดขนาดองค์กรเพื่อมุ่งเน้นสามอุตสาหกรรมหลัก: อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรม และเคมี
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลอันมหาศาลของ Samsung ก็นำมาซึ่งความท้าทายและข้อวิพากษ์วิจารณ์ ลี คุน-ฮี เผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการยักยอกเงินและการติดสินบนหลายครั้ง แม้จะได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีในที่สุด แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างธุรกิจและการเมืองในเกาหลีใต้
ลี คุน-ฮี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 และ ลี แจ-ยง (Lee Jae-yong) ลูกชายคนเดียวของเขาได้รับช่วงต่อในปี 2022
ปัจจุบันของ Samsung
ปัจจุบัน Samsung มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านแทบทุกอย่าง สมาร์ตโฟน การโรงแรม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน บัตรเครดิต เทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงสวนสนุก เครือข่ายธุรกิจของซัมซุงกว้างขวางมากๆ รายได้เทียบเท่า 22.4% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2022 มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 267,000 คน (ประมาณ 150,000 อยู่ต่างประเทศ)
ในหลายแง่มุม ความสำเร็จของซัมซุงคือบทสรุปที่สมเหตุสมผลของปรัชญาที่ผู้ก่อตั้งยึดถือ เมื่อ ลี บยอง-ชอล เกิดมาท่ามกลางการล่มสลายของระบบยังบัน เขาต้องปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่หากต้องการมีชีวิตรอดและเติบโต จากการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแก่ชุมชน รัฐบาล และธุรกิจ หลังจากเขาเสียชีวิต จักรกลของเขาก็ดำเนินต่อไปจนกลายเป็นบริษัทที่ผลิตและให้บริการมากมายในปัจจุบัน
ความสามารถในการปรับตัวและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสามารถเปลี่ยนร้านค้าปลาแห้งเล็กๆ ให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกได้
Samsung กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีจนยากจะจินตนาการชีวิตโดยปราศจากพวกเขา ที่จริงแล้วการจินตนาการถึงเกาหลีใต้โดยไม่มี Samsung เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ณ จุดนี้ Samsung และเกาหลีใต้คล้ายจะกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว