จากกรณีข่าว Apple ตกลงจ่ายเงิน 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีฟ้องร้องแบบกลุ่ม หลัง Apple ถูกฟ้องร้องว่า Siri แอบบันทึกเสียงสนทนาของผู้ใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม และนำข้อมูลไปใช้เพื่อการโฆษณา โดยมีผู้ใช้บางรายอ้างว่าได้รับโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาพูดคุยกัน แม้ไม่ได้ตั้งใจเรียกใช้ Siri ก็ตาม ตัวอย่างเช่น มีผู้ใช้อ้างว่าหลังจากพูดถึงรองเท้า Air Jordan หรือร้านอาหาร Olive Garden ก็พบโฆษณาของสินค้าและร้านเหล่านั้นปรากฏขึ้น หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ใช้รายหนึ่งได้รับโฆษณาเกี่ยวกับการรักษาทางศัลยกรรมหลังจากการปรึกษาแพทย์ส่วนตัว
คดีนี้เริ่มต้นในปี 2019 หลังมีรายงานว่า Apple ใช้ผู้รับเหมาฟังบันทึกเสียง Siri เพื่อปรับปรุงระบบ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว แม้ Apple จะอ้างว่าไม่เคยนำข้อมูล Siri ไปใช้ทางการตลาด และข้อมูลถูกทำให้ไม่ระบุตัวตน แต่ก็ตัดสินใจยุติคดีเพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีที่ยืดเยื้อ
ผู้ใช้อุปกรณ์ Siri ในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบระหว่างปี 2014-2024 อาจมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย โดยสามารถยื่นคำร้องได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2025 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Apple ได้ปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัว และเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้ควบคุมการบันทึกเสียง Siri ได้มากขึ้น รวมถึงย้ายการประมวลผลบางส่วนมาที่อุปกรณ์โดยตรง
และหากย้อนไปก่อนหน้านี้เคยมีกรณีคล้ายกันและเป็นข่าวดังพอสมควร นั่นคือ Facebook เคยถูกฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียงของผู้ใช้ผ่าน Messenger โดยไม่ได้รับความยินยอม ศาลตัดสินให้ Facebook ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียหายเช่นกัน โดยบริษัทอ้างว่าเพราะต้องการฟังไฟล์เสียงเพื่อนำไปตรวจสอบประสิทธิภาพของ AI ในการแปลข้อความเสียงเป็นข้อความตัวอักษรอัตโนมัติ
ซึ่งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของ Facebook ได้ให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายน 2018 โดยยืนยันว่าบริษัทไม่เคยแอบดักฟังผู้ใช้งานผ่านไมโครโฟนเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางการโฆษณา ซึ่ง Facebook จะบันทึกเสียงผ่านไมโครโฟนของแอปพลิเคชันเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้งานอนุญาต หรือในขณะที่ใช้งานฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับข้อความเสียงเท่านั้น ไม่มีการดักฟังเด็ดขาด
ส่วนยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีอย่าง Google ในปี 2020 Google เคยถูกฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียงของผู้ใช้ผ่าน Google Assistant โดยไม่ได้รับความยินยอม ศาลตัดสินให้ Google ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียหายเช่นกัน
สรุปแล้วการที่สินค้าไอที ไม่ว่าจะเป็นมือถือสมาร์ตโฟน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT ในบ้านแอบดักฟังลูกค้า หลายฝ่ายก็มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือสามารถช่วยให้บริษัทปรับปรุงบริการและพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น AI เรียนรู้คำสั่งได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น แต่ข้อเสียคือการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยและภาพลักษณ์เสียหาย
การที่บริษัทเลือกที่จะบันทึกเสียงของผู้ใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมอาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่คุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากความเสี่ยงทางกฎหมายและการสูญเสียความไว้วางใจจากผู้ใช้ การที่บริษัทเลือกที่จะโปร่งใสและให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างความไว้วางใจและความพึงพอใจในระยะยาว