เวลาทุกคนเลือกซื้อเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ ก็อาจจะเคยเห็นคำว่า Waterproof, Water Repellent หรือ Water Resistant ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่าทั้งสามคำนี้มีคุณสมบัติกันน้ำเหมือนกัน แต่มันให้ประสิทธิภาพในการกันน้ำที่แตกต่างกันด้วยนะ

Water Resistant

เป็นระดับการป้องกันน้ำได้น้อยที่สุด มีโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อกันน้ำไหลซึมผ่านอุปกรณ์ หรืออาจจะใช้วิธีเคลือบสารกันน้ำไว้เล็กน้อย ทำให้อุปกรณ์ของคุณไม่เปียกมากนัก เหมาะกับการใช้งานทั่วไป สามารถกันน้ำได้ระดับหนึ่ง เพราะต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าน้ำจะซึมผ่านวัตถุ คุณสมบัตินี้พบเห็นได้ตามพวกเสื้อกันลม ที่จะกันน้ำได้เล็กน้อย แต่หากโดนน้ำนาน ๆ ก็จะซึมเข้าและเปียกในที่สุด

Water Repellent

ขยับมาอีกขั้นของการกันน้ำ ในระดับนี้จะมีสารเคลือบ Hydrophobic ไว้อยู่ ทำให้น้ำไม่สามารถซึมเข้าได้ทันที น้ำจะกลิ้ง ๆ เกาะอยู่บนวัตถุ เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน น้ำก็จะซึมลงวัตถุได้ และทำให้วัตถุเปียกได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีนาโนฟิล์มบาง ๆ ในการเคลือบทั้งภายในและภายนอกของของวัตถุ และสามารถใช้กับวัสดุต่าง ๆ ได้ เช่น กระจก, โลหะ, พลาสติก และผ้า

Waterproof

ครบเครื่องเรื่องกันน้ำ กันน้ำได้ 100% มีโครงสร้างตัวเนื้อผ้าที่จะกันน้ำซึมลงวัตถุ และอาจมีการเคลือบสารกันน้ำร่วมด้วย มักจะพบเห็นได้ในอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเผชิญกับน้ำโดยตรง เช่น ร่ม, เสื้อกันฝน, ชุดดำน้ำ, รองเท้าเดินป่า เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังในบางจุด เพราะถึงแม้ตัวผ้าจะกันน้ำ แต่ซิปหรือโครงสร้างอื่น ๆ เช่น รอยตะเข็บตัดเย็บของผ้า ไม่ได้มีคุณสมบัติกันน้ำด้วย

และนั่นก็คือความแตกต่างของ Waterproof, Water repellent และ Water resistant โดยแต่ละอันถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ สิ่งของบางชิ้นหากนำ Waterproof มาใช้ ก็จะต้องสูญเสียคุณสมบัติบางอย่างไป เช่น พวกเสื้อผ้า ที่จะทำให้ผ้าแข็ง ใส่ไม่สบาย จึงไม่นิยมนำมาใช้กัน

ความแตกต่างของการกันน้ำทั้ง 3 รูปแบบ

มาตรฐานการกันน้ำแบบ IP ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ส่วนระบบกันน้ำในพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีมาตรฐานอีกอย่างที่เราคุ้นหูคุ้นตากัน นั่นก็คือมาตรฐาน IP (Ingress Protection) โดยจะแบ่งออกเป็นสองตัวเลข โดยตัวเลขแรก หมายถึงระดับการป้องกันของแข็งและฝุ่น มีระดับตั้งแต่ 0-6 ส่วนตัวเลขหลัง หมายถึงระดับการกันน้ำของอุปกรณ์ มีระดับตั้งแต่ 0-9 แตกต่างกันไป ดังนี้

ตัวเลขหลักที่ 1 ของ IP หมายถึงระดับการป้องกันของแข็ง หรือฝุ่นละออง

  • ระดับ 0 หมายถึง ไม่มีการป้องกันใด ๆ
  • ระดับ 1 หมายถึง ป้องกันของแข็งที่มีขนาด 50 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • ระดับ 2 หมายถึง ป้องกันของแข็งที่มีขนาด 12 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • ระดับ 3 หมายถึง ป้องกันของแข็งที่มีขนาด 2.5 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • ระดับ 4 หมายถึง ป้องกันของแข็งที่มีขนาด 1 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • ระดับ 5 หมายถึง ทนทานต่อฝุ่น แต่ก็อาจมีฝุ่นเล็ก ๆ เล็ดลอดเข้าไปได้
  • ระดับ 6 หมายถึง ป้องกันฝุ่นได้สมบูรณ์แบบ

ตัวเลขหลักที่ 2 ของ IP หมายถึงระดับการป้องกันของเหลว

  • ระดับ 0 หมายถึง ไม่มีการป้องกันใด ๆ
  • ระดับ 1 หมายถึง ป้องกันหยดน้ำที่ตกกระทบในแนวตั้งกับตัวอุปกรณ์
  • ระดับ 2 หมายถึง ป้องกันจากหยดน้ำที่หยดลงกระทบทำมุม 15 องศาจากแนวดิ่ง
  • ระดับ 3 หมายถึง ป้องกันจากน้ำฝนที่ตกกระทบทำมุม 60 องศาจากแนวดิ่งโดยไม่ก่อเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์
  • ระดับ 4 หมายถึง ป้องกันจากน้ำได้รอบทุกทิศทาง โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย
  • ระดับ 5 หมายถึง ป้องกันน้ำจากการฉีดที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
  • ระดับ 6 หมายถึง ป้องกันน้ำจากการฉีดแบบรุนแรงที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
  • ระดับ 6K หมายถึง ป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูงที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
  • ระดับ 7 หมายถึง ป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำ ได้ที่ความลึกสูงสุด 1 เมตร เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที
  • ระดับ 8 หมายถึง ป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ลงน้ำ ได้ที่ความลึกสูงสุด 1 เมตร 30 เซนติเมตร ในระยะเวลา 30 นาที
  • ระดับ 9 หมายถึง ป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูงพิเศษที่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง ที่อุณหภูมิน้ำสูงสุด 80 องศาเซลเซียส
มาตรฐาน IP (Ingress Protection)

เช่น IP68 หมายความว่ากันฝุ่นได้ในระดับ 6 และกันน้ำได้ในระดับ 8 นั่นเอง

ดังนั้น เราควรเลือกคุณสมบัติที่เหมาะกับกิจกรรม และวิถีชีวิตของตัวเองก็จะดีที่สุด