รู้หรือไม่ว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอายุ 15 ปี ที่จะหมดอายุลงในปี 2572 หรือถ้านับจากวันนี้ก็อีกเพียง 4 ปีเท่านั้น แต่ตอนนี้คนในธุรกิจทีวีก็ยังกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะประเด็นการกำกับดูแล OTT ที่ภาครัฐเหมือนจะยืนงงกันมาหลายปี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนสถานีทีวีของไทยในอนาคต

OTT หรือ Over-The-Top คือเนื้อหาที่สตรีมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถึงผู้ชมโดยตรง เช่น บริการอย่าง YouTube หรือ Netflix ที่แม้จะคล้าย ๆ IPTV หรือ Internet-based Protocol Television แต่ในเชิงเทคนิคจะนิยามต่างกันตรง IPTV จะมีการกันช่องสัญญาณ หรือทำช่องทางสื่อสารพิเศษเอาไว้เพื่อส่งสัญญาณภาพและเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ได้ภาพและเสียงที่คมชัด เช่นบริการเคเบิลทีวี หรือ AIS Playbox, NT IPTV ที่จดทะเบียนเป็น IPTV
OTT นั้นเข้ามาแทน IPTV อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในไทยที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องกันช่องสัญญาณพิเศษสำหรับทีวีอีกต่อไป ความแตกต่างของ OTT กับ IPTV จึงกลายเป็นเรื่องของข้อกำหนดจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. แทน เพราะบริการ IPTV จะถูกกำกับดูแลจากกฎหมายลักษณะเดียวกับบริการทีวีภาคพื้นดิน มีเงื่อนไขอย่าง Must Have หรือ Must Carry ที่ช่องดิจิทัลทีวีบน IPTV ต้องออกอากาศเนื้อหาเดียวกับช่องทีวีภาคพื้น

แม้ว่า OTT จะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาเหมือนกัน แต่การกำกับดูแลกลับเป็นหนังคนละม้วนกับ IPTV อาจเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เติบโตเร็วมากจน กสทช. ก็ยังงง ๆ ว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งเราจะข้ามไปเทียบ OTT กับภาพที่ใหญ่กว่าอย่างทีวีดิจิทัลให้ดูกัน จากข้อมูลของนีลเส็นพบว่าในปี 2566 มีคนดูช่องทีวี 58% และดูผ่าน OTT หรือสตรีมมิงเป็น 42% แต่ในปีถัดมาคือ 2567 คนกลับดูเนื้อหาผ่าน OTT พุ่งเป็น 53% แล้วทีวีตกไปเหลือ 47% เท่านั้น ซึ่งพอตัวเลขผู้ชมลด เม็ดเงินโฆษณาที่ลงมาในธุรกิจทีวีก็ลดลงไปด้วย ข้อมูลจากนีลเส็นก็ยังชี้ว่าในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2567 เม็ดเงินที่ลงโฆษณาทางทีวีไทยอยู่ที่ 33,875 ล้านบาท คิดเป็น 50.13% จากงบโฆษณาทั้งหมด 67,579 ล้านบาท เทียบกับเมื่อสิบปีก่อนที่เงินลงโฆษณาในทีวีอยู่ที่ระดับ 65% หรือเงินหายไปนับหมื่นล้าน
แล้วตอนนี้คนไทยดู OTT มากกว่าดูทีวีดิจิทัลไปแล้ว และเงินรายได้ของช่องทีวีก็ลดลง แต่ความคืบหน้าล่าสุดของการดูแลสื่อประเภทนี้คือ กสทช. ได้ศึกษาแนวทางกำกับดูแล OTT และจัดทำร่างข้อกำหนดเสร็จตั้งแต่ปี 2566 แต่จนถึงปัจจุบัน กสทช. ก็ยังไม่มีการผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย กสทช. จึงยังไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการไปกำกับดูแล OTT

เมื่อทีวีดิจิทัลปัจจุบันที่เริ่มประมูลกันเมื่อปี 2556 กำลังจะหมดอายุลงในอีกไม่กี่ปี คำถามว่า OTT จะถูกกำกับดูแลกี่โมงจึงดังขึ้นอีกครั้ง เพราะในขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไทยต้องทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ กสทช. กำหนดขึ้น แต่ OTT ที่ส่วนใหญ่มาจากต่างชาติกลับไม่มีข้อกำหนด โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านโฆษณาและการหารายได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนการลงทุนทีวีดิจิทัลในอนาคต
พูดง่าย ๆ คือใครจะอยากลงทุนทำช่องทีวี ถ้าต้องแข่งแย่งคนดูกับ OTT ที่อยู่คนละกติกาเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ทั้งที่ช่องทีวีไทยเสียเงินประมูลกันหลายพันล้านบาท มีต้นทุนเริ่มต้นสูงกว่า OTT ที่ไม่ต้องจ่ายให้รัฐ แต่เข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าแล้วในปัจจุบัน สวนทางกับรายได้ของช่องทีวีจากโฆษณาก็หด จากคนดูที่น้อยลง และค่าลงโฆษณาของ OTT ที่ต่ำกว่า แถมเงินโฆษณาที่ลงกับ OTT ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งออกไปต่างประเทศทันที เหลือเพียงบางส่วนที่กลับมาหาผู้สร้างสรรค์เนื้อหาของไทย
ทั้งหมดนี้กระทบกับการสร้างสรรค์รายการในไทย ที่รายการหลายประเภทมีต้นทุนสูง อย่างข่าวเชิงสอบสวน ละครที่ลงทุนเรื่อง บท หรือโปรดักชันสูง ๆ หรือรายการสาระความรู้ที่ไม่สามารถดึงคนดูจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการของสปอนเซอร์ได้ก็หายไป เหลือแต่รายการแบบที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในช่องทีวีปัจจุบัน เพราะสถานีทีวีก็ต้องทำรายการที่มั่นใจว่าหาเงินได้เท่านั้น
นี่จึงเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงปัจจุบัน ซึ่งยังรอความใส่ใจจากภาครัฐต่อไป ก่อนที่ทีวีไทยจะไม่เหลือใคร