หลายคนคงเคยได้ยินข่าวว่ามีประเทศหนึ่งในแถบทวีปอเมริกากลางที่นำบิตคอยน์ (Bitcoin) มาใช้ในระดับรัฐบาล ถึงขั้นประกาศให้เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประเทศที่ว่านั้นก็คือเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) นั่นเอง ที่มีความฝันจะนำบิตคอยน์มาเป็นสกุลเงินเทียบเท่ากับเงินตราที่ใช้ได้ตั้งแต่ในงบประมาณของรัฐ และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แล้วตอนนี้ความฝันของเอลซัลวาดอร์เป็นอย่างไรบ้างแล้ว ?
ความฝันของเอลซัลวาดอร์
ในเดือนมิถุนายน ปี 2021 ข้อเสนอภายใต้กฎหมายบิตคอยน์ของ นายิบ บูเกเล (Nayib Bukele) นายกรัฐมนตรีแห่งเอลซัลวาดอร์ ที่ต้องการให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินและเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา ทำให้เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่นำบิตคอยน์เป็นมาเป็นสกุลเงิน
ต่อมาไม่นานก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ธุรกิจห้างร้านไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องยอมรับบิตคอยน์เป็นหนึ่งในรูปแบบการชำระเงิน มีการติดตั้งตู้ ATM สำหรับแลกเงินสดเป็นบิตคอยน์กว่า 200 เครื่องทั่วประเทศ และยังมีแผนการสร้างเมืองปลอดภาษีแห่งอนาคตที่ชื่อว่า บิตคอยน์ซิตี (Bitcoin City) ที่บริเวณฐานภูเขาไฟคอนชากัวด้วย

ในขณะนั้น บูเกเลบอกเป้าหมายของโครงการก็เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทุกหมู่เหล่า ลดการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ และลดค่าธรรมเนียมที่ประชาชนในต่างประเทศต้องเสียจากการส่งเงินกลับบ้าน ซึ่งเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์พึ่งพารายได้จากจุดนี้เป็นส่วนใหญ่
รัฐบาลคาดหวังให้ประชาชนดาวน์โหลด Chivo Wallet แอปฯ กระเป๋าคริปโทฯ ที่รัฐบาลพัฒนาขึ้น โดยมีการแจกบิตคอยน์ที่ตอนนั้นมีมูลค่าราว ๆ 30 เหรียญ (ประมาณ 1,008 บาท) เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ Chivo Wallet สำหรับจับจ่ายด้วยบิตคอยน์
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังไปขอความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เพื่อให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ด้วย ซึ่ง World Bank ปฏิเสธที่จะให้การช่วยเหลือ แต่สำหรับ IMF นั้น บูเกเลบอกว่าไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด
บิตคอยน์วันละเหรียญ
นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปี 2022 หรือมากกว่า 1 ปีหลังจากออกกฎหมายบิตคอยน์ รัฐบาลก็มีนโยบายซื้อบิตคอยน์วันละ 1 เหรียญ และดำเนินกลยุทธ์นี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการเปิดเว็บไซต์เพื่อติดตามการซื้อบิตคอยน์ของรัฐบาลด้วย มีบ้างบางครั้งที่ซื้อมากกว่า 1 เหรียญในวันเดียว
กลยุทธ์นี้นำไปสู่คำถามที่ว่า แท้จริงแล้วเอลซัลวาดอร์เก็บบิตคอยน์ไว้มากแค่ไหน ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางบูเกเลจะเป็นคนออกมาตอบคำถามนี้เองผ่านช่องทาง X
เดือนมีนาคม 2024 บูเกเลออกมาประกาศว่าได้โอนเงินบิตคอยน์ทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 5,600 บิตคอยน์เข้าไปใส่ไว้ใน Cold Wallet หรือกระเป๋าเงินคริปโทฯ แบบดิจิทัลที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และขนานนามให้ว่าเป็นกระปุกออมสินคริปโทฯ แรกของประเทศ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยตัวเลขบิตคอยน์ในครอบครองของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลจาก Akham Intelligence เผยให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ (กุมภาพันธ์ ปี 2025) เอลซัลวาดอร์มีบิตคอยน์มากกว่า 6,000 เหรียญ หากคิดเป็นเงินไทยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเท่ากับราว ๆ 19,000 ล้านบาท
ทุลักทุเล
โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ที่สุดขั้วแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งจากผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมรับบิตคอยน์เป็นทางเลือกการจ่ายเงิน สถาบันทางการเงินที่ไม่ได้เชื่อมั่นในสกุลเงินที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล องค์การระหว่างประเทศที่ออกมาเตือนความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนชาวเอลซัลวาดอที่ไม่ได้รู้จักกับบิตคอยน์เท่าใดนัก
ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2021 ของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลอเมริกัน ในเอลซัลวาดอร์ พบว่ามีประชาชนเพียง 4.8% จาก 1,281 คนที่เข้าใจอย่างแจ้มแจ้งว่าบิตคอยน์คืออะไร และมีมากถึง 68% ที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศให้บิตคอยน์สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปีเดียวกันนั้นเอง ยังมีคนจำนวนมากออกมาประท้วงบนท้องถนนในซานซัลวาดอร์ เมืองหลวงของเอลซัลวาดอร์ด้วย
นักวิจารณ์ก็ออกมาวิจารณ์อย่างหนาหู เนื่องจากไม่เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลจะช่วยคนจริง ๆ หนึ่งในนั้นคือ นีล วิลสัน (Neil Wilson) หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดจาก Markets.com ที่ออกมาบอกว่าคนที่จนที่สุดของประเทศน่าจะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากนโยบายนี้ และวิจารณ์ว่านโยบายนี้เป็นเพียง “การเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลเผด็จการ”
ปัญหากับ IMF
อุปสรรคสำคัญที่สุดของความฝันในสวรรค์บิตคอยน์คือปัญหากับ IMF ที่แม้ว่าจะไม่ได้คัดค้านในระยะเริ่มแรก แต่ผ่านมา 4 ปี ก็เกิดปัญหาเข้าจนได้
ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เอลซัลวาดอร์บรรลุข้อตกลงในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF มากกว่า 1,400 ล้านเหรียญ (ราว 47,053 ล้านบาท) จนเกิดเป็นข้อตกลงการอำนวยความสะดวกด้านเงินทุนระยะขยายที่กินเวลา 40 เดือน (EFF) ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 4 ปีกว่าการเจรจาจะสำเร็จ แต่มีข้อแม้คือเอลซัลวาดอร์ต้องยอมกลืนเลือดตัวเองด้วยการปรับปรุงนโยบายบิตคอยน์บางอย่างเพื่อที่จะรับเงินสนับสนุนในก้อนนี้
ยอมถอย
ส่วนหนึ่งของเงื่อนไขก็คือ รัฐบาลจะต้องยอมลดขนาดโครงการบิตคอยน์หลายโครงการ และจะต้องเลิกการบังคับให้ธุรกิจต่าง ๆ รับบิตคอยน์เป็นทางเลือกในการชำระเงิน จนเกิดเป็นกฎหมายบิตคอยน์ฉบับแก้ไข ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง เรียกได้ว่าเป็นความพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ได้เงินสนับสนุนก้อนนี้มา
กฎหมายฉบับแก้ไขนี้นอกจากจะยกเลิกการบังคับให้ผู้ประกอบการรับรองบิตคอยน์แล้ว รัฐบาลยังต้องยอมลดสถานะความเป็น ‘สกุลเงิน’ ของบิตคอยน์ และต่อมาไม่นานก็ยกเลิกการเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจะไม่สามารถนำมาชำระภาษีหรือหนี้ของรัฐบาลได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ ต้องบอกก่อนว่าพรรคแนวคิดใหม่ (Nuevas Idea) ของบูเกเลยังคงครองเสียงข้างมากในสภาอยู่เหมือนตอนปี 2021
ยังไปต่อ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลของบูเกเลดูเหมือนจะยังไม่ได้ยอมแพ้ง่ายขนาดนั้น เพราะหากย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม ปี 2024 เพียงวันเดียวหลังจากที่บรรลุข้อตกลง EFF รัฐบาลก็ซื้อ 11 บิตคอยน์ภายใน 1 วันเท่านั้น
ข้อมูลจาก BlockBeats ที่วิเคราะห์โดยใช้แพลตฟอร์ม Spot on Chain ชี้ว่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2024 เป็นต้นมา เอลซัลวาดอร์เพิ่มความเข้มข้นในการซื้อบิตคอยน์ โดยมีมูลค่าการซื้อตั้งแต่ 1 จนถึง 11 บิตคอยน์ หรือคิดเฉลี่ย 1.6 บิตคอยน์ต่อวัน
สเตซี เฮอร์เบิร์ต (Stacy Herbert) ผู้อำนวยการสำนักงานบิตคอยน์แห่งชาติของเอลซัลวาดอร์ ออกมาเผยว่ารัฐบาลอาจซื้อบิตคอยน์ในอัตราที่เร็วขึ้นอีก
คำพูดนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะในเดือนต่อมา ทางสำนักงานฯ ก็เข้าซื้อบิตคอยน์อีก 12 เหรียญ ในวันที่ 19 มกราคม และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็มีการซื้อ 11 บิตคอยน์ในวันเดียวกันอีกครั้ง โดยโฆษกของทางหน่วยให้สัมภาษณ์ตอนนั้นว่าจะยกระดับการเข้าซื้อบิตคอยน์ให้มากขึ้นอีกในปี 2025
โฆษกรายดังกล่าวระบุว่าเอลซัลวาดอร์ถือเป็น “กรณีตัวอย่างของยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ประสบความสำเร็จ” สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในนโยบายดังกล่าวที่มีอยู่อย่างไม่สะทกสะท้าน

ข้อมูลของทางรัฐบาลเองยังชี้ด้วยว่าบิตคอยน์ที่ซื้อรายวันสร้างกำไรอย่างมาก โดยถ้าดูจากกราฟด้านบนที่มาจากเว็บไซต์ Nayib Tracker ของรัฐบาลจะเห็นได้ว่ามูลค่าเฉลี่ยที่รัฐบาลซื้อกับมูลค่าปัจจุบันต่างกันอยู่มากกว่า 50%
ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ?
แม้รัฐบาลจะยังสู้เก็บบิตคอยน์ต่อ แต่ประชาชนก็ดูจะไม่ได้มีความเชื่อมั่นในบิตคอยน์มากขึ้นสักเท่าไหร่นัก ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยเซนทรัลอเมริกันในปี 2024 พบว่าชาวเอลซัลวาดอร์มากถึง 96% ไม่ได้ใช้บิตคอยน์ เรียกได้ว่าแทบไม่ต่างจากผลสำรวจในปี 2021 หรือจะว่าแย่ลงก็ว่าได้
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์ยังชี้ว่ารัฐบาลอาจไม่ได้กำไรจากการซื้อบิตคอยน์มากขนาดนั้น เพราะเงินที่รัฐบาลผลาญไปกับโครงการบิตคอยน์ไม่ได้มีเฉพาะเงินก้อนที่ใช้ซื้อบิตคอยน์เท่านั้น
ออสการ์ ปิคาร์โด (Oscar Picardo) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟรานซิสโก กาวิเดีย ในกรุงซานซัลวาดอร์ ออกมาเผยว่ารัฐบาลใช้งบมหาศาลไปกับการโปรโมตบิตคอยน์ งบพัฒนาแอปฯ Chivo Wallet งบติดตั้งเครื่องแลกเงินที่ส่วนใหญ่ก็ใช้งานไม่ได้ด้วย งบแจกบิตคอยน์ประชาชนเมื่อเริ่มโครงการ และงบจิปาถะอื่น ๆ อีก
นักเศรษฐศาสตร์ยังออกมาเสริมอีกว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลยังขาดความโปร่งใส ไม่มีองค์กรสาธารณะที่ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงสถานะของเงินสำรองของบูเกเลก็ไม่มีความชัดเจนด้วย
นี่ยังไม่รวม Chivo Wallet ที่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วรัฐบาลออกมาระบุว่ามีแผนจะยุติโครงการ หรืออย่างโครงการเมืองบิตคอยน์ซิตีสุดอลังการที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแม้แต่สิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ สนามบินแปซิฟิกที่บอกจะสร้างก็ยังไม่ได้เริ่มสร้างเลยด้วยซ้ำ

ความฝันบิตคอยน์อันยิ่งใหญ่ของเอลซัลวาดอร์ก็ดูจะลดรูปมาเหลือเพียงแค่การเก็บบิตคอยน์รายวันเท่านั้น ซึ่งก็ดูทำท่าจะยุติด้วย โดยตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา (ซื้อครั้งสุดท้ายวันที่ 17 กุมภาพันธ์) ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะหยุดการซื้อบิตคอยน์ชั่วคราว ไม่มีความเคลื่อนไหวจากเว็บไซต์ของรัฐบาล รวมถึงความเคลื่อนไหวของกระเป๋าเงินในช่องทางต่าง ๆ ด้วย
หรือนี่จะเป็นจุดจบของความฝันอันยิ่งใหญ่ของบูเกเลและเอลซัลวาดอร์ ?