วันศุกร์ 28 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับความหวาดวิตกกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากความวุ่นวายในการออกจากตึกสูงและพื้นที่อันตราย คือคำถามถึง SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่หากสามารถส่งเข้าสมาร์ตโฟนของทุกคนได้ทันเวลาจะสามารถช่วยลดผลกระทบได้อย่างมหาศาล
BT beartai เลยจะพามาทำความรู้จักกับระบบเตือนภัยฉุกเฉินหรือ EAS (Emergency Alert System) จาก 4 ประเทศทั่วโลกกันแบบคร่าว ๆ
WEA หรือ Wireless Emergency Alerts – สหรัฐอเมริกา
ระบบแจ้งเตือนภัยคุกคามต่อประชากรสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผ่านเครือข่ายมือถือส่งตรงไปยังผู้ใช้มือถือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มใช้ในปี 2012
WEA ยังแยกย่อยไปได้อีก อย่าง National Alert ข้อความเตือนที่ออกโดยประธานาธิบดีถึงภัยคุกคามระดับชาติ และ Amber Alert การแจ้งเตือนเด็กหาย และ Imminent Threat Alert ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหว พายุทอร์นาโด น้ำท่วม หรือเหตุร้ายอื่น ๆ
J-Alert – ญี่ปุ่น
J-Alert ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบเตือนภัยที่ดีที่สุดในโลก ที่สามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็ว และครอบคลุมหลายภาษา ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระบบ Cell Broadcast ที่แจ้งเตือนผ่านมือถือ แต่ยังแจ้งเตือนพร้อมกันผ่านวิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์รับสัญญาณอื่นที่สามารถรับแจ้งเตือนจาก J-Alert
การแจ้งเตือนครอบคลุมตั้งแต่การแจ้งเตือนสภาพอากาศที่รุนแรง ภัยพิบัติ พายุ ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิวเคลียร์ โดยญี่ปุ่นเริ่มใช้ J-Alert มาตั้งแต่ปี 2007
KPAS (Korean Public Alert Service) – เกาหลีใต้
KPAS เป็นระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่ภัยพิบัติ และเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายต่อประชาชนและทรัพย์สิน โดยเริ่มมีการใช้มาตั้งแต่ปี 2005
Emergency Cell Broadcast System (ECBS) – ฟิลิปปินส์
ดินแดนพันเกาะที่มีประชากรจำนวนมหาศาลอย่างฟิลิปปินส์ มีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ โดยนอกจากการแจ้งเตือนแล้ว ยังใช้ระบบนี้ในการแจ้งตำแหน่งศูนย์อพยพและข้อมูลจำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว เริ่มใช้ในปี 2017
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เรานำมาเล่าให้ฟัง ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อย ๆ แต่ประเทศเราก็เจอกับภัยพิบัติอื่นอยู่ทุกปี อย่างไฟป่า และน้ำท่วม การพัฒนาระบบแจ้งเตือนที่รวดเร็ว ทั่วถึง จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสียหาย และช่วยชีวิตของผู้คนได้