เมื่อพูดถึง ‘สตีฟ จอบส์’ นอกจาก iPhone และบริษัท Apple แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักนึกถึงชายผู้เป็นตำนานแห่งโลกไอทีคนนี้ คงหนีไม่พ้นภาพของเขาที่สวมเสื้อคอเต่าสีดำในทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนสื่อจนกลายเป็นภาพจำที่คนทั่วโลกไม่มีวันลืม

สตีฟ จอบส์ (1955-2011)

แม้ว่าการสวมใส่ชุดแบบเดิมซ้ำทุกวัน จะพบเห็นได้ทั่วไปในบรรดามหาเศรษฐีวงการเทค จากแนวคิดที่ว่าไม่ต้องคิดเรื่องการแต่งกายเพื่อใช้เวลาไปกับสิ่งที่จำเป็นมากกว่า และแนวคิดการสร้างคาแรกเตอร์และตัวตนในสายตาของผู้คน

ซึ่งสำหรับเสื้อคอเต่าสีดำของสตีฟ จอบส์ และการสร้างภาพจำผ่านเครื่องแต่งกายเดิมซ้ำ ๆ อาจเรียกได้ว่าเขาเป็น Trend Setter ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ราว 4 ทศวรรษก่อนก็ว่าได้ ตั้งแต่ที่เขาอยู่จนกระทั่งจากไป

แต่คำถาม คือ แนวคิดของการสวมเสื้อคอเต่าสีดำเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษของสตีฟ จอบส์ เริ่มต้นมาจากไหน ? BT beartai ขอพาไปสืบเสาะเรื่องนี้ผ่านเรื่องเล่าของ คุณปืน สธน ตันตราภรณ์ ที่ได้เล่าที่มาของเสื้อตัวนี้ ในรายการ People You May Know ในช่อง Farose Podcast ตอนอิซเซ มิยาเกะ

เมื่อพูดถึงชื่อ อิซเซ มิยาเกะ มาขนาดนี้ แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของเสื้อคอเต่าสีดำมาจากดีไซเนอร์ระดับโลกชาวอาทิตย์อุทัยคนนี้นี่แหละ

อิซเซ มิยาเกะ

อิซเซ มิยาเกะ (1938-2022) แฟชันดีไซเนอร์ระดับโลกชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Issey Miyake ที่นำเสนอเสื้อผ้าที่มีความแปลก แหวกแนว และสร้างสรรค์ที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งแฝงด้วยปรัชญาและแนวคิดแบบญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปในปี 1981 สตีฟ จอบส์ได้เดินทางมาดูงาน ณ ฐานการผลิตของบริษัท Sony ประเทศญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นนอกเหนือจากเรื่องราวของความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี คือ ยูนิฟอร์มที่ของพนักงานบริษัท Sony ทุกคนสวมใส่เหมือนกันหมด ด้วยเหตุผล 2 อย่างของ Sony ที่ได้อธิบายให้กับจอบส์ฟัง

1. เพื่อการสร้างความเท่าเทียมทางเครื่องแต่งกายของคนญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม และ 2. เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวองค์กร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สตีฟ จอบส์ประทับใจ พร้อมกับถามถึงที่มาของผู้ออกแบบยูนิฟอร์มนี้

ซึ่งคนที่ออกแบบ คือ อิซเซ มิยาเกะ ที่ได้ออกแบบยูนิฟอร์มแก่พนักงาน Sony ในวาระครบรอบ 35 ปีของบริษัท

สตีฟ จอบส์จึงขอเจอกับอิซเซ มิยาเกะ พร้อมกับให้เขาดีไซน์ยูนิฟอร์มสำหรับพนักงานบริษัท Apple ของเขา ซึ่งอิซเซ มิยาเกะได้ออกแบบจนเสร็จสิ้น พร้อมกับส่งไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพ สหรัฐอเมริกา

แน่นอนว่าการจะบังคับให้ผู้คนที่มีความเชื่อในสิทธิเสรีภาพ อย่างคนอเมริกันสวมใส่ยูนิฟอร์มด้วยเหตุผลที่ว่าการเป็นหนึ่งอันเดียวกับองค์กรอาจดูไม่สมเหตุสมผลเสียเท่าไหร่ พนักงานจึงไม่ให้ความร่วมมืออย่างที่จอบส์หวัง

ถึงแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือ แต่นั่นกลับจุดประกายให้สตีฟ จอบส์ตั้งคำถามว่าการสวมใส่เสื้อผ้าสามารถสร้าง Self Branding หรือการสร้างการรู้จักในตัวตนของเขาได้ไหม​ ?

จอบส์จึงเกิดไอเดียที่จะทดลองสร้างอัตลักษณ์ของเขาผ่านการสวมเสื้อผ้าแบบเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งไม่ใช่ยูนิฟอร์มที่เขาให้อิซเซ มิยาเกะออกแบบให้พนักงาน แต่เป็นเสื้อคอเต่าสีดำของแบรนด์ Issey Miyake ที่อิซเซ มิยาเกะสวมใส่เองอยู่บ่อย ๆ

โดยในครั้งแรก อิซเซ มิยาเกะส่งเสื้อคอเต่าสีดำไปให้สตีฟ จอบส์เป็นจำนวน 100 ตัว ! ด้วยกัน

นอกจากการสร้าง Self Branding แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จอบส์ได้จากเรื่องนี้ คือ เวลาที่มากขึ้นจากการที่ไม่ต้องเลือกเสื้อผ้าอีกต่อไป ซึ่งเป็นแนวคิดของมหาเศรษฐีวงการเทคในยุคปัจจุบันที่ได้พูดถึงไปในตอนต้น

แม้จะมีมากถึงร้อยตัว แต่การใส่เสื้อซ้ำกันทุกวันย่อมทำให้สีตกและซีดได้ สตีฟ จอบส์จึงติดต่ออิซเซ มิยาเกะไปอีกครั้ง

อิซเซ มิยาเกะได้ส่งเสื้อคอเต่าสีดำแบบเดิมให้สตีฟ จอบส์เป็นประจำทุกปีในจำนวน 24 ตัว ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2011 ที่สตีฟ จอบส์จากโลกนี้ไป และกลายเป็นตำนานแห่งโลกไอที

ในปีเดียวกันนั้นเอง อิซเซ มิยาเกะได้ประกาศหยุดผลิตเสื้อคอเต่าสีดำของ Issey Miyake เพื่ออุทิศให้เสื้อตัวนี้กกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตีฟ จอบส์ไปตลอดกาล

และนี่คือที่มาของเสื้อคอเต่าสีดำของสตีฟ จอบส์ จากคุณปืน สธน ตันตราภรณ์ ที่ทำให้เห็นการเชื่อมโยงของบุคคลระดับโลกจากสองวงการในช่วงเวลาเดียวกัน ได้เห็นการพัฒนาวิธีคิดที่สร้างแรงกระเพื่อมมายังยุคปัจจุบัน รวมถึงแง่มุมอื่นในของชีวิตของสตีฟ จอบส์ ใครเป็นชาวช่องก็สามารถไปชมเต็ม EP ไปที่ช่อง Farose Podcast ได้ หากสนใจไอทีก็มาที่ BT นี่แหละ