ใน iOS 10.3 ที่เพิ่งอัปเดทกันไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม มีความสามารถสำคัญอย่างหนึ่งที่เริ่มใช้ในรุ่นนี้ด้วยคือ Apple File System (APFS) ระบบไฟล์แบบใหม่ที่แอปเปิ้ลพัฒนาขึ้นมาใช้แทน HFS+ ที่ใช้กันมานานกว่า 20 ปีแล้ว
APFS นั้นพัฒนาขึ้นจากฐานของเทคโนโลยีปัจจุบันที่สื่อบันทึกข้อมูลเราเปลี่ยนจากฮาร์ดดิสก์จานหมุนเป็น SSD กันแล้ว ซึ่งพื้นฐานการทำงานของ 2 อุปกรณ์นี้ไม่เหมือนกัน คำสั่งระดับล่างที่ใช้ควบคุมดิสก์ก็ต่างกัน แล้วตอนนี้อุปกรณ์ทั้งหมดของแอปเปิ้ลก็ไม่มีอุปกรณ์ไหนใช้ฮาร์ดดิสก์อีกต่อไป การทิ้งเทคโนโลยีเดิม แล้วสร้างระบบไฟล์ใหม่จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม
จุดเด่นของ APFS
แน่นอนว่าสิ่งที่เราหวังจากอะไรใหม่ๆ คือมันต้องดีขึ้น เร็วขึ้น ใน APFS ก็เหมือนกันมีความสามารถใหม่หลายอย่างที่ทำให้ระบบทำงานกับดิสก์ได้เร็วขึ้นครับ
Clones
ถ้าเราสั่งก็อปไฟล์ลงไดร์ฟเดิม ข้อมูลจะไม่ถูกสำเนาขึ้น 2 ชุด แต่จะใช้ข้อมูลเดียวกันไปปรากฏ 2 จุดในไดร์ฟ ทำให้ประหยัดพื้นที่ และทำงานเร็วขึ้น แล้วถ้าข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเขียนเพิ่มแค่จุดที่เปลี่ยนแปลง ชุดที่เหมือนเดิมก็ยังอิงของเดิม
Snapshot
สามารถบันทึกจุดที่ต้องการสำรองข้อมูลได้ ทำให้การแบ็กอัปทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Space Sharing
ความสามารถแชร์พื้นที่ว่างในไดรฟ์ร่วมกัน เช่นเรามีดิสก์ 100 GB แล้วแบ่งเป็นไดรฟ์ A กับ B ไดรฟ์แรกใช้พื้นที่ไป 20 GB ส่วนไดรฟ์ B ใช้พื้นที่ไป 10 GB ระบบจะรายงานพื้นที่เหลือของทั้ง 2 ไดรฟ์คือ 70 GB เพราะเราไม่ต้องกั้นขอบเขตข้อมูลแบบพาร์ติชั่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว
การเข้ารหัส
เรื่องสำคัญในยุคนี้คือความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่ง APFS ออกแบบโดยคิดถึงความปลอดภัยตั้งแต่แรก ทำให้การเข้ารหัสข้อมูลในไดรฟ์ทำได้แข็งแรง และทำงานได้รวดเร็ว
ระบบป้องกันข้อมูลเสียหาย
APFS ใช้ระบบการเขียนข้อมูลที่เรียกว่า copy-on-write ทำให้เมื่อเครื่องเกิดปัญหา หรือไฟดับ ข้อมูลจะมีโอกาสเสียหายน้อยลงกว่าระบบไฟล์แบบเดิม
รองรับคำสั่ง TRIM ตั้งแต่ต้น
เพื่อสั่งดิสก์ว่าข้อมูลตรงไหนที่ไม่ใช้แล้ว ทำให้ลบข้อมูลได้เร็วขึ้นบน SSD
ขีดจำกัดของ APFS
APFS ขยับไปใช้การอ้างอิงข้อมูลแบบ 64 bit เต็มที่ครับ ขีดจำกัดของ APFS จึงอยู่ที่ข้อมูล 64 bit หรือ 2 ยกกำลัง 63 คือ
- เก็บไฟล์ใหญ่สุดได้ 9,223,372,036,854,775,807 Byte (9 ล้านล้านล้านไบต์, 9 ล้านเทระไบต์, 9 เพตะไบต์
- เก็บได้ 9 ล้านล้านล้านไฟล์ในไดรฟ์เดียว
- ลงบันทึกเวลาของไฟล์ได้ละเอียดระดับ Nanosecond หรือ 1 ในพันล้านวินาที
เป้าหมายของแอปเปิ้ลคือใช้ APFS กับทุกอุปกรณ์
แอปเปิ้ลตั้งเป้าว่าจะใช้ APFS กับทุกอุปกรณ์ของบริษัทครับ ทั้ง macOS, iOS, tvOS, watchOS โดยเมื่อเปิดตัวครั้งแรกในงาน WWDC 2016 ระบบไฟล์แบบใหม่นี้ก็เริ่มทดสอบใน macOS Sierra 10.12 และคาดว่าจะเริ่มใช้จริงสำหรับผู้ใช้ทั่วไปใน macOS 10.13 รุ่นต่อไปครับ
ส่วน iOS ก็เริ่มใช้ใน iOS 10.3 เรียบร้อย ก็ถือว่าแอปเปิ้ลเปิดให้อุปกรณ์พกพาเป็นล้านๆ ตัวเริ่มใช้ Apple File System เป็นครั้งแรก
อ้างอิง: Apple File System Guide