การเติบโตของ Huawei ถือว่าน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ภาพลักษณ์ของหัวเว่ยก็ยังเป็นสมาร์ทโฟนจีน ที่ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสนใจมากไปกว่าแบรนด์จีนอื่นๆ แต่ตอนนี้หัวเว่ยกลับเติบโตจนก้าวมาอยู่แถวหน้า ที่ทั้งวงการต้องหยุดมองเมื่อหัวเว่ยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้วหัวเว่ยก้าวมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร เรามาวิเคราะห์กันครับ
ยุทธศาสตร์ร่วมมือกับแบรนด์ที่เชี่ยวชาญระดับโลก
ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากอย่างหนึ่งของ Huawei คือการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับแบรนด์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพราะแม้หัวเว่ยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมาร์ทโฟน ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายอยู่แล้ว แต่การสร้างอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคก็ต้องการความรู้ และความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคด้วย
การร่วมมือที่เป็นก้าวกระโดดของหัวเว่ยเลยคือการร่วมงานกับ Leica แบรนด์กล้องระดับตำนานของเยอรมันเพื่อสร้าง Huawei P9 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ไลก้าร่วมออกแบบทั้งในส่วนของเลนส์และซอฟต์แวร์กล้องภายใน จนสร้างกระแสสมาร์ทโฟนที่ถ่ายรูปง่ายและสวยไปทั่วอินเทอร์เน็ต ความสำเร็จของ P9 นั้นสร้างผลดีไปในหลายมิติ ทั้งเสริมภาพลักษณ์ของหัวเว่ยว่าสามารถสร้างสมาร์ทโฟนที่ดีในราคาไม่แพง ผู้ใช้หลายคนที่อยู่นอกวงการถ่ายรูปก็ได้รู้จักมนต์ขลังของแบรนด์ Leica เสริมภาพความเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ของไลก้าให้สื่อสารกับผู้ใช้กลุ่มใหม่ได้
ซึ่งจากความสำเร็จของ P9 หัวเว่ยกับไลก้าจึงร่วมกันตั้งศูนย์วิจัย The Max Berek Innovation ที่เยอรมนีขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการถ่ายภาพสำหรับสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ ร่วมถึงการพัฒนาเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง virtual reality และ augmented reality ด้วย
นอกจาก Leica แล้ว Huawei ยังร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลกอีกหลายแบรนด์ ทั้ง Harman / Kardon เพื่อพัฒนาระบบเสียง, Pantone เพื่อเลือกสีสันที่แปลกตาสำหรับสมาร์ทโฟน, porsche design เพื่อร่วมออกแบบสมาร์ทโฟนเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม
ยุทธศาสตร์ co-brand กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทำให้หัวเว่ยก้าวกระโดดทั้งในเรื่องความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์และการรับรู้ของลูกค้าในที่สุด ชื่อของหัวเว่ยจึงติดอันดับแบรนด์ทรงอิทธิพลของสถาบันระดับโลกหลายแห่ง เช่นในปี 2016 หัวเว่ยอยู่อันดับ 72 ใน 100 Best Global Brands ซึ่งจัดโดย Interbrand และอยุ่อันดับที่ 50 ใน BrandZ Top 100 Most Valuable Global Brands ด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ใส่ใจในการออกแบบ
จุดอ่อนของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อคือการออกแบบตัวเครื่อง ที่ไม่มีดีไซน์น่าจดจำ หรือลอกดีไซน์จากผู้ผลิตรายใหญ่ๆ มา แต่สมาร์ทโฟนของ Huawei นั้นใส่ใจในการออกแบบ โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมี่ยมในซีรี่ส์ P และ Mate ที่ดีไซน์สะดุดตาตั้งแต่แรก
ความสำเร็จของงานดีไซน์ตัวเครื่องของ Huawei นั้นผสมผสานกันระหว่างรูปลักษณ์ที่ดูดี พื้นผิวพิเศษ มีสีสันแปลกตา กับการผลิตที่ใส่ใจในรายละเอียด เมื่อจับถือเครื่องจึงรู้สึกว่าหนักแน่น ไม่ก็อบแก๊บ ขอบมุมเครื่องต่างๆ ถูกเจียเก็บให้จับถือได้สบาย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความทนทานให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ทั้งการทดสอบการตกกระแทก การบิดตัว ความทนทานต่อแสงแดด ความทนทานต่ออุณหภูมิ ความทนทานต่อการสึกหรอ ความทนทานละอองน้ำเค็ม และอื่นๆ อีกมากมาย
ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยจึงเหมือนรวมงานออกแบบระดับอินเตอร์ที่ดูแพง ผสมกับลูกเล่นแพรวพราวที่ผู้ใช้จะได้จากผลิตภัณฑ์แบรนด์จีน ซึ่งไม่มีแบรนด์ไหนที่รวม 2 จุดเด่นนี้เข้ากันได้
จริงจังเรื่องการค้นคว้าวิจัย
การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีได้ ก็ต้องมีการลงทุนวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่ง Huawei ใช้งบกว่า 10% ของยอดขายเพื่อวิจัยเทคโนโลยีและงานดีไซน์ใหม่ๆ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมานี้ลงทุนด้าน R&D ไปมากกว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีศูนย์วิจัยตั้งอยู่ทั่วโลก 15 ศูนย์ โดยอิงตามความโดดเด่นของเมืองต่างๆ เช่นศูนย์วิจัยส่วนติดต่อกับผู้ใช้อยู่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ศูนย์วิจัยกล้องอยู่ที่เยอรมัน และศูนย์ดีไซน์ก็อยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศส
ซึ่งเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตาตอนนี้คือเรื่องของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่หัวเว่ยเองก็แย้มว่ากำลังพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้ของตัวเองอยู่ เพื่อตอบรับอนาคตของโลกที่คอมพิวเตอร์จะเข้ามาช่วยเหลือชีวิตประจำวันของมนุษย์ให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
มีเทคโนโลยีหน่วยประมวลผลของตัวเอง
Huawei นั้นเป็นเจ้าของบริษัทผลิตและออกแบบชิปประมวลผลที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง HiSilicon ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากทั้งชิปสำหรับระบบกล้องวงจรปิด ชิปประมวลผลสำหรับสมาร์ททีวี ชิปสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่ทำงานร่วมกับ AI และชิปดาวเด่นเลยก็คือตระกูล Kirin สำหรับสมาร์ทโฟน
การที่หัวเว่ยสามารถออกแบบชิปประมวลขึ้นใช้เอง ทำให้หัวเว่ยสามารถออกแบบการทำงานของชิปให้สอดคล้องกับซอฟต์แวร์ภายในเครื่อง และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ยังทำให้สร้างสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูง ในราคาที่ไม่แพงได้อีกด้วย
ประสิทธิภาพของชิป Kirin ตัวล่าสุดในปัจจุบันคือ Kirin 960 นั้นถูกทดสอบผ่านสมาร์ทโฟนในตระกูล Huawei P10 หรือ Huawei Mate 9 ที่ให้ประสิทธิภาพแถวหน้าของมือถือในยุคปัจจุบัน ซึ่งชิป Kirin ตัวต่อไปที่กำลังจะออกในช่วงปลายปีนี้ ก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และรองรับการทำงานร่วมกับ AI มากขึ้นด้วย
Huawei แบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับ 3 ของโลก
จากการลงทุนพัฒนาในเรื่องต่างๆ จนเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ ปัจจุบัน Huawei เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของโลก จากการสำรวจของ IDC
หัวเว่ยในระดับโลกมียอดขายรวมมากกว่า 73 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 20.6% ส่วนรายได้โตขึ้น 36.2% ส่วนในไทย ขายเครื่องได้มากกว่า 8 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คว้าส่วนแบ่งการตลาด 10.7% ในเดือนพฤษภาคม 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ได้ส่วนแบ่ง 1.2% ซึ่งเมื่อดูตัวเลขแล้วจะเห็นว่าประเทศไทยมีการเติบโตมากกว่าภาพรวมของหัวเว่ยในระดับโลกอีก
ที่ผ่านมาแม้ Huawei จะเจออุปสรรคบ้าง แต่ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและดีไซน์ ที่เป็นแก่นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้หัวเว่ยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองตลาดได้เรื่อยๆ ซึ่งในครึ่งหลังของปี 2017 นี้ก็น่าติดตามว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยจะออกมาสะเทือนตลาดได้ขนาดไหน