ถ้ายกคำว่า Deep Tech ขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนก็จะทำหน้าสงสัย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นคำที่เราคุ้นหูกันดีในตอนนี้อย่าง AI VR Blockchain ก็จะทำให้เราเริ่มเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น สาเหตุที่เราเริ่มคุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าในต่างประเทศมีความตื่นตัวและให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว บางเรื่องพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดให้ใช้งานกันได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนบ้านเราเรื่องนี้ยังดูเป็นหน้าที่ของนักวิจัย ผู้สวมชุดขาวอยู่แต่ในห้องทดลอง ทำให้หลายคนคิดไปว่างานวิจัยเรื่องพวกนี้ทำแล้วไม่มีการนำเอามาต่อยอดทำธุรกิจ นักวิจัยทำแล้วก็แล้วกันไป
Deep Tech คือความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก ที่ยากจะลอกเลียนแบบได้
จริงอยู่ที่ Deep Tech เป็นเรื่องของความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับสูง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะหากทำแล้วจะพบว่ามีคู่แข่งน้อยทำให้โอกาสทางธุรกิจก็มีมากขึ้นตามไปด้วย น่าเสียดายที่บ้านเราขาดความเข้าใจในเรื่องนี้หลายด้าน หรือที่เรียกว่าอีโคซิสเต็มของ Deep Tech ในบ้านเรายังไม่ถูกเติมเต็มนั่นเอง
ย้อนดูความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกจากเทคโนโลยี
หากเราย้อนดูการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลกจากอุตสาหกรรมระบบไอน้ำมาถึงปัจจุบัน ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงถึงสองร้อยปี ทำให้มนุษย์มีเวลาในการปรับตัว แต่การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ Deep Tech รอบนี้ จะไม่ได้ใช้เวลานานแบบข้ามศตวรรษอย่างที่เป็นมา!!!
ศตวรรษที่ 18 จุดเริ่มต้นยุคเครื่องจักร
ช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 เปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบพึ่งพาแรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก ไปเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาเครื่องจักรเป็นหลัก การผลิตชิ้นส่วนเครื่องกลสามารถสับเปลี่ยนกันได้ ทำให้การผลิตสินค้ามีความละเอียดแม่นยำสูงและสามารถผลิตซ้ำได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าจากการผลิตแบบนี้ลดลงไปอย่างมหาศาล
ศตวรรษที่ 19 พลังงานไอน้ำเปลี่ยนโลก
สองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 19 มีการกำเนิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้กำลังการผลิตขยายตัวอย่างมาก เกิดผลกระทบอย่างมโหฬารต่อสังคม มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่านวัตกรรม หรือ Innovation ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทางเทคโนโลยี
โทมัส ฮิวส์ ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า “เป็นการนำเอาวิธีการใหม่ มาปฏิบัติหลังจากที่ได้ผ่านการทดลองและได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับแล้ว และมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา” และคำว่านวัตกรรมยังถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 20 ในปัจจุบัน
ศตวรรษที่ 20 ยุคคอมพิวเตอร์นำไปสู่ Deep Tech
Deep Tech เกิดขึ้นเป็นระลอกแรกในช่วงระยะเวลานี้ จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่สั่งสม จนเริ่มเกิดจักรกลช่วยคำนวณหรือคอมพิวเตอร์
ความหมายของ DEEP TECH แตกต่างกับคำว่านวัตกรรม เรียงลำดับคำจำกัดความของ DEEP TECH ได้ดังนี้
- DEEP TECH เป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นใหม่จากนวัตกรรม
- นวัตกรรมที่ถูกนำมาพัฒนานั้นต้องเป็นนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์
- กระบวนการคิดค้นต้องผ่านการวิจัยและทดลองอย่างต่อเนื่อง
- เทคโนโลยีที่ได้ต้องมีความล้ำหน้า ทันสมัย ยากต่อการลอกเลียนแบบ แก้ปัญหาที่เทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถแก้ได้
แล้วอะไรบ้างที่จะถูกจัดเข้าไปเป็น Deep Tech ได้ ???
รายชื่อเทคโนโลยีที่ผ่านหูผ่านตาอย่างมากในช่วงนี้ เช่น AI, Blockchain, VR & AR, Clean Energy, Space Tech หรือ Quantum Computing มาดูเหตุผลที่รายชื่อเหล่านี้สมควรที่จะจัดอยู่ใน Deep Tech
Artificial Intelligence (AI)
ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น วิเคราะห์และโต้ตอบกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ราวกับมีสติปัญญาเป็นของตนเอง ภาพจากหนังไซไฟโลกอนาคตหลายเรื่อง เสมือนคำทำนายล่วงหน้าที่เราจะได้ทันเห็นของจริงกันในศตวรรษนี้
Blockchain
การเก็บข้อมูลของระบบแบบไร้ศูนย์กลาง ถูกนำมาใช้ในธุรกิจการเงินการธนาคาร ตัวอย่างที่ทำให้โลกได้รู้จักกับ Blockchain คือสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ตั้งแต่ Bitcoin, Ethereum, ADA, OmiseGo และอีกหลายพันสกุลเงินดิจิทัลที่แห่กันออกมาทำ ICO (Initial Coin Offering) โดยใช้เทคโนโลยีนี้ พัฒนาไปสู่การทำ Smart Contract ให้การทำสัญญาอยู่ในระบบ เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นข้อมูลตรงกัน ปฏิบัติงานตามที่ระบุในสัญญาได้ และมีหลายคนที่เสนอว่าในอนาคต Blockchain จะเป็นระบบที่เหมาะสมสำหรับระบบจัดการเลือกตั้งของทุกประเทศในโลก เพราะการไร้ศูนย์กลาง การเห็นข้อมูลร่วมกัน จะทำให้เกิดความโปร่งใสและไม่สามารถทุจริตได้
VR & AR
การจำลองโลกจริงลงในโลกดิจิทัล ทำให้เกิดเป็นโลกเสมือนจริงที่กำลังนิยมไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในทางการศึกษา VR ได้ทำให้ผู้สอนตื่นเต้นกับเนื้อหา และสนใจที่จะนำไปใช้ในการสอน และแน่นอนว่าผลที่ตามมาคือความสนใจของผู้เรียน ที่จะได้รับประสบการณ์ทางการเรียนรู้มากกว่าในตำราแบบเดิม ๆ หากจะอ่านให้เห็นภาพ แนะนำให้ดูซีรี่ส์สำหรับอนาคตเรื่อง Altered Carbon จะได้เห็นงานโฆษณาในรูปแบบ VR มากมาย การดูสื่อโฆษณาผ่านทางคอนแทคเลนส์แทนการใช้แว่น VR ทำให้สื่อมีความน่าสนใจ ซีรี่ส์เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงการส่งผ่าน Content อย่างน่าสนใจเมื่ออยู่ในเทคโนโลยี VR ฝั่ง AR Augmented Reality เป็นส่วนต่อขยายระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ภายนอกให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อทำงานร่วมกัน
Clean Energy
เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดประสิทธิภาพสูง เป็นที่ถูกพูดถึงและรับรู้ได้มากขึ้น เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จากผู้นำอย่าง Tesla ซึ่งอีลอน มัสก์ ได้ทวิตหลังจากผลสำเร็จของ Tesla ว่า “ผมสัญญาว่าพวกเราจะทำรถกระบะ (EV) ออกมาหลังจากที่เปิดตัว Model Y ผมมีดีไซน์หลักๆ โครงสร้าง และองค์ประกอบทางวิศวกรรมอยู่ในหัวผมนานเกือบ 5 ปีแล้ว ผมจะถวายชีวิตเพื่อสร้างมัน” หรืออย่าง Honda Clarity รถระบบพลังงานไฮโดรเจน ที่มีระยะทางการขับเคลื่อนกว่า 480 กิโลเมตร ต่อการเติมไฮเดรเจน 3-5 นาที และ Nissan Leaf รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่ใช้จุดขาย Zero Emission รถไร้มลพิษ
Space Tech
คำนี้ไม่ได้มีความหมายแค่ จรวด ดาวเทียม ยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นประจักษ์แก่สายตาชาวโลกไปแล้ว คือการปล่อยจรวด Space X ที่บรรทุกดาวเทียม 10 ดวงขึ้นไปในวงโคจรระดับต่ำ เป็นจรวดรีไซเคิล คือปล่อยออกไปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นการพาดหัวข่าวที่ทำให้โลกรู้ว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องของ NASA เจ้าเดียวอีกต่อไป
Quantum Computing
แนวคิดการประมวลผลรูปแบบใหม่ที่นำคุณสมบัติพิเศษเหนือสามัญสำนึกของอะตอมมาใช้ เช่น อะตอมทำได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือสามารถสื่อสารกับอะตอมอีกตัวที่อยู่ไกลออกไปได้ ทำให้พัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เร็วกว่าปัจจุบันเป็นพันล้านเท่าได้ แต่เทคโนโลยีนี้ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ต้องแก้ไขข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นตอนนี้ เครื่อง Quantum Computing ต้นแบบต้องทำงานที่อุณหภูมิ 0 องศาสัมบูรณ์ (-273.15 องศาเซลเซียส) ทำให้เครื่องยังมีขนาดใหญ่ และยังมีเรื่องการของควบคุมอะตอมให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่สำเร็จ
เมื่อรู้จัก Deep Tech กันแล้ว คำถามคือ Deep Tech ไทย ทำอย่างไรให้ถึงฝัน
ต้นกำเนิดของ Deep Tech ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการศึกษาที่ทำงานวิจัยออกมา แต่ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่า ทำงานวิจัยออกมาแต่ไม่มีที่ไป เหมือนทำงานวิจัยมาเก็บบนหิ้ง ซึ่งเมื่องานวิจัยไทยใช้หวังผลในเชิงธุรกิจไม่ได้ จึงมีปัญหาต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ
การแก้ไขปัญหาภาคการศึกษา
ทางแก้ไขเรื่องนี้ฟังแล้วง่ายมากคือสถาบันการศึกษาต้องก้าวให้ทันโลก ต้องเร็วพอที่จะรับความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ววิจัยเสริมขึ้นไปจากความรู้นั้น แต่แน่นอนการปฏิบัติจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อจำกัดหลายด้าน อย่างการบริหารงาน หรือการจัดการบุคคลที่ทำให้กระบวนการนั้นเชื่องช้าลงไป แต่เราเชื่อว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่การร่วมมือกับภาคธุรกิจ ให้องค์กรภายนอกเข้ามาช่วยนำทางว่าตลาดกำลังต้องการอะไร เพื่อค้นหาองค์ความรู้ที่ตรงกับสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งเมื่อมีทิศทางที่แน่นอนแล้ว จะทำให้งานวิจัยที่ปกติเป็นแค่ทฤษฎีเก็บอยู่บนหิ้ง กลายเป็นงานปฏิบัติที่ใช้งานได้จริง สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้
แต่ปัญหาด้านการศึกษาอีกอย่างหนึ่งที่จุกอกจนทำให้ Deep Tech ไทยไม่ไปถึงฝั่งฝันสักที คือปัญหาขาดแคลนแรงงานในสาขาที่จำเป็น โดยเฉพาะแรงงานที่เชี่ยวชาญวิชาในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ที่เป็นรากฐานสำคัญของ Deep Tech ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ต้องการการบ่มเพาะมากเป็นพิเศษ
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ คือเราสามารถเรียนจบอะไรก็ได้เพื่อไปเป็นพ่อค้า ขอแค่มีทักษะพูดได้ คิดเลขไม่ผิด จะเรียนวิศวกรรม วิทยาศาสตร์แล้วจบไปขายของก็ทำได้ แต่เราไม่สามารถสร้างนักวิจัย นักพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงได้จากการเรียนทั่วไป มีน้อยคนมากๆ ที่จบอะไรก็ได้แต่สามารถพัฒนา Deep Tech ขึ้นมาได้ เช่น ตอนนี้ในแต่ละปีเราจะมีเด็กจบใหม่จากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จำนวนมากแต่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนโปรแกรมเมอร์เก่งๆ อยู่ดี เด็กหลายคนเรียนจบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาโดยที่ยังโค้ดโปรแกรมไม่ได้ หรือโค้ดได้แต่ขาดทักษะในการพัฒนาตัวเอง ในที่สุดความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมของตัวเองก็เก่าลงอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถทำงานในตลาดได้
ภาครัฐต้องกำหนดทิศทางให้ชัด
ซึ่งตรงนี้เป็นงานใหญ่ของภาครัฐในการกำหนดนโยบาย ที่ต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ปูความรู้แต่เด็ก ปรับปัจจัยพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประถม มัธยม ให้มีความเข้มข้นและนำไปใช้ต่อยอดได้จริงเมื่อก้าวเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย
งานต่อมาของภาครัฐคือให้การสนับสนุนงานค้นคว้าวิจัย งานทดลองในระดับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง เพื่อสร้างนักพัฒนาอนาคต อย่างการปรับปรุงข้อกฎหมายและให้ความคุ้มครองด้านสิทธิบัตร ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี มีการตรวจสอบที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้สร้าง Deep Tech ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
และต้องผลักดันหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านนวัตกรรม (ที่จัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนมาก) ให้เห็นความสำคัญของ Deep Tech มากขึ้น สร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยง นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เหมาะสม เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่นักพัฒนาและลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการสร้างความต้องการสินค้าเทคโนโลยี เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการจูงใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ในระดับ Deep Tech มีแผนและนโยบายที่ชัดเจนในทางมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ เผยแพร่ให้ประชาชนและเยาวชนรับรู้ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญ
การร่วมมือการระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทางออกของการพัฒนา Deep Tech
สำหรับหน่วยงานภาคเอกชน ต้องมีการส่งต่อเทคโนโลยีจากภาคธุรกิจ เข้าสู่สถาบันการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักพัฒนารุ่นใหม่ ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับให้ความรู้ในเชิงธุรกิจสู่นักพัฒนา เพื่อร่วมกันพัฒนา
อย่างการร่วมมือกันพัฒนาของ Pixar, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, แซนตาบาร์บารา (UCSB) และ Disney Research หน่วยงานวิจัยพัฒนาของดิสนี่ย์ (ที่เครื่องเล่นใน Disneyland มันว้าวมากๆ ก็เพราะงานวิจัยจาก Disney Research นี่แหละ) นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเร่งการสร้างภาพ 3 มิติ แทนที่จะใช้วิธีสร้างภาพหรือเรนเดอร์แบบเดิมที่ต้องประมวลผลวัตถุ และแสงเงาตกกระทบอย่างละเอียดซึ่งต้องใช้พลังในการประมวลผลสูง ทำให้เสียเวลาเรนเดอร์นาน มาใช้การประมวลผลแสงแบบคร่าวๆ ที่ให้ผลลัพธ์ภาพมีสัญญาณรบกวนหรือ Noise เยอะ แล้วใช้ AI ที่ฝึกฝนมาเพื่องานนี้ลบ Noise ออกจากภาพวิดีโอ ก็ทำให้ได้วิดีโอที่มีคุณภาพพอๆ กัน แต่ใช้เวลาประมวลผลเร็วกว่าเดิม ช่วยทุ่นแรงในการทำงานไปเยอะ
ส่วนในเมืองไทยก็มีการสนับสนุนการพัฒนาและวิจัย Deep Tech ที่น่าสนใจคือโครงการ U.REKA ที่ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับไมโครซอฟท์ The Knowledge Exchange (KX) และมหาวิทยาลัยชั้นนำ 7 แห่งของไทยได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ
โดยโครงการ U.REKA มุ่งเน้นให้กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจเทคโนโลยีชั้นสูง รวมกลุ่มกันเป็น Startup นำเสนอไอเดียจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรม ที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งในระยะแรกมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมการค้าปลีก การท่องเที่ยว การเดินทาง และ บริการทางการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ และนำออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนได้ที่ u-reka.co
โครงการ U.REKA จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ภาคการศึกษาและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ Deep Tech ให้ได้มีโอกาสปรากฏตัวได้มากขึ้นในไทย ก็หวังว่าภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงต่อเนื่องจากเอกชน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการแข่งขันกับนานาประเทศต่อไป
จากปัจจัยสำคัญทุกด้านที่กล่าวมา
จะทำให้ Deep Tech เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน Key Success ก็คือการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งหากเกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงแล้ว เชื่อว่า Deep Tech ไทยไปได้ถึงฝันอย่างแน่นอน