เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาทีมงานเว็บแบไต๋ได้มีโอกาสร่วมทริปเจาะลึกเทคโนโลยีใน Sony Xperia XZ2 (อ่านรีวิว Sony Xperia XZ2 ได้ที่นี่) สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดของโซนี่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีล้ำยุคที่ใส่ในมือถือตัวนี้ อย่างการถ่ายวิดีโอแบบ HDR ในตัว หรือระบบ Dynamic Vibration System ที่สั่นตามเสียง และขาดไม่ได้กับการถามคำถามคาใจผู้ใช้ Sony Xperia ตรงถึงวิศวกรผู้สร้างและผู้บริหารแผนกมือถือครับ
เจาะลึกประเด็นกันในสำนักงานใหญ่ Sony ในกรุงโตเกียว
ทริปเจาะลึกเทคโนโลยีภายใน Sony Xperia XZ2 นี้เราใช้เวลาเรียนรู้เรื่องเด่นๆ ของ XZ2 อยู่ 2 วัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในสำนักงานใหญ่ของ Sony ที่กรุงโตเกียวครับ
เริ่มต้นจากคุณ Hideyuki Furumi ผู้บริหารฝ่าย Global Sales & Marketing ของ Sony Mobile Communication ขึ้นมาเปิดเวทีทักทาย และเล่าความพิเศษของ Sony ที่พัฒนานวัตกรรมหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นบนโลก อย่าง Sony Walkman ในปี 1979 ก็เป็นเครื่องเล่นเพลงขนาดเล็กรุ่นแรกของโลก หรือ Sony PlayStation ในปี 1994 ที่โซนี่เป็นผู้เปิดวงการเกมในยุคใหม่ เน้นภาพสมจริง เหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น
ซึ่ง Sony Xperia XZ2 ก็เป็นการนำสุดยอดเทคโนโลยีของ Sony เองอย่างการประมวลผลภาพจาก Sony Alpha, เสียงระดับ Hi-Res จาก Sony Walkman และจอ HDR จาก Sony Bravia มาอยู่ในตัวเดียว ด้วยแนว 1-Sony ครับ
ถ้านับประวัติการทำงานของคุณ Furumi ต้องบอกว่าอยู่กับโซนี่มายาวนานหลายสิบปี ไล่ตำแหน่งกันยาวเหยียด ช่วงต้นยุค 90s เคยเป็นผู้บริหารของ Sony Thai ด้วย จึงไม่แปลกใจที่แกสามารถพูดภาษาไทยได้มากพอที่จะทักทายเราเป็นภาษาไทย
หลังจากนั้นคุณ Kaz Tajima – Senior Vice President Head of Product Planing ของโซนี่ก็ขึ้นอธิบายความหมายของคำว่า Xperia ว่ามาจาก
คำว่า Experience + IA (คำลงท้ายชื่อสถานที่เช่น Asia, Eurasia) = Xperia
Xperia จึงหมายความกลายๆ กว่าดินแดนแห่งประสบการณ์ใหม่ๆ นั้นเอง โดยจากอดีตมาถึงปัจจุบันเราแบ่ง Xperia ออกเป็น 3 ยุคแล้วคือ
- ยุคแรก ยุคเริ่มต้น เริ่มต้นใช้ OS แบบเปิด สมัยเครื่องโค้งอย่าง Xperia Arc ราวปี 2011
- ยุคที่ 2 ยุคเอาเทคโนโลยีชั้นนำของโซนี่มาใส่ เริ่มต้นที่ Xperia Z ในปี 2013 ไล่ต่อเนื่องมาถึงยุคของ Xperia Z5
- ยุคที่ 3 ยุคการสื่อสารใหม่อย่าง IoT วางให้สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เริ่มต้นที่ Xperia X ในปี 2016 จนถึงปัจจุบัน
ถามสัพเพเหระกับคุณ Hideyuki Furumi
ทำไม Sony Xperia ถึงผลิตในไทย?
ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโซนี่มานาน บุคลากรในไทยของโซนี่นั้นมีคุณสมบัติพร้อมที่จะรองรับเป้าหมาย ปรัชญาในการผลิต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ก่อตัวมานานแล้ว จึงพร้อมที่จะผลิตในไทย
โซนี่ให้ความสำคัญกับลูกค้า Xperia ในต่างประเทศอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้เรามองตลาดญี่ปุ่นอย่างเดียวไม่ได้ เราพยายามทำ High-spec smartphone แน่นอนว่าต้องออกแบบให้รองรับความต้องการในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์ เช่นภาพที่มีคุณภาพสูง เสียงที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้งานง่าย โดยมีการทำวิจัยโดยมีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ นำข้อมูลจากการสำรวจตลาดเพื่อปรับปรุง
ในขณะที่คู่แข่งแข่งกันเรื่องกล้อง เรื่องจอ โซนี่เลือกที่จะตามคู่แข่ง หรือพัฒนาตามทางของตัวเอง?
สมาร์ทโฟนในตลาดโลกจะมีเทรนด์ของมัน สิ่งที่โซนี่ตามคือเทรนด์ ให้ไม่หลุดเทรนด์ แต่ก็ไม่ตามทั้งหมด ต้องสร้างความแตกต่าง สร้างจุดแข็งที่แตกต่างจากเทคโนโลยีเฉพาะของเทคโนโลยี เช่นระบบสั่นที่ใส่ใน XZ2 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องสร้างความสมดุลย์ ไม่ไปทางคนอื่น และไม่ไปในทางของตัวเองมากเกินไป
เรามองว่าแบรนด์ Sony มีภาพลักษณ์เป็นอย่างไรในต่างประเทศ?
เราไม่ได้มองเหมือนสมาร์ทโฟนเจ้าอื่นที่พิจารณาจากสเปกเป็นหลัก เพราะผู้ใช้ส่วนหนึ่งของเราเลือกเพราะว่าเป็นแบรนด์โซนี่ ซึ่งความคาดหวังของโซนี่จะเน้นลูกค้าที่มีพฤติกรรม active ในการใช้ เช่นใช้เพื่อเล่นเกม เพื่อกิจกรรม มากกว่าที่จะเน้นว่าเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่เหมือนแบรนด์อื่นๆ
หน้าที่ของเราตอนนี้ก็คือเพิ่มลูกค้าในไทยให้ได้มากขึ้นกว่าแฟนประจำของโซนี่เป็นหลัก สิ่งที่เขาจะต้องทำคือทำสมาร์ทโฟนของโซนี่ให้มีเสน่ห์มากกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่กำลังทำคือร่วมมือกับส่วนอื่นๆ ของโซนี่ อย่างด้านเกมมากขึ้น
คาดหวังกับ 4K HDR แค่ไหน?
HDR จะเป็นเทคโนโลยีแกนหลักตัวหนึ่งของโซนี่เลย ซึ่งมาจากเทคโนโลยีของทีวี ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นจะเด่นของโซนี่เลยที่ให้ภาพคมชัด สีสันตรงตามที่ตาเห็น (ก็คือคาดหวังไว้พอสมควรนั้นเอง)
สิ่งที่ชอบที่สุดใน XZ2 โดยส่วนตัวคืออะไร
ส่วนตัวผมยังไม่ได้ใช้ Xperia XZ2 มากนัก แต่ชอบกล้องที่ดีขึ้น ถ่ายภาพได้คมชัดขึ้น และชอบสีเขียวของตัวเครื่องครับ!
ว่าด้วยเรื่องการออกแบบ ดีไซน์หลังเต่าของ Xperia XZ2 มาจากไหน
กิจกรรมของทริปเจาะลึกเทคโนโลยีนี้ Sony จะแบ่งผู้สื่อข่าวแต่ละประเทศออกตามฐานเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้เวลาเรียนรู้เทคโนโลยีพร้อมได้ซักถามวิศวกรและทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างครับ เรามาเริ่มต้นจากงานออกแบบของ Sony Xperia XZ2 ที่เปลี่ยนดีไซน์เป็นแบบหลังเต่ากันก่อนเลย
แน่นอนว่าด้วยความที่ Sony เป็นบริษัทญี่ปุ่น งานออกแบบจึงต้องมีปรัชญาในการออกแบบ ซึ่งหลักที่โซนี่นำมาใช้นั้นเรียกว่า KANDO (คันโด) หรือความประทับใจอย่างยิ่งยวด (แปลไทยอย่างง่ายคือฟินอย่างสุดๆ) ผู้ออกแบบจะคิดเสมอว่าผู้ใช้ต้อง KANDO (ต้องฟิน) ซึ่งรวมมาถึงตัว Xperia XZ2 ด้วย
โดยดีไซน์หลังเต่าที่เรียกว่า Ambient Flow นี้พัฒนาร่วมกันโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่นและสวีเดน จุดเด่นของดีไซน์นี้คือฝาหลังจะไม่มีที่ราบเลย โค้งรับกับฝ่ามือไปหมด และให้สีแบบเรืองเหลือบ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฤดูกาลของญี่ปุ่น เช่น Liquid silver เป็นสีเงินอมประกายแสง หรือ Deep green คือเขียวอมน้ำเงิน
ไฮไลท์คือการผลิตที่ซับซ้อน ทุ่มเท
เรื่องที่เราสนใจมากที่สุดในเซสชั่นการออกแบบ Sony Xperia XZ2 คือกระบวนการผลิตครับ เบื้องหลังกว่าจะได้ฝาหลังโค้งสวยงามมีรายละเอียดไม่น้อยเลยทีเดียว กระบวนการผลิตคร่าวๆ เป็นแบบนี้ครับ
- จากกระจกแผ่นใหญ่ เอามาตัดเป็นสี่เหลี่ยมที่ขอบป่องออก เพื่อให้กลายเป็นเส้นตรงหลังจากดัดโค้ง
- ใช้ความร้อนดัดกระจกให้โค้ง
- เจาะรู ขัดเงากระจก
- เคลือบฟิล์มสีลงไปกับกระจก ด้วยวิธีการ NCVM – Non Conductive Vacuum Metallization (เป็นวิธีการเดียวกับการทำสีของ Huawei P20) ทำสีทับไปทับมาประมาณ 7 ครั้ง ทำให้มีประกาย
- เคลือบกันรอยนิ้วมือ
ซึ่งกระบวนการผลิตฝาหลังใช้เวลาประมาณ 40-60 นาทีครับ กว่าจะออกมาได้ก็ต้องแก้ไขการออกแบบ แล้วเอาไป Drop Test อยู่หลายครั้งจนมั่นใจว่าเครื่องแข็งแรง เพราะโครงสร้างเครื่องจะมีเฟรมโลหะรับแรงกระแทกอยู่ภายในด้วยครับ
ถามประเด็นคาใจ ดีไซน์ใหม่มันลื่นนะ
จากรีวิว Sony Xperia XZ2 มีประเด็นหนึ่งที่เราตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับดีไซน์ใหม่ของ XZ2 คือฝาหลังที่เป็นแก้วและโค้งแบบนี้ ทำให้เวลาหยิบออกจากกระเป๋า หรือเอาไปวางที่ไหนก็ต้องมีสติตลอดเวลา เพราะถ้าวางไม่ดีเครื่องอาจลื่นตกได้ (โดยเฉพาะการใช้งานแบบไม่ใส่เคสของทีมงาน) เราจึงถามทีมออกแบบว่ามีคำแนะนำการในจับถืออย่างไรบ้าง
ทีมงานก็ตอบว่าสำหรับการถือในมือ พวกเขามั่นใจว่าดีไซน์ใหม่ทำให้เข้ากับอุ้งมือมากขึ้น แต่สำหรับการวางเครื่องแล้วลื่นนั้น ก็ขอเก็บเป็นฟีดแบ็กเพื่อพิจารณากันต่อไปครับ