จากเหตุการณ์นักฟุตบอลเด็กอายุ 11-16 ปี ทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คนพร้อมโค้ช ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมานานกว่า 2 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเริ่มคลี่คลายลงเมื่อสามารถพาเด็กชุดหนึ่งออกนอกถ้ำได้สำเร็จ แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อมองในภาพรวมเราก็เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดเรื่องดีอีกมากขึ้นกับสังคมไทย
1. ทำให้คนไทยเห็นว่าการวางแผนและวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์และโชคช่วย
สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้คือ ความสำเร็จต่างๆ ทั้งการเจอตัวน้องๆ ทีมนักฟุตบอลภายในถ้ำ หรือการนำตัวเด็กออกจากถ้ำจนประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้เกิดเพราะโชคช่วย (ซึ่งจริงๆ แล้วโชคไม่ช่วยด้วยซ้ำ เพราะฟ้าฝนไม่เคยเป็นใจ ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน) และไม่ได้เกิดจากความบังเอิญที่อยู่ๆ น้ำลดลงเอง แต่ความสำเร็จในการกู้ภัยเหล่านี้เกิดจากการวางแผนงานที่รัดกุม มีการซักซ้อมเพื่อลดความผิดพลาดให้น้อยลงมากที่สุดในสถานการณ์วิกฤต
นอกจากนี้วิทยาการล้ำยุคต่างๆ ก็สร้างความเป็นไปได้ให้การกู้ภัยครั้งนี้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จากข่าวเหตุการณ์ถ้ำหลวงที่เผยแพร่ติดต่อกันหลายวัน ทำให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ทั้งข้อจำกัดของระบบภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายทะลุพื้นดินไม่ได้ เซ็นเซอร์สแกนตรวจสอบภายในถ้ำต่างๆ การเสนอแนวคิดต่างๆ ในการกู้ภัยทั้งการใช้ท่อไนล่อน หรือการใช้เรือดำน้ำเล็ก รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างกฎ 3-3-3 ของการชีวิตรอด คือคนเราสามารถขาดอากาศได้ 3 นาที ขาดน้ำได้ 3 วัน และขาดอาหารได้ 3 สัปดาห์ ซึ่งสร้างความเข้าใจให้คนไทยได้อีกมากโข
ปตท. ส่งท่อ HDPE มีคุณลักษณะพิเศษคือ แฃ็งแกร่ง น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญการต่อท่อ จาก PTT NGD เข้าช่วยเหลือการสูบน้ำ (มีต่อ) #ถ้ำหลวง #13ชีวิตต้องรอด #ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ pic.twitter.com/V0T42mHj9T
— beartai แบไต๋ (@beartai) June 30, 2018
2. สถานการณ์สร้างบุคคลตัวอย่างให้คนไทยรู้จัก
ทุกสังคมต้องการ idol หรือบุคคลต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เพื่อให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมายว่าอยากทำอะไร หรืออยากเป็นอะไรให้ได้อย่าง idol ที่เรานับถือ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ทำให้คนไทยได้รู้จักคนเก่งในหลากหลายอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตต่อไป
15.03 น. ผบ.ศอร.ยืนยันน้ำอยู่ในสภาพที่ดี ตอนนี้มีการตรวจเช็กทุกอย่างพร้อม อุปกรณ์พร้อม เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ที่ผ่านมา เริ่มปฏิบัติการครั้งที่ 2 แล้ว เร็วกว่าเวลาที่กำหนด 4-5 ชม. #พาทีมหมูป่ากลับบ้าน #ถ้ำหลวง #ThaiCaveRescue #ThaiPBS
📌 ชมคลิปเต็ม : https://t.co/8mcdFsU1AB pic.twitter.com/wI2seHZey3
— Thai PBS (@ThaiPBS) July 9, 2018
- ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (อดีต) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แม่ทัพวางแผนและควบคุมการกู้ภัยในครั้งนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ได้แสดงให้คนไทยเห็นว่าการเป็นผู้นำที่ดี สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาทั้งวิธีการสื่อสารกับมวลชนที่เข้ามาช่วยเหลือหน้างานที่มีจำนวนมาก ก็ต้องการการสื่อสารที่สั้น กระชับ ไม่อ้อมค้อม รวมถึงการสื่อสารกับประชาชนที่ติดตามที่ให้รายละเอียดและความมั่นใจตามข้อมูลที่มี ไม่มีการให้ความคาดหวังเกินจริง และเป็นแบบอย่างในการทำงานร่วมกันเป็นทีม
- Elon Musk (อีลอน มัสก์) ซีอีโอของ Tesla บริษัทผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก, SpaceX บริษัทขนส่งทางอวกาศที่พัฒนาจรวดขนส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ Boring Company บริษัทเกี่ยวกับธรณีและการขุดเจาะ ซึ่งบริษัททั้งหมดนั้นใช้วิทยาศาสตร์ชั้นสูงเพื่อแก้ปัญหายากๆ ในชีวิตของมนุษยชาติ ซึ่งในเหตุการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำนี้ Musk ได้แสดงให้คนไทยได้เห็นบุคลิกของผู้บริหารที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ และตัดสินใจอย่างรวดเร็วให้ทีมวิศวกรของบริษัทนำเทคโนโลยีมาสร้างเครื่องมือกู้ภัย และส่งมาช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
- พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์ ตัวแทนกองทัพไทยที่ผ่านการฝึกฝนสุดโหด และร่วมปฏิบัติภารกิจในฐานะนายแพทย์แนวหน้าที่ดำน้ำมุดถ้าที่คดเคี้ยวเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ
- อาสาสมัครจากนานาประเทศ ที่ทำให้คนไทยรู้จักนักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านชลประทาน วิศวกรสื่อสาร วิศวกรธรณี และอื่นๆ อีกมากมาย
Simulating maneuvering through a narrow passage pic.twitter.com/2z01Ut3vxJ
— Elon Musk (@elonmusk) July 9, 2018
การทดสอบอุปกรณ์กู้ภัยของทีม Elon Musk
3. สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสื่อมวลชนและเกรียนคีย์บอร์ดไทย
เหตุการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนนี่แตกต่างจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่อื่นๆ ที่สื่อมวลชนไทยเคยเจอมา คือ
- เป็นสถานการณ์ที่ลากยาวติดต่อนานเกือบเดือน
- เป็นสถานการณ์ที่คนทั้งโลกสนใจอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความที่เป็นสถานการณ์ลากยาว ทำให้องค์กรต่างๆ หรือภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทของสื่อ จากปกติที่โลกในยุคโซเซียลและนิสัยผู้เสพนั้นสั่งสอนให้สื่อไทยต้องเน้นดราม่า ต้องตีหัวเรียกคนดูคนอ่านเยอะๆ จนบางครั้งก็ก้าวข้ามเส้นความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย หรือก้าวข้ามเส้นจริยธรรมบางอย่างไป แต่เหตุการณํนี้เรามีเวลามากพอที่จะตั้งเงื่อนไขและตั้งคำถามว่าสื่อมวลชนควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรบ้างในเหตุการณ์แบบนี้ เรามีเวลาให้จิตแพทย์ได้ออกมาร่างสิ่งที่สื่อควรปฏิบัติกับผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยเฉพาะน้องๆ ทั้ง 13 คน และยังมีเวลาพอให้สังคมได้กดดันสื่อที่ทำออกนอกลู่นอกทางก่อนที่เรื่องร้ายๆ จากกระแสสังคมจะรุมเล่นงาน
และยังมีเวลาสั่งสอนเกรียนคีย์บอร์ดไทยก่อนที่จะเกิด Cyber Bully อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ด้วยความที่ต่างชาติก็ให้ความสนใจในเหตุการณ์นี้มากมาย ทำให้เรามีข้อเปรียบเทียบการทำงานของสื่อไทยกับสื่อต่างชาติ ว่ามีรูปแบบการนำเสนอต่างกันอย่างไร กลายเป็นข้อเปรียบเทียบให้สื่อไทยได้ปรับปรุงการทำงานให้ได้อย่างนานาประเทศ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าสื่อของชาติใดก็ต้องนำเสนอแง่มุมที่เหมาะกับคนดูในประเทศนั้น เราจึงไม่อาจแปลกใจนักที่สื่อไทยจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ บุคคลใกล้ตัว และเรื่องส่วนตัว เพราะอาจเป็นนิสัยของคนไทยกลุ่มหนึ่งเช่นกัน
ในวันที่เราเขียนบทความนี้ ยังอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่าออกจากถ้ำนะครับ แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราเห็นว่ามนุษยชาติมีคุณค่าขนาดไหนเมื่อทำงานใหญ่ร่วมกัน