อย่างที่บอกไปครับว่าวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องใกล้ตัวผองเราชาวกรุงเทพกว่าที่คิด (แถมยังลามไปถึงจังหวัดข้างเคียงเป็นที่เรียบร้อย) แบไต๋เราเลยอยากจะนำเสนอให้ทุกท่านรับมือกับวิกฤตนี้ได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันที่ทางเรามานำเสนอในครั้งนี้พร้อมบอกวิธีการดูข้อมูลสำคัญทั้งหลาย ถ้าพร้อมแล้วละก็ ลุย!

ค่าที่ควรต้องรู้ในแอปรายงานคุณภาพอากาศ

AQI ค่าสำคัญที่ควรดูในแอป

AQI (Air Quality Index): แปลตรงตัวคือดัชนีของคุณภาพอากาศยิ่งมีตัวเลขมากยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา ซึ่งมีระดับดังนี้

  • 0 – 50 อากาศดีไม่มีพิษภัย สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องวิตกกังวลใด ๆ
  • 51 – 100 อากาศปานกลาง ผู้คนปกติสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ผู้ที่มีปัญาเรื่องการเดินหายใจหากเจออาการของโรคที่เป็นอยู่ควรกลับเข้าที่พักหรือละระยะเวลาที่อยู่กลางแจ้ง
  • 101 – 150 อากาศไม่ดี แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในตัวเลขระดับนี้คือกลุ่มคนที่มีปัญหาหรือมีโรคเกี่ยวกับด้านทางเดินหายใจเป็นหลัก (หอบ, ภูมิแพ้ ฯลฯ)
  • 151 – 200 อากาศไม่ดีและเริ่มมีผลต่อผู้คนทั่วไปหากอยู่นอกกล้างแจ้งเป็นระยะเวลานานเกินไป
  • 201 – 300 อากาศไม่ดีอย่างมาก ๆ ควรอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย และปิดท้ายด้วยระดับอันตรายสูงสุดต่อสุขภาพอย่าง
  • 301 – 500 ไม่ควรจะใช้กิจกรรมภายนอกบ้าน เพราะส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อบุคคลทุกกลุ่ม

แล้วสารพิษในอากาศที่รายงานผ่านแอป แต่ละตัวอันตรายอย่างไร

AQI นั้นคำนวนขึ้นมาจากระดับของสารมลพิษ (Pollutants) ต่างๆ ในอากาศ ซึ่งมลพิษต่างๆ มีรูปแบบการก่อผลเสียต่อสุขภาพของเราไปจนถึงขนาดที่แตกต่างกันไป โดยจะมีทั้งสิ้น 6 ชนิดที่รายงานกันผ่านแอป ได้แก่

  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ, วัสดุการเกษตร, ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงถุงลมในปอดได้ และก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ หรือโรคปอดต่างๆ ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด รวมถึงเป็นต้นเหตุของมะเร็ง
  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน เกิดจากกิจกรรมของธรรมชาติเป็นหลัก เช่นการผุกร่อนของหิน ทราย ซึ่งทำให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
  • ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซที่ไม่มีสี (หรือมีสีฟ้าอ่อน) มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้เล็กน้อย เกิดขึ้นได้ทั้งระดับบรรยากาศชั้นที่สูงจากผิวโลก และระดับชั้นบรรยากาศผิวโลกที่ใกล้พื้นดิน โดยมีผลกระทบต่อสุขภาพคืออาการระคายเคืองตา, ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ, ปอดมีประสิทธิภาพลดลง, เหนื่อยเร็ว (โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง)
  • ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซนี้จะไม่มีสี กลิ่น หรือรส โดยจะเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ แต่มีความน่ากลัวคือก๊าซนี้จะสามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้โดยจะไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจนประมาณ 200-250 เท่า ซึ่งเมื่อหายใจเข้าไปทำให้ก๊าซชนิดนี้จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (CoHb) ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย และหัวใจทำงานหนักขึ้น
  • ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ จะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ อุตสาหกรรมบางชนิด เป็นต้น โดยก๊าซนี้จะมีผลต่อระบบการมองเห็นและผู้ที่มีอาการหอบหืดหรือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
  • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไม่มีสี (หรืออาจมีสีเหลืองอ่อน ๆ) มีรสและกลิ่นที่ระดับความเข้มข้นสูง โดยจะเกิดจากธรรมชาติและการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน (ซัลเฟอร์) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นแล้วก่อตัวเป็นอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กได้ ก๊าซนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

แนะนำแอปเช็คมลภาวะทางอากาศ

AirVisual (iOS, Android)

ไทยเราตอนนี้แดงเยอะใช้ได้เลย…

อาจกล่าวได้ว่านี่คือแอปสามัญประจำโลกที่ไว้ใช้เช็คมลภาวะทางอากาศเลยล่ะ และจริง ๆ แล้ว AirVisual เป็นแอปที่ไว้ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เช็คสภาพอากาศอย่าง IQAir แต่หากไม่มีเจ้าเครื่องนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะตัวแอปสามารถตรวจสอบสิ่งที่เราต้องการได้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว

วันที่ 15 เดือนมกราคมนี้ไทยอยูอันดับ 22 นะ

มีข่าวเชิงลึกเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศให้อ่านด้วยนะ

ซึ่งจุดเด่นของ AirVisual ที่นอกจากจะบอกค่า AQI แบบเรียลไทม์พร้อมบอกการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวันแล้ว ด้วยความที่เป็นแอปสากลโลก เลยทำให้เราสามารถตรวจเช็คมลภาวะทางอากาศจากประเทศต่าง ๆ บน Google Map หรือจะดูในรูปแบบของการจัดอันดับก็ยังได้ แถมยังสามารถตามข่าวสารถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านอากาศในเชิงลึกได้อีกด้วย แต่กระนั้นตัวแอปไม่มีภาษาไทยให้เปลี่ยนนะ

Air4Thai (iOS, Android)

เชื่อถือได้เพราะข้อมูลมาจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แค่ชื่อแอปก็บอกแล้วว่าเพื่อผองเราชาวไทย โดยจุดเด่นของแอปนี้ที่นอกจากจะใช้ภาษาบ้านเราแล้ว การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ก็ถูกย่อยมาให้อ่านแบบเข้าใจง่าย แถมข้อมูลที่เห็นยังน่าเชื่อถือได้เพราะมาจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมยังมีเอกสารสถานการณ์การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงจากปีต่าง ๆ ในรูปแบบไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดไปอ่านได้ด้วยนะ