เป็นอีกหนึ่ง Session ในงาน Creative Talk Conference 2019 (CTC 2019) ที่น่าสนใจ เมื่อ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ Editor-in-Chief ของสื่อยุคใหม่ที่เติบโตเร็วอย่าง THE STANDARD พูดในหัวข้อ “The Future of Content Creation” ซึ่งในฐานะของคนทำสื่อยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในไทย เราก็ต้องอยากฟังอยู่แล้วว่าคุณเคนมีแนวคิดอย่างไรบ้าง
ปัญหาของการสื่อสารใน Social Media ตอนนี้คือสารพัดสิ่งที่เปลี่ยนไปตลอด
เรื่องแรกที่คุณเคนพูดถึงคือเรื่อง Disruption ที่มาเป็นระลอกๆ กลุ่มแรกที่โดนคือเพลงที่โดนไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ส่วนปี 2018 คือสื่อหรือแบงค์ และปี 2019 น่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์
สิ่งที่มา Disrupt คือ Platform ซึ่งแพลทฟอร์มหมายถึงตัวกลางที่แลกเปลี่ยนคุณค่าระหว่างกัน เมื่อก่อนผู้ผลิตกับผู้บริโภคเนื้อหาแยกกันอย่างชัดเจน ผู้อ่านก็ไม่สามารถเป็นผู้ผลิตได้ง่ายนัก แต่ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด มีโอกาสแสดงตัวให้คนอื่นได้ไถผ่านอย่างรวดเร็วเหมือนกัน ทุกคนเป็นสื่อได้หมด
ตอนนี้บรรณาธิการกลายเป็นหุ่นยนต์ (อัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก) ข่าวที่ผ่านตาเราใช้หุ่นยนต์เลือกทั้งหมด
การจะสร้างเนื้อหาที่ดีได้ต้องเข้าใจ 3 อย่างคือ
- เข้าใจตัวเองว่าตัวเองเด่นเรื่องอะไร เช่น The Standard ทำนิตยสารมาก่อน ก็เก่งเรื่องการทำให้สวย หรือใส่ความคิดสร้างสรรค์ เราก็มุ่งทางนี้
- ต้องเข้าใจกลุ่มผู้อ่าน หรือกลุ่มที่อ่านสื่อของคุณเป็นใคร เราทำกำลังทำเนื้อหาให้ใครเสพ
- เข้าใจโลก เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ เข้าใจอัลกอริทึมว่าคิดยังไง
มองภาพ Social Media แทนอะไรในไทยตอนนี้
- facebook คือสังคมเสมือนของไทย ทุกอย่างรวมอยู่ในนี้หมด เหมือนโลกเสมือนออนไลน์
- Twitter คือเทรนด์ตอนนี้ เป็นตัวจุดกระแส กระแสหลายอย่างมาจาก # ทวิตเตอร์เป็นสิ่งที่ทำให้คนไปร่วมกับประเด็นนั้นๆ แตกต่างจาก facebook ที่คนจะบอกเรื่องของตัวเองออกมา
- Instagram คือ Lifestyle Magazine
- Youtube คือทีวี อย่างในต่างจังหวัดเปิดค้างไปเรื่อยๆ เลย วิ่งไปทั้งวันแทนช่องทีวีไปแล้ว
- LINE Today เป็นหนังสือพิมพ์
ซึ่งเนื้อหาของเราก็เหมือนเป็นไข่ ที่เอาไปทำได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นการจะไปอยู่กับแพลทฟอร์มไหนก็ต้องปรุงให้เหมาะกับแพลทฟอร์มนั้นๆ ไม่ใช่เนื้อหาเดียวกันไปอยู่ในทุกแพลทฟอร์ม ได้รับการปรุงแบบเดียว มันก็ไม่เกิด
สื่อระดับโลกจึงมี Social Media Editor เพื่อปรุงเนื้อหาเดียวกันให้แตกต่างกัน
พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน สื่อยุคเก่าคือ Lean back คนดูเหมือนนั่งชิวๆ พิงไปกับเบาะ แล้วรับสิ่งที่สื่อจะนำเสนอออกมาอย่างเดียว ส่วนปัจจุบันคนเสพสื่อเป็นแบบ Lean forward คือผู้บริโภคเป็นคนเลือกเนื้อหาได้ทันที และมีสิทธิโวยวายเมื่อทำเนื้อหาไม่ถูกใจ และเปลี่ยนได้ทันที
ทำให้คนทำสื่อไม่ใช่ผู้เลือกนำเสนอเนื้อหาอีกต่อไป คนทำสื่อเป็นผู้ถูกเลือกโดยผู้เสพสื่อ คนทำสื่อต้องถ่อมตัว เพราะเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น ทำให้โฆษณาใน social น่ารำคาญมาก ในขณะที่โฆษณาทีวีไม่น่ารำคาญเท่า ซึ่งเรามีเวลาเพียง 1.7 วินาทีในการดึงคนให้สนใจ
เนื้อหาที่ดีคืออะไร
- มันน่าสนใจรึเปล่า เช่นข่าวดารา แมว พวกนี้น่าสนใจอยู่แล้ว แต่ผู้เสพก็ไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติม
- เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่มันจะน่าเบื่อๆ หน่อย
- แต่ถ้าทำข้อมูลที่มีประโยชน์และน่าสนใจไปด้วย ก็จะได้ดียิ่งกว่า คือ เรื่องดี และ เล่าดี
- เรื่องดี มันเป็นเหมือนสูตรสำเร็จว่า เรื่องที่มีประโยชน์คืออะไร ไม่ว่าเมื่อไหร่ เรื่องดี เนื้อหาดี มันก็มีรูปแบบตายตัวของมัน
- แต่เล่าดีมันเปลี่ยนไปตามสื่อที่ไปอยู่ตลอดเวลา ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใช้เครื่องมือที่มีทั้งหมด เพื่อให้เล่าดี ตื่นตาตื่นใจ
สรุปพฤติกรรมผู้ใช้ตอนนี้
- ทุกอย่างต้องตอนนี้ Generation Now ยิ่งเร็ว ยิ่งดี
- ไม่สนใจว่าจะฉายเมื่อไหร่ ตอนไหน เพราะคนดูจะดูย้อนหลังเอาในเวลาที่เหมาะ Anywhere anytime
- รูปภาพและวิดีโอจู่โจมได้มากกว่าตัวอักษรอย่างเดียว
- คนแชร์เพราะเนื้อหาบอกตัวตนของตัวเอง
“ทางที่ดีที่สุดในการทำนายอนาคต คือสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง”