หนึ่งในเนื้อหาจากงานแถลงวิสัยทัศน์ของกสิกรไทย ที่ 5 ผู้บริหารของธนาคาร ชูการผนวกไอที-ดาต้า-คน-พันธมิตรเพื่อก้าวสู่ธนาคารยุคใหม่ที่สามารถแข่งขันในสมรภูมิที่เทคโนโลยีแข่งกัน Disrupt ธุรกิจเดิม ซึ่งพื้นฐานสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่คือระบบไอทีที่รองรับงานยุคใหม่ได้ และมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะรับผู้ใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ สำหรับธนาคารกสิกรไทย หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือ กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ซึ่งวันนี้แบไต๋ได้คุยกับคุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ถึงอนาคตที่กำลังจะมุ่งไปครับ

ปี 2562 KBTG ชูนวัตกรรม 3 ด้าน

1. Cognitive Banking หรือธนาคารอัจฉริยะ

ธนาคารอัจฉริยะคือการนำข้อมูลและ insight ต่างๆ มาทำให้เข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น เหมือนเอาพนักงานแบงค์ 20,000 คน มาร่วมให้บริการลูกค้าโดยอยู่ในมือถือตลอดเวลา และให้บริการที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น ซึ่งแอปต่างๆ จะต้องทำหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น KPlus ที่มีความสามารถหลายอย่างในแอปเดียว และให้ข้อมูลได้ทั้งในส่วนที่คิดว่าลูกค้าต้องการ และในส่วนที่ลูกค้ายังไม่สนใจ แต่คาดว่าน่าจะสนใจเมื่อได้รู้ข้อมูลได้ด้วย

2. Augmented Intelligence (AI)

กสิกรไทยไม่ได้มองว่าปัญญาประดิษฐ์คือคู่แข่งขันสำหรับแรงงาน แต่ AI ในความหมายของกสิกรไทยคือ Augmented Intelligence ที่หมายถึงการที่คนกับเครื่องจักรจะทำงานด้วยกัน เพราะบุคลากรของกสิกรไทยนั้นสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจ และความต้องการของลูกค้ามายาวนาน ส่วนปัญญาประดิษฐ์ก็ให้ความรู้ที่ครบรอบด้าน ซึ่งถ้าทำงานร่วมกันก็จะได้สุดยอดพนักงานที่เข้าใจลูกค้า และรอบรู้

แทนที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ชนะคน ก็สร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยเหลือคนให้ดีขึ้น

3. inclusive innovation นวัตกรรมที่ดีต้องสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน

แบงค์จะต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เทคโนโลยีจะช่วยให้แบงค์เข้าใจคนมากขึ้น สามารถให้บริการคนได้ทุกระดับ เช่นนำเสนอสินเชื่อรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลให้กับลูกค้ากลุ่ม Underbanked ที่ในอดีตไม่สามารถรับบริการสินเชื่อจากธนาคารได้เพราะขาดคุณสมบัติ เช่น การเดินบัญชีไม่เพียงพอ หรือไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ

ซึ่งภารกิจเหล่านี้ กสิกรไทยไม่อาจทำได้คนเดียว จึงมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ผ่านนวัตกรรมการร่วมมือใหม่ที่ทำให้เชื่อมต่อระหว่างกันง่ายขึ้นคือ

  • Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย
  • Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว
  • K PLUS Business Platform การสร้างความหมายใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล โดยการประยุกต์ใช้คุณสมบัติที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ

ซึ่งในปี 2562 นี้จะทุ่มงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร กว่า 5,000 ล้านบาท (ซึ่งคุณกระทิงบอกว่า งบ IT 5,000 ล้านต่อปี ก็ถือว่าเยอะ แต่ถ้าคิดเป็น USD ก็ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับองค์กรระดับโลก) เพื่อเป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565

คุยกับคุณกระทิง-เรืองโรจน์เกี่ยวกับแง่มุมเทคโนโลยีใน KBTG

ความเสถียรของระบบธนาคารไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

คุณกระทิง: เรามีการวางแผนปรับปรุงขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมมากขึ้นอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่ทำแอป K Plus ใหม่ก็มีการปรับ back-end ใหม่ด้วย ซึ่งตอนนี้ได้ถึงระดับใกล้หมื่นธุรกรรมต่อวินาทีแล้ว (TPS) ก็จะไปให้ถึงหลักหมื่น TPS ต่อไป และช่วงก่อนตรุษจีนจะมีการขยายขึ้นระบบขึ้นไปอีกเพื่อรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมากขึ้น

ที่เราทำตอนนี้คือเน้นวางสถาปัตยกรรมระบบใหม่ ป้องกันรักษาความปลอดภัยให้ดี ปรับปรุง Core banking ต่อไปถ้าย้ายจากระบบจาก On Premise (เซิร์ฟเวอร์ในบริษัท) ไปบน Cloud มากขึ้น ก็จะรองรับการใช้งานได้เยอะขึ้น เพราะสามารถขยายระบบเพื่อรองรับการใช้งานขึ้นลงได้ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้ทุกแบงค์ต้องช่วยกันในการวางสถาปัตยกรรมกลางด้วย

แรงงานด้านเทคโนโลยีในไทยเป็นอย่างไร และการจ้างงานสายเทคโนโลยีโดยกสิกรเป็นอย่างไรบ้าง

คุณกระทิง: ตอนนี้ KBTG มีพนักงานมากกว่า 1,200 คน และยังจะจ้างเพิ่ม 300 อัตรา ตอนนี้รับทุกสายของไอที ซึ่งรับประกันว่าจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เรียนรู้เทคโนโลยี รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่นี่แน่นอน

KBTG ก็มีการใช้แนวทางการบริหารงานใหม่ๆ เสมอ อย่าง Flat Organization ที่การทำงานเสมอกันระหว่างผู้มีตำแหน่งสูงกับต่ำ หรือแนวคิด One KBTG รวมเป็นหนึ่ง ตัดงานต่างๆ ให้ไวขึ้น ลดขอบกั้นระหว่างแผนกต่างๆ เพื่อให้งานเดินไวขึ้น ซึ่งตอนนี้เริ่มใช้ OKR ควบคู่ไปกับ KPI แบบเดิม และกำลังขยายให้ใช้มากขึ้น เพื่อวัดผลในรูปแบบสมัยใหม่ หรือกระบวนการพัฒนาที่ปกติ KBTG ทำในรูปแบบ Agile อยู่แล้ว ก็เริ่มก้าวไปสู่กระบวนการใหม่ๆ ให้ Beyond Aglie มากขึ้น

ซึ่ง KBTG ต้องเป็นอันดับหนึ่งขององค์กรด้านเทคโนโลยีในไทยให้ได้ ปัจจุบันในไทยก็มีคู่แข่งด้านองค์กรเทคโนโลยีอย่าง Agoda หรือ LINE ที่ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนกัน

ใครที่สนใจก็ส่งใบสมัครมาได้เลยที่ [email protected]

กสิกรไทยมองภาพ Super App ไว้อย่างไร

คุณกระทิง: Super App หรือแอปใหญ่ ความสามารถเยอะๆ ลูกค้าจะใช้เวลาอยู่กับแอปใหญ่ๆ แบบนี้นานขึ้น ซึ่ง KPlus จะเหนือแอปอื่นๆ กว่าตรงที่เข้าไปอยู่ใน Super App อื่นๆ ด้วย (เช่นระบบจ่ายเงินของ K Plus ไปอยู่ในเฟซบุ๊กให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านบัญชีของกสิกรได้) ซึ่งเราเรียกว่ากลยุทธ์แบบนี้ว่า Omni Presense ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมงานกับพาร์ทเนอร์เยอะมาก พอกสิกรไทยไปอยู่ในทุกที่ ก็จะ Disrupt ยากขึ้น เพราะเราพร้อมให้บริการจากทุกทาง

ซึ่ง KBTG จะโฟกัสที่เทคโนโลยี และเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อการพัฒนา ซึ่งจะไม่ได้เน้นสนับสนุน Startup มากนัก เพราะมีหน่วยงานอื่นๆ ในกสิกรไทยที่ดูแลเรื่องนี้อยู่

อนาคตของ KADE (K PLUS AI-Driven Experience) จะเป็นอย่างไร

คุณกระทิง: ระบบ AI ของกสิกรไทยก็ต้องเก่งขึ้น ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่มีมากขึ้น มีการอ้างอิงสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่นไปอยู่ใน Grab หรือ LINE ก็ต้องให้ผลต่างกันตามสภาพแวดล้อมของแอป

ซึ่งปีที่แล้วข้อมูลที่กสิกรไทยเก็บได้ เท่ากับที่เคยเก็บกันมา 60 ปี ซึ่งปีนี้ก็จะมากขึ้น จึงต้องมีการวางยุทธศาสตร์และรากฐานการจัดเก็บข้อมูลให้ดี ซึ่งเรื่องความปลอดภัยและความเสถียรถือว่าเป็น 2 เรื่องที่สำคัญมาก เราถึงมีการตั้ง Cyber Security Office เพื่อดูแลความปลอดภัยโดยเฉพาะ

Q: เราได้เรียนรู้อะไรได้จากจีน?

A: จีนเป็นประเทศที่มี Data มากที่สุดในโลก เรื่อง IoT ก็เป็นระดับโลก เราเรียนรู้เพื่อเอามาเทียบและพัฒนา ไม่ได้รู้เพื่อกลัว อย่างประกันในจีนสามารถเคลมได้ใน 8 วินาที เพราะเอาข้อมูลต่างๆ มาประกอบการวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งของ 400,000 ชิ้นใน 3 ชั่วโมง เรื่อง Fintech จีนก็เก่งกว่าอเมริกา มี QR มีการปล่อยกู้ผ่านแอป รวมถึง AI ก็น่าจะนำได้เร็วๆ นี้

แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ต้องการให้ AI ทดแทนคน แต่ทำให้คนเก่งขึ้น และสงครามเทคโนโลยีจีน-อเมริกาไม่จบเร็วๆ นี้แน่ๆ ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของ Trade War ซึ่งเราก็ไม่ควรเลือกข้าง เพราะก็ต้องอิงธุรกิจและเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ฝั่งอยู่ดี

เมื่อเทคโนโลยีแข็งแกร่งเป็นรากฐาน กสิกรไทยก็มุ่งสู่วิสัยทัศน์ใหม่ได้

ซึ่งการแถลงข่าว K Bank Vision 2019 ยังมีทีมผู้บริหาร ขึ้นให้รายละเอียดของวิสัยทัศน์ที่จะใช้ AI เข้ามาเสริมการทำงานของธนาคาร ทั้งการทำงานเชิงรับที่พนักงานธนาคารจะเก่งขึ้น รอบรู้มากขึ้นจากความช่วยเหลือของ AI หรือการใช้งานเชิงรุกที่นำข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าน่าจะสนใจและนำเสนอออกไป นอกจากนี้ยังบุกตลาดในกลุ่ม CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอย่าง QR Code มาตรฐานไทยเพื่อให้ผู้ใช้แอปธนาคารไทยสามารถใช้สแกนชำระเงินนอกประเทศได้ หรือการพัฒนา National Digital ID (NDID) ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ เพื่อให้ระบุตัวผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ ผู้ใช้จึงสามารถใช้งานธุรกรรมสำคัญๆ อย่างการเปิดบัญชีหรือการขอสินเชื่อ โดยไม่ต้องไปธนาคารได้

ซึ่งผู้บริหารที่ขึ้นให้ข้อมูลในงานนี้มี 5 ท่านดังนี้

  1. ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กับแง่มุม inCorporate “แกร่งในไทย ก้าวไกลข้ามเขตแดน เป็นหนึ่งในอาเซียน”
  2. ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในแง่มุม insight “มหัศจรรย์บิ๊กดาต้า เจาะลึกแบบรู้ใจรายคน ดันปล่อยกู้ 3 หมื่นล้านบาท”
  3. พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กับแง่มุม ignite “ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจในต่างประเทศ โตกว่า 8 เท่าใน 3 ปีภายใต้เศรษฐกิจผสานมิติ”
  4. พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แง่มุม integrate“เดินหน้าหาลูกค้าใหม่ มุ่งรายย่อยโต 9-12%”
  5. เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กับ innovate “เตรียม 5,000 ล้านลงทุนนวัตกรรมการเงิน ชู KBTG บริษัทไอทีอันดับหนึ่ง”

วิดีโอภาพรวมวิสัยทัศน์จาก 5 ผู้บริหารของกสิกรไทย

Play video

Play video

ซึ่งเนื้อหาในงานวัน Kbank A year of i ก็มีทั้งวิสัยทัศน์จากผู้บริหาร และโซนซื้อของแบบไม่ใช่เงินสดให้ได้ทดลองกันด้วย สำหรับคนที่สนใจรายละเอียดงานจากผู้บริหารท่านอื่นๆ ว่ากสิกรไทยในปี 2019 จะรุกตลาดอย่างไรบ้าง ก็สามารถอ่านรายละเอียดได้จากบทความ “สรุปวิสัยทัศน์ 2562 กสิกรไทย ผนวกไอที-ดาต้า-คน-พันธมิตร สู่ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่ พร้อมขยายสู่ต่างประเทศ” เลยครับ