ท่ามกลางกระแส Disrupt ที่กวาดต้อนธุรกิจรูปแบบเก่าให้ล้มหายตายจากไปจากสารบบ ซึ่งเราเห็นเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจนในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และช่องทีวีในปีที่ผ่านมา และปี 2019 นี้ก็คาดว่าจะได้เห็นการ Disrupt เปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงในธุรกิจธนาคารและการเงินเช่นเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีการเงินยุคใหม่เริ่มเข้าถึงผู้ใช้และจับต้องได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างกสิกรไทยก็ไม่ยอมตกเป็นผู้ถูกกระทำในการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เตรียมการกันอย่างหนัก เพื่อนำธุรกิจไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และนี่คือวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยปี 2562 จาก 5 ผู้บริหารยุคใหม่ครับ
โดย 5 ผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทยที่ขึ้นให้วิสัยทัศน์ปี 2562 ก็พูดถึง 5 เรื่องที่ทำงานไปพร้อมกันในหลากหลายเฉดของ i ตามคอนเซปต์ A Year of i แต่สุดท้ายก็มาส่งเสริมซึ่งกันและกันคือ
- ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กับแง่มุม inCorporate “แกร่งในไทย ก้าวไกลข้ามเขตแดน เป็นหนึ่งในอาเซียน”
- ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในแง่มุม insight “มหัศจรรย์บิ๊กดาต้า เจาะลึกแบบรู้ใจรายคน ดันปล่อยกู้ 3 หมื่นล้านบาท”
- พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กับแง่มุม ignite “ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจในต่างประเทศ โตกว่า 8 เท่าใน 3 ปีภายใต้เศรษฐกิจผสานมิติ”
- พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แง่มุม integrate“เดินหน้าหาลูกค้าใหม่ มุ่งรายย่อยโต 9-12%”
- เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กับ innovate “เตรียม 5,000 ล้านลงทุนนวัตกรรมการเงิน ชู KBTG บริษัทไอทีอันดับหนึ่ง”
inCorporate แกร่งในไทย ก้าวไกลข้ามเขตแดน เป็นหนึ่งในอาเซียน
คุณปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย พูดถึงภาพรวมว่าธุรกิจธนาคารต้องต่อสู้กับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์โลกมาตั้งแต่อดีต เช่นสงครามอ่าว ต้มยำกุ้ง ซึ่งปัจจุบันเรื่องที่ธนาคารกำลังเผชิญคือความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ผู้เล่นใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นไม่ใช่ธนาคารเข้ามาแข่งขัน จึงกลายเป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญ เมื่อลูกค้าและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
แน่นอนว่าธนาคารกลุ่มก็ไม่นิ่งเฉย มีการร่วมมือกันเพื่อสร้างมาตรฐานกลางให้อยู่ในธุรกิจได้ หลายเรื่องคือ
- PromptPay ที่สร้างมาตรฐานการรับจ่ายด้วย QR Code ในไทย ที่ทุกวันนี้มีลงทะเบียนไป 46.5 ล้านบัญชี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี
- ตอนนี้มีปริมาณธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน
- มีร้านค้าใช้งาน QR Code แล้ว 3 ล้านราย
- ขยายศักยภาพ ITMX ระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที
- ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด
- ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตทั้งสิ้น 59 ล้านใบ
- มีเครื่องรูดบัตร (EDC) รวม 700,000 เครื่อง
- ตั้ง TB-CERT เพื่อส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยของระบบไอทีในองค์กรสมาชิก
เป้าหมายคือเน้นบุกต่างประเทศมากขึ้น
และโครงการในอนาคต กสิกรไทยร่วมกับกลุ่มธนาคารไทยก็จะเพื่อรุกกลุ่มตลาด CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) มากขึ้นอย่างการใช้ QR Code มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 เพื่อให้ผู้ใช้โมบายแอปของธนาคารไทยสามารถใช้สแกนชำระเงินนอกประเทศได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการในอนาคตที่น่าสนใจ ที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับธนาคารไทยพัฒนาขึ้นมาเช่นกันคือ
- Thailand Blockchain Community Initiative เป็นการนำเทคโนโลยี ฺBlockchain ไปให้บริการด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 รายการ
- Blockchain เพื่อใช้รับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสะดวก ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากร
- National Digital ID (NDID) ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ ทำให้สามารถเปิดบัญชีและทำธุรกรรมต่างๆ เช่นการขอสินเชื่อ ได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร เพราะมีการเก็บข้อมูลการยืนยันตัวแบบดิจิทัลไว้
- โครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ก็กำลังคุยและทำกันอยู่ แต่ก็ไม่ง่าย
เรื่องร้อนในสังคม ค่าธรรมเนียมกดเงินสด จะฟรีต่อไหม
เรื่องนี้ต้องคุยกันอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งค่าธรรมเนียมกดเงินสดมันอาจจะมีได้ ถ้าสามารถทำดิจิตอลให้ชำระเงินได้เต็มตัว เมื่อนั้นการใช้เงินสดก็จะลดลง ทำให้ต้นทุนการให้บริการเงินสดสูงขึ้น เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องคิดกันอีกรอบว่าค่าธรรมเนียมจะเป็นยังไง ซึ่งแน่นอนว่าจะยังไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมในปีนี้
insight เมื่อธนาคารจะชนะด้วยข้อมูล
คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าถึงเรื่องข้อมูลในปัจจุบันว่า ข้อมูลที่เกิดเยอะขึ้นรวมกับเทคนิคด้านข้อมูลที่มีมากขึ้น ทำให้สามารถแปลงข้อมูลมาเป็น insight เพื่อให้รู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น รู้จักตัวลูกค้าดีขึ้น ธนาคารจึงสามารถตัดสินใจเรื่องทางการเงินได้เร็วขึ้น เช่น
- อนุมัติบัตรเครดิตเร็วขึ้น อนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง
- ถ้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ใช้บริการของ kbank อย่าง kplus SME ก็จะสามารถเก็บข้อมูลเพื่ออนุมัติการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
- การเก็บข้อมูลธุรกรรมหรือการใช้บัตรเครดิต จะทำให้สามารถปรับการชำระหนี้ที่แตกต่างไป ให้เหมาะสำหรับช่วงของรายรับรายจ่ายต่างๆ
ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากของธนาคาร เพื่อใช้วิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ และสามารถนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลได้คือ
- สร้างประสบการณ์ที่สะดวกไร้รอยต่อ ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งก็มีเทคโนโลยีหลายตัวที่กสิกรไทยกำลังพัฒนาอยู่ เช่น Face Pay หรือการใช้ใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ก็สามารถใช้ใบหน้าเพื่อจับจ่ายซื้อของ หรือถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือโทรศัพท์มือถือ
- ตอบสนองลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง และเข้าถึงทุกคน เมื่อธนาคารรู้จักลูกค้ามากขึ้น ความเสี่ยงในการให้บริการก็ลดลง โดยช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อย หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ
- บริการที่กระชับ อัตโนมัติ และใช้เอกสารน้อย เพราะข้อมูลจะอ้างอิงถึงกันได้ง่ายขึ้น
แต่เรื่อง Privacy หรือความเป็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด
ธนาคารก็รับรองรับว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งข้อมูลที่เอามาวิเคราะห์จะดึงเอาการระบุตัวตนออก และจะไม่แชร์ข้อมูลถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้าก่อน พนักงานทุกคนจะต้องถือปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด
แน่นอนว่าการจัดการข้อมูลเยอะขนาดนี้ เรื่องคนก็สำคัญ ตอนนี้กสิกรไทยมี Business Analytics กว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน ซึ่งสำหรับพนักงานธนาคารที่เจอกับลูกค้า ก็มีการเอา AI มาเสริม เพื่อสนับสนุนการทำงานของคน เรียกว่า Augmented Intelligence หนึ่งสาขาจะมีคนที่ได้รับการรับรองประมาณ 7-8 คน
ปีนี้ยังไม่ปลดพนักงาน สาขาที่ปิดก็จะมีการให้ความรู้ re-skill กันใหม่ โดยวางแผนปิด 80 สาขาในปี 2562 แต่ก็มีเปิดเพิ่ม 30 สาขา
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายปี 2562 ของ Data-Driven Lending เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจจนสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นการตั้งเป้าที่หนักหน่วงพอสมควรเพราะปัจจุบันตัวเลขในส่วนนี้มีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น
ignite ตั้งเป้าธุรกิจต่างประเทศโต 8 เท่าใน 3 ปี
คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มต้นการนำเสนออย่างน่าสนใจ เมื่อทักทายผู้ชมด้วยภาษาจีน และใช้เครื่องแปลภาษากลับมาเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง เพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ อุปสรรคเรื่องภาษาไม่ใช่ปัญหาสำคัญอีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีสามารถช่วยให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น แต่เรื่องที่ต้องคิดถึงตลอดเวลาในการทำธุรกิจคือ “ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน”
คุณพิพิธ เล่าเรื่องราวของเรือ Peak Pegasus ที่ขนถั่วเหลือง 70,000 ตัน มูลค่ามากกว่า 20 ล้านเหรียญจาก Seattle สหรัฐอเมริกาไปจีนตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2561 แต่ถึงบริเวณท่าเรือ ช้าไปเพียง 5 ชั่วโมงหลังจากที่จีนตั้งกำแพงภาษีใหม่ในวันที่ 6 กรกฏาคม 2561 โดยขึ้นภาษีขาเข้าจากเดิมอีก 25% ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าเข้าจีนได้ ต้องวนเรืออยู่ในน่านน้ำ Dalian เป็นเดือนกว่าจะเคลียร์ปัญหากันได้ในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ซึ่งก็เกิดความเสียหายด้านธุรกิจทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแล้ว
จากความท้าทายเรื่องความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเริ่มใช้แนวทาง “เศรษฐกิจผสานมิติ (Augmented Economy)” หรือเศรษฐกิจผสมผสานการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งทำให้ธนาคารปรับกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจใหม่ใน 3 ด้านคือ
- Beyond Frontier (ไกลกว่าเส้นคั่นประเทศ) คือ มองถึงโอกาสในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้วยขนาดเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2573 กลุ่มประเทศ CCLMVI จะมีจีดีพีรวมอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า และมีประชากรรวมมากกว่าไทยถึง 28 เท่า
- Beyond Banking (ไกลกว่าเรื่องธนาคาร) มองโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นและวางเป้าหมายที่จะอยู่ในทุก ๆ ช่องทางที่ลูกค้าใช้ชีวิต
- Beyond Competition (ไกลกว่าแค่คู่แข่ง) คือ มองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการให้บริการของธนาคารและเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าสู่ตลาด CCLMVI ได้
เพื่อให้แผนงานบุกธนาคารไปสู่พรมแดนใหม่ๆ เติบโตได้ กสิกรไทยจึงตั้งบริษัทลูกอย่าง KVision เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่และลงทุนในฟินเทค หรือ สตาร์ทอัพที่เหมาะสม ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท โดย KVision ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI
ซึ่งในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยจะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ได้ด้วยการนำเสนอ 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
- ให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น (Local Partnership & Insight) ให้กับลูกค้าจากช่องทางและพันธมิตรที่มีอยู่ครบทุกประเทศ ทำให้เข้าใจบริบทของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ
- ให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า (Cross-Border Value Chain Solution) ในต้นปีนี้ธนาคารจะเริ่มให้บริการ Solution ดังกล่าวในลาวและกัมพูชาก่อน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค (Single Regional Payment Platform) เริ่มต้นที่โครงการ “QR KBank” แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ใช้เงินสด สนองนโยบายรัฐบาล สปป.ลาว นำร่องให้บริการที่ตลาดหนองจัน หรือ “ตลาดขัวดิน” เป็นพื้นที่แรก ตั้งเป้าปี 2562 นี้ จะมีธุรกรรมผ่าน “QR KBank” ประมาณ 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 36,000 ล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล (Digital Spender) ในลาวอีกด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทั่ว CCLMVI ในอนาคต
อยากจุดประกายผู้ประกอบการไทย กล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะปรับ และมาร่วมทางกับกสิกรไทย เพื่อออกสู่ตลาดโลกพร้อมกัน
integrate หาลูกค้าใหม่ พร้อมมุ่งรายย่อยโต 9-12%
คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่าในปี 2562 มีภารกิจสำคัญเพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวไปอย่างมั่นคง พร้อมผลการดำเนินการที่เติบโตขึ้นคือ
- จับมือพันธมิตรเพื่อขยายฐานลูกค้า ทั้งการนำบริการพันธมิตรมาอยู่ในแอป K PLUS เพื่อให้คนใช้แอปธนาคารนานขึ้น หรือนำ K PLUS ไปอยู่บนแพลทฟอร์มอื่นๆ เช่นการจ่ายเงินผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ให้บริการได้ราบลื่นขึ้น เรียกว่า Omni Presense ไปอยู่ทุกที่ในที่ๆ ลูกค้าอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมงานกับพาร์ทเนอร์เยอะมาก พอกสิกรไทยไปอยู่ในทุกที่ ก็จะ disrupt ยากขึ้น เพราะมีอยู่ในทุกที่
- เดินหน้าธุรกิจเพื่อหารายได้ใหม่ โดยแผนธุรกิจปีนี้จะเน้นที่การให้สินเชื่อลูกค้าบุคคลที่มีจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดนี้ประมาณ 31.3 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16% รวมถึงสร้างช่องทางใหม่ๆ ผ่านพันธมิตรเพื่อไปอยู่ที่ที่ๆ ลูกค้าอยู่ และเปิดช่องทางใหม่ๆ อย่างการนำเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ชดเชยรายได้ที่ธนาคารเคยได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ยกเลิกไป รวมถึงประกันที่ขายได้ลดลง
- บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเหมาะสมต่ออัตราการฟื้นตัวของสินเชื่อ
โดยคุณพัชรเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562 ที่วางไว้คือ
- อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7%
- สินเชื่อธุรกิจบรรษัทเติบโต 3-5%
- สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4%
- สินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12%
- อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5%
- อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย -5% ถึง -7%
- อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7%
และสุดท้ายคือเรื่องราวของคุณกระทิงเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ที่เตรียม 5,000 ล้านบาทลงทุนนวัตกรรมการเงิน ชู KBTG บริษัทไอทีอันดับหนึ่ง ซึ่งสามารถติดตามได้จากบทความที่ทีมงานของเราได้พูดคุยกับคุณกระทิงครับ